Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฟ้องได้ไหม ต้องทำอย่างไร เมื่อถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

Posted By Plook Magazine | 18 เม.ย. 66
25,605 Views

  Favorite

เมื่อถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือถูกเลิกจ้างกะทันหันโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า แน่นอนว่ารีแอคชั่นแรกเราน่าจะต้องรู้สึกตกใจ รู้สึกเคว้งคว้าง ไม่รู้จะทำอะไรต่อดี บทความนี้เลยได้รวบรวมข้อมูลมาให้ครบถ้วน หากถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจะต้องทำอย่างไร จะได้เงินค่าชดเชยเท่าไหร่ และถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ลูกจ้างจะฟ้องได้ไหม แล้วต้องไปฟ้องกับใครหรือที่ไหน !

 

 

การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม คือ การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือเลิกจ้างโดยไม่มีกฎหมายกำหนดให้เลิกจ้างได้ ทั้งนี้หากลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดตามเหตุอันสมควร ตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ก็จะสามารถเรียกร้องสิทธิเอาค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมกับนายจ้างได้ แต่หากลูกจ้างกระทำผิดตามมาตรา 119 ก็จะไม่สามารถเรียกร้องสิทธิใด ๆ จากนายจ้างได้ 

 

กรณีเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง และเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า   

1. ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

2. ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

3. ลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

4. ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

5. ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

6. ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด หากเป็นความผิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายด้วย

 

กรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือไม่มีเหตุอันสมควร 

ลูกจ้างมีสิทธิได้รับดังต่อไปนี้

 

1. ค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง โดยลูกจ้างที่มีอายุการทำงานครบ 120 วันขึ้นไปจะได้รับเงินชดเชยตามนี้ 

 

2. ค่าชดเชยพิเศษ กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ

3. ค่าชดเชยพิเศษ กรณีนายจ้างปรับปรุงหน่วยงานโดยนำเครื่องจักรมาแทนกำลังคน

4. สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งกำหนดให้ทราบล่วงหน้า

5. ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

 

เมื่อถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และไม่ได้รับค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด 

ลูกจ้างจะต้องทำอย่างไรบ้าง

 

1. ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน  

ลูกจ้างสามารถร้องเรียนไปยังพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในเขตพื้นที่ที่สำนักงานของนายจ้างตั้งอยู่ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับคำร้องแล้ว พนักงานตรวจแรงงานจะเรียกนายจ้างและลูกจ้างมาสอบข้อเท็จจริง และทำการวินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

 

2. ยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลแรงงาน

ลูกจ้างสามารถยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน โดยไม่ต้องใช้ทนายความและไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนการเตรียมตัวนั้น ลูกจ้างต้องเตรียมเอกสารเกี่ยวกับการที่ตนเองถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และยื่นฟ้องด้วยวาจาต่อศาลแรงงานที่มีเขตอำนาจ

 

ลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องขอท้ายคำร้องหรือท้ายฟ้องตามนี้

● ขอให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงาน ในตำแหน่งเดิมและสภาพการจ้างอย่างเดิม 

- โดยเรียกค่าจ้างที่ขาดไปจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จนกว่าจะรับกลับเข้าทำงาน

- ค่าดอกเบี้ย

 

● กรณีที่ไม่สามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้    

- เรียกค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า    

- เรียกค่าชดเชยการเลิกจ้าง    

- เรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

- ดอกเบี้ย

 

หากลูกจ้างมีปัญหาการถูกเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หรือมีข้อสงสัย ต้องการปรึกษาเรื่องการถูกเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม สามารถติดต่อเพื่อสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่ซึ่งสำนักงานของนายจ้างตั้งอยู่ หรือโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 1506 กด 3 หรือ 1546

 

 

แหล่งข้อมูล

- พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2562 มาตรา 118 , 120 , 121 และ 122

- การคุ้มครองแรงงาน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow