Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาต่างประเทศให้กับลูก

Posted By Plook TCAS | 09 มี.ค. 66
1,332 Views

  Favorite

          ทักษะด้านการสื่อสารภาษาต่างประเทศ ถือเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 แต่ทักษะด้านนี้สำหรับเด็กบางคนเรียนตัวต่อตัวก็แล้ว เรียนกลุ่มก็แล้ว ไม่ช่วยให้ดีขึ้นเลย ต้องทำอย่างไร หลายคนกังวลกับเรื่องนี้ งั้นมาดูวิธีเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาในมุมมองนี้กัน เผื่อเป็นทางเลือกให้คุณผู้ปกครอง มีหลายวิธีดังต่อไปนี้

 

แก้ปัญหาการเรียนภาษาไม่เข้าหัว

         ลูกจะชอบใช้คำนี้กับคุณ มันคือเรื่องจริง ต่อให้ไปนั่งเรียนตามคอร์สต่าง ๆ แต่ไม่เข้าหัว ไม่เข้าใจ แบบว่าเข้าหูซ้ายออกหูขวา ถ้าอย่างนั้นลองเปลี่ยนเป็นให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเองดู เด็กเดี๋ยวนี้ติดยูทูป ลองให้เขาเปิดเพลงที่เขาชอบแล้วร้องตามดูสิ แบบที่มีเนื้อร้องหรือ Lyrics ด้วย ลองทำเป็นประจำทุกวันอย่างมีวินัย จะช่วยเพิ่มทักษะของลูกได้ดีเลยล่ะ

 

ภาษาต่างประเทศ ต้องไม่ใช่สิ่งที่ยาก

         การเรียนในสิ่งที่ยากเกินไปเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการเรียนภาษา คุณลองเปลี่ยนจากการบังคับให้ลูกเรียนภาษามาเป็น ถามลูกว่าอยากพัฒนาทักษะด้านไหน หรือคุณเองมองแล้วเห็นว่าลูกควรพัฒนาทักษะด้านไหน ฟัง พูด อ่าน หรือเขียน ให้เลือกลงให้ถูกคอร์สที่รู้สึกว่าไม่ยากจนเกินไป เรียนแล้วสนุก ที่สำคัญคุณเองก็ควรทำให้ตัวเองอยู่ในบรรยากาศของการสื่อภาษาที่ดีกับลูก จะยิ่งช่วยทำให้ลูกกล้าที่จะสื่อสารได้มากขึ้น

 

จัดสมดุลระหว่างการเรียนกับการใช้งาน

         คือถ้าไม่ได้ใช้ ยากมากที่จะเก่งภาษา เรียนแล้วแต่ในชีวิตจริงไม่ได้แตะเลย เหมือนบางคนพูดว่าเรียนภาษามาเป็นสิบปี แต่กลับพูดไม่ได้เลย ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะการใช้งานน้อยเกินไป คุณควรทำให้ภาษาอยู่ในชีวิตประจำวันของลูกคุณ เหมือนที่เราใช้ภาษาไทยเรานั่นล่ะ ส่วนเรื่องใช้งานคล่องหรือไม่ อยู่ที่โอกาสในการใช้งานมากกว่า ยิ่งมีโอกาสมากสนามก็ยิ่งกว้างขึ้น ลูกจะแพ้หรือชนะการเรียนภาษาก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ ดังนั้นจึงถือเป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องหาโอกาสและสถานการณ์ให้ลูกได้ลองใช้ภาษาจริง ๆ

 

ฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝน

         การเรียนภาษาต่างประเทศก็เหมือนการเรียนขับรถ ถ้าไม่มีสนามฝึก ไม่ฝึก ไม่ขับ ก็ไม่มีทางเป็นหรอก ไม่มีทางลัดต้องซ้อมอ่านเขียนพูดฟังด้วยตัวเองทั้งนั้นถึงจะคล่อง ลูกจะต้องเจอกับปัญหาฟังไม่ออก เสียงหลบ ตัดเสียงคำ เชื่อมคำ เสียงไม่ตรงตามอักขระ เหล่านี้ลูกต้องเจอและต้องเรียนจากประสบการณ์ล้วน ๆ

 

มีเพื่อนสนทนา ช่วยแก้ปัญหาได้

         ลูกอยากฝึกทักษะภาษา แต่ที่บ้านไม่มีคนพูดด้วย อันนี้เป็นปัญหาโลกแตกที่หลายบ้านเจอ ก็แน่นอนล่ะ ไม่ใช่ว่าผู้ปกครองทุกคนจะพูดภาษาต่างประเทศได้ อย่างนี้ทำอย่างไรดีล่ะ ความจริงมีหลายแอปฯ ที่บริการเรื่องนี้อยู่ ลองค้นดูจะเจอ เพราะในโลกยุคดิจิทัลการค้นหาคนหรือโปรแกรมพูดภาษาต่างประเทศมีถมเถแล้ว ดังนั้นถ้าคุณสื่อสารกับลูกเองไม่ได้ ก็สามารถช่วยค้นหาเพื่อน ครู หรือกิจกรรมที่ช่วยฝึกสนทนากับลูกได้ โดยมีคุณเป็นผู้ช่วยคัดกรองและดูเรื่องความปลอดภัย และความเหมาะสมให้กับลูก

 

ภาษาคือเรื่องของทักษะ

         บางคนมองว่า ภาษาเหมือนดนตรี ไม่จำเป็นต้องเรียนก็เล่นได้ หากฝึกฝนบ่อย ๆ ภาษาก็แบบเดียวกัน ลูกอาจเข้าใจภาษาต่างประเทศด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน เพราะทุกคนมีทักษะการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศที่แตกต่างกัน มีความชอบ ความสนใจ ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรเลือกวิธีการฝึกทักษะที่เหมาะสมกับความแตกต่างของแต่ละคน 

 

เทคนิคจากโรงเรียนต่างจังหวัดที่เป็นต้นแบบ

         ปัจจุบันมีหลายโรงเรียนในประเทศไทยที่เป็นต้นแบบของการฝึกภาษาให้เด็กไทยได้ หนึ่งในนั้นคือ โรงเรียนบ้านหนองแก จังหวัดสระแก้ว ปัญหาของเด็กไทยที่เหมือน ๆ กันคือ จะทำข้อสอบอย่างไรดี อ่านไม่ออก แปลไม่ได้ ครูเนาวะรัตน์ ถาวร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองแก จึงได้พัฒนาการเรียนแบบ Phonic และอาศัยการสะกดคำภาษาอังกฤษคล้ายภาษาไทย โดยใช้สีและสัญลักษณ์ตัวเลขมาช่วยแยกประเภทตัวอักษรที่เป็นสระ แล้วใช้ภาพสื่อความหมายของศัพท์นั้น ๆ หลักการดังกล่าว ทำให้นักเรียนอ่าน เขียน แปล ได้อย่างคล่องแคล่ว

 

ขยันท่องศัพท์

          จริง ๆ แล้วก่อนจบ ป. 3 ลูกควรจะพัฒนารู้ศัพท์ภาษาอังกฤษที่เป็นคำบัญชีพื้นฐานได้เกินกว่า 1,200 คำด้วยซ้ำ เพื่อให้ลูกได้พัฒนา Grammar Tense Conversation ในช่วยประถมปลายต่อไป ก่อนอื่นคุณควรให้ลูกเตรียมสมุดจดคำศัพท์ก่อน เริ่มต้นอาจไม่ต้องมาก แค่วันละ 10 คำก็พอ และในทุกวันควรที่จะมีชั่วโมงทบทวนคำศัพท์อยู่ด้วย และที่สำคัญคุณควรให้ลูกลองใช้จริง ด้วยการให้สถานการณ์ที่มีคำศัพท์ที่ท่องมาในวันนั้น ๆ แฝงอยู่ คุณอาจเป็นผู้สร้างสถานการณ์นั้นเอง หรือเรียนผ่านยูทูปก็ได้

 

เก่งภาษาต้องจำเก่ง

            ความทรงจำของคนเรามีสองแบบคือ ระยะยาวกับระยะสั้น สำหรับความทรงจำระยะยาว (Long-term memory)  เป็นหน่วยความจำเก็บข้อมูลได้ไม่จำกัด เก็บได้นาน เกิดจากการฝึกทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จนเกิดความชำนาญ เช่น การขับรถ การจดจำคนในครอบครัว การจดจำชื่อเพื่อนสนิท หรือคลังความรู้รอบตัว ส่วนความทรงจำระยะสั้น (Short-Term Memory หรือ STM) คือ หน่วยความจำที่สามารถเก็บข้อมูลได้ในระยะเวลาสั้น ๆ และเก็บได้แบบจำกัด เช่น จดจำเบอร์โทรศัพท์ จดจำเมนูอาหาร ฯลฯ ความจำชนิดนี้ถูกรบกวนได้ง่าย เรียกว่าเป็นการจำแบบชั่วคราว ซึ่งอาจลืมได้ภายในไม่กี่วินาที แต่ถ้าอยากเป็นคนจดจำศัพท์ได้เร็ว คุณต้องพัฒนาทักษะ Short-term Memory นี้ให้กับลูกของคุณ ด้วยการแบ่งศัพท์ตามสี แปะศัพท์ตามห้องต่าง ๆ ในบ้าน เทคนิคนี้จะช่วยพัฒนาการทำงานของความทรงจำระยะสั้นในตัวลูกคุณได้

 

จงเชื่อในความขยันและมีวินัยว่าจะช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาให้กับลูกของคุณได้

 

ปริณุต ไชยนิชย์

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://pantip.com/topic/35725383

https://pantip.com/topic/41016988

https://www.thaipbs.or.th/program/SaTaeunThai/episodes/81224

https://www.ofm.co.th/blog/วิธีท่องศัพท์-เร่งด่วน/

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow