Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ข้อดีของการฝึกลูกให้เป็นนักกีฬา

Posted By Plook TCAS | 09 มี.ค. 66
1,976 Views

  Favorite

          ความจริงมีอยู่ว่า วิชาที่ลูก ๆ ประถมปลายต้องเรียนรู้มีหลายวิชามาก แต่หนึ่งในนั้นคือวิชาที่มีผลต่อพัฒนาการและตัวตนของลูก ซึ่งเจ้าตัวพัฒนาการดังกล่าวมีผลทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยเมื่อมาโรงเรียน โดยวิชานี้จะไม่เกี่ยวข้องกับวิชาหลัก แต่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับเด็กได้ไม่แพ้วิชาหลักเลยทีเดียว กำลังพูดถึงวิชาที่เกี่ยวกับการออกกำลังกายหรือพลศึกษานั่นเอง และเชื่อว่ามีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่อยากให้ลูกเป็นนักกีฬา ไม่ต้องถึงระดับเข้าทีมแข่งขันก็ได้ แต่อยากให้ลูกใส่ใจทางด้านการออกกำลังกายได้ ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ดีทีเดียว เพราะการส่งเสริมให้ลูกเป็นนักกีฬา จะช่วยให้ลูกได้รับการส่งเสริมพัฒนาการหลายด้าน ดังนี้

        

มีผลต่อสมอง

         ใช่ว่าวิชาหลักเพียงอย่างเดียวที่สามารถทำสิ่งนี้ได้ การเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายก็สามารถทำให้ลูกมีเปลือกสมองที่หนาขึ้นได้เช่นกัน เพราะในช่วงที่ลูกออกกำลังกายนั้น เส้นใยประสาทจะเชื่อมกันได้ดี ส่งผลต่อการคิดวิเคราะห์ การมีสมาธิ นักกีฬาหลายคนที่เอาชนะคู่แข่งได้ด้วยสมอง โดยใช้การหาเทคนิคใหม่ ๆ ในการแข่งขัน ซึ่งพิสูจน์ได้ว่า นักกีฬาไม่เพียงแต่ใช้พลกำลังอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังใช้สมองด้วย

 

อารมณ์และจิตใจ

         เนื่องจากระหว่างที่ลูกเล่นกีฬาหรือเคลื่อนไหวร่างกาย จะส่งผลทำให้สมองของลูกเกิดการหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า เอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) โดพามีน (Dopamine) และเซโรโทนิน (Serotonin) โดยจากงานวิจัยเรื่องความสุขที่ยาวนานที่สุดในโลกของ Robert Waldinger ที่ได้นำเสนอผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard ที่ใช้เวลาศึกษากว่า 75 ปี โดยศึกษาชีวิตของอาสาสมัครกว่า 724 คน รวมถึงคู่สมรสและลูกหลานอีกกว่า 2,000 คน ได้รวบรวมข้อมูลและสรุปอย่างชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดช่วยให้คนมีสุขภาพดีและมีความสุข  ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างและได้รับการยอมรับในสังคมจะช่วยยืดเวลาให้เราแก่ช้าลง อีกนัยคือช่วยให้เรามีอายุที่ยืนยาวขึ้น และงานวิจัยนี้ยังพบว่า ฮอร์โมน 3 ตัวดังกล่าวข้างต้นคือฮอร์โมนแห่งความสุข

 

ร่างกายแข็งแรง

          เมื่อลูกเป็นนักกีฬา ลูกต้องออกกำลังกายบ่อย ๆ การออกกำลังกายนั้นนอกจากจะช่วยให้ลูกร่างกายแข็งแรงแล้วยังช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากความเสื่อม ยังสามารถกระตุ้นฮอร์โมนในร่างกายได้หลายชนิด เช่น โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ฮอร์โมนที่สำคัญต่อการซ่อมแซมและเสริมสร้างร่างกาย เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า เสริมสร้างกล้ามเนื้อ อินซูลิน และไทรอยด์ฮอร์โมน (Insulin and Thyroid Hormone) ฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลและกระบวนการเผาผลาญในร่างกายด้วย

 

พบปะกับเสียงหัวเราะ

            การให้ลูกเป็นนักกีฬา คือการเปิดโอกาสให้ลูกมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและการทำงานเป็นทีม ซึ่งการพบปะพูดคุย จะทำให้เกิดกิจกรรมและเสียงหัวเราะ ลูกจะได้ผ่อนคลายร่างกายจากการเรียนประจำ หรือปัญหาต่าง ๆ ที่พบเจอ เวลายิ้ม ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข ที่ชื่อว่า เซโรโทนินและเอนดอร์ฟินออกมาเช่นกัน

 

ฮอร์โมนจากการออกกำลังกายกลางแจ้ง

         เมื่อลูกออกกำลังกายในที่ที่มีแสงแดดส่องถึง โดยอยู่ในช่วงเวลาเช้าตรู่หรือช่วงเย็น ที่ไม่ใช่ช่วง 10.00-15.00 น. ร่างกายของลูกจะสังเคราะห์วิตามินดีได้ทางผิวหนัง วิตามินตัวนี้จะช่วยเรื่องความแข็งแรงของกระดูก กระตุ้นภูมิต้านทาน และยังช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขที่ชื่อว่า เซโรโทนิน ฮอร์โมนตัวนี้ช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ด้วย

 

โกรทฮอร์โมนจากการออกกำลังกาย

          ลูกจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากต่อมใต้สมองและส่งเข้าสู่กระแสเลือด มีหน้าที่สำคัญในการเจริญเติบโตของร่างกาย เป็นฮอร์โมนที่มีอิทธิพลต่อความสูงและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก หากลูกขาดโกรทฮอร์โมน สังเกตง่าย ๆ ว่าจะมีใบหน้าดูอ่อนกว่าวัย โครงหน้าเหมือนตุ๊กตา ดั้งจมูกแบนกว่าปกติ บางรายสัมพันธ์กับภาวะปากแหว่งเดานโหว่ รูปร่างเตี้ยเล็กแต่สมส่วน อ้วน เนื่องจากมีไขมันสะสมบริเวณลำตัวมาก ถ้าเป็นเด็กชายมักมีอวัยวะเพศเล็กไม่สมวัย เสียงเล็กแหลม เรียกภาวะนี้ว่า “เตี้ยแคระ” หรือ “dwarfism” แต่ภาวะขาดโกรทฮอร์โมนไม่มีผลกระทบต่อระดับสติปัญญาของเด็ก แต่คุณก็ควรส่งเสริมให้ลูกได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ≥5 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อลูกจะได้อยู่กับคุณด้วยร่างกายที่แข็งแรงอย่างนี้ไปนาน ๆ

 

มาช่วยให้ลูกประถมปลายมีพัฒนาการและหาตัวตนได้เจอไว ๆ  เพื่อให้เขามีความรู้สึกที่มั่นคงและปลอดภัยในการดำรงชีวิตต่อไปในวันข้างหน้า

 

ปริณุต ไชยนิชย์

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.rlg-ef.com/บทที่-7-ตอนที่-4-วิชาที่เด็/

https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ฮอร์โมนความสุข

https://www.synphaet.co.th/children-ramintra/โกรทฮอร์โมน-กับภาวะตัวเ/

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow