Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ต้องได้เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานเท่าไหร่ ?

Posted By Plook Magazine | 28 มี.ค. 66
191,561 Views

  Favorite

ถูกไล่ออก ถูกเลิกจ้าง ต้องตกงานแบบกะทันหัน สิ่งที่ลูกจ้างควรจะรู้เป็นเรื่องแรก ๆ คือ ‘เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน’ มาดูรายละเอียดพร้อมทำความเข้าใจกันว่าเมื่อเราถูกเลิกจ้างแบบไม่ทันตั้งตัว เราจะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างหรือบริษัทกี่บาท ? 

 

หากวันหนึ่งคุณถูกเลิกจ้างโดยที่ไม่ได้มีความผิด เช่น นายจ้างเลิกกิจการ หรือนายจ้างต้องการลดภาระรายจ่ายเพราะประสบกับภาวะขาดทุน สิ่งที่ลูกจ้างควรรู้คือกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง (ที่ทำงานครบ 120 วันขึ้นไป) 

 

เงินค่าชดเชยที่นายจ้างจะต้องชดเชยตามกฎหมายจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ดังนี้

 

1. ค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างกรณีทั่วไป (รวมถึงการเลิกจ้าง เพราะสถานการณ์โควิด-19)

• หากลูกจ้างทำงานมายังไม่ถึง 120 วัน นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยก็ได้

• หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 120 วัน - 1 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 30 วัน ในอัตราสุดท้าย

• หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 1 - 3 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 90 วัน ในอัตราสุดท้าย

• หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 3 - 6 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 180 วัน ในอัตราสุดท้าย

• หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 6 - 10 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 240 วัน ในอัตราสุดท้าย

• หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 10 - 20 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 300 วัน ในอัตราสุดท้าย

• หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 20 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 400 วัน ในอัตราสุดท้าย

 

2. ค่าเสียหายหรือค่าตกใจจากการไม่บอกล่วงหน้า

• ค่าเสียหายนี้เกิดในกรณีหากนายจ้าง "ไล่ออก" ทันทีโดยไม่บอกล่วงหน้า 30 - 60 วัน  เพราะถือว่านายจ้างทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน นอกจากจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกรณีเลิกจ้างทั่วไป ตามข้อ 1 แล้ว (มาตรา 118) ยังต้องจ่ายค่าเสียหายจากการไม่บอกกล่าวล่วงหน้าด้วย ตามมาตรา 17/1 เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างในอัตราที่ลูกจ้างได้รับอยู่อัตราสุดท้าย คิดเต็มจำนวนเสมือนหนึ่งว่านายจ้างได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้เตรียมตัวก่อนออกจากงาน แต่ค่าเสียหายจำนวนนี้จะคิดอย่างมากที่สุด ไม่เกินค่าจ้างสามเดือน

 

 

กรณีเลิกจ้างแบบไหนที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

1. ลูกจ้างสมัครใจขอลาออกเอง

2. ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจกระทำความผิดอาญาต่อนายจ้าง

3. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

4. ลูกจ้างประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

5. ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย และนายจ้างได้เตือนลูกจ้างเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน (หนังสือเตือนมีอายุ 1 ปี นับจากวันที่ลูกจ้างกระทำความผิด)

6. ลูกจ้างได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร และไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม

7. ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่เป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

8. การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนและเลิกจ้างตากำหนดเวลานั้น ๆ

 

นอกจากเงินชดเชยที่จะได้รับจากนายจ้างแล้ว ก็จะยังมีเงินชดเชยจากประกันสังคมในกรณีว่างงานหรือตกงานอีกด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

- กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม ในอัตรา 50% ของรายได้ต่อเดือน โดยระยะเวลาการจ่ายทั้งสิ้น 180 วัน (6 เดือน) ภายใน 1 ปี ซึ่งฐานขั้นต่ำของเงินสบทบที่จะได้รับอยู่ที่ 1,650 บาท และฐานสูงสุดของเงินสบทบที่จะได้รับอยู่ที่ 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น นาย A เงินเดือน 15,000 บาท เมื่อถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยเดือนละ 7,500 บาท 

 

- กรณีลาออกจากงานหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน จะได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม 30% ของรายได้ต่อเดือน โดยระยะเวลาการจ่ายทั้งสิ้น 90 วัน (3 เดือน) ซึ่งฐานขั้นต่ำของเงินสบทบที่จะได้รับอยู่ที่ 1,650 บาท และฐานสูงสุดของเงินสบทบที่จะได้รับอยู่ที่ 15,000 บาท เช่นเดียวกับกรณีถูกเลิกจ้าง ส่วนเงื่อนไขของผู้ได้รับสิทธิเงินชดเชยกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 จะต้องอยู่ภายในเงื่อนไขต่าง ๆ ดังนี้

1. ผู้ประกันตนจะต้องมีการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนการว่างงาน

2. ผู้ประกันตนจำเป็นต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน กับทางสำนักงานจัดหางานของจังหวัด ภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้างหรือสิ้นสุดสัญญา หรือขึ้นทะเบียนผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ที่เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th

3. หลังจากได้รับสิทธิแล้ว ผู้ประกันตนยังต้องเข้าไปรายงานตนอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ผ่านทางเว็บไซต์ https://empui.doe.go.th

4. ที่สำคัญการว่างงานในครั้งนี้ของผู้ประกันตนต้องไม่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ทุจริตในหน้าที่หรือต่อนายจ้าง ละทิ้งหน้าที่เกิน 7 วันทำงาน ประมาณในการทำงาน จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย ต้องโทษจำคุก ฯลฯ หากการว่างงานหรือถูกเลิกจ้างเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้ประกันตนจะไม่ได้รับสิทธิเงินชดเชย

5. ผู้ประกันตนจะต้องเป็นผู้ที่พร้อมสำหรับการทำงาน และต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน

6. สำหรับสิทธิเงินชดเชยที่จะได้รับ ในกรณีถูกเลิกจ้างมากกว่า 1 ครั้งต่อปี สามารถยื่นรับสิทธิเงินชดเชยได้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 180 วัน และในกรณีลาออกจากงานหรือหมดสัญญาจ้างมากกว่า 1 ครั้งต่อปี สามารถยื่นรับสิทธิเงินชดเชยได้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 90 วัน

 

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นรับสิทธิเงินชดเชยกรณีว่างงาน

1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)

2. หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้

3. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)

4. หนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยกรณีเป็นผู้ประกันตนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

5. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน

 

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ sso.go.th หรือโทรสอบถามข้อมูลได้ที่เบอร์ 1506 (สายด่วนประกันสังคม กระทรวงแรงงาน)


 

แหล่งข้อมูล

- พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 118 และมาตรา 17/1

- สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

 
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow