Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อยากใช้ชีวิตอยู่แต่บนเตียง หรือเรากำลังเป็นโรคซึมเศร้าแบบ Atypical Depression

Posted By Plook Magazine | 21 มี.ค. 66
1,997 Views

  Favorite

หากใครที่มีความรู้สึกว่าตัวเองอยากใช้ชีวิตอยู่แต่บนเตียง ไม่อยากขยับร่างกายไปไหนเลย และรู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีเรี่ยวแรง อยากกินแต่ของหวาน คุณอาจไม่ได้ ‘ขี้เกียจ’ และมีแนวโน้มว่าอาจจะป่วยเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ ที่แตกต่างจากโรคซึมเศร้าแบบปกติ หรือเป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบปกติ (Atypical Depression) 

 

ในปี 1994 ได้มีการระบุถึงเกณฑ์การวินิจฉัยจำเพาะสำหรับโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นตามรูปแบบปกติ หลังจากมีคนสังเกตเห็นถึงความแตกต่างของอาการซึมเศร้าชนิดนี้ว่ามีลักษณะจำเพาะตั้งแต่ปี 1959 โดยได้ระบุไว้ในคู่มือการวินิจฉันโรคทางจิตเวชที่เป็นมาตรฐาน ฉบับที่ 4

 

โรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบปกติ (Atypical Depression) 

หรือโรคซึมเศร้านอกแบบ จะมีอาการแตกต่างจากโรคซึมเศร้าแบบปกติ (Major Depressive Disorder) โดยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบปกติมักจะมีอาการดังนี้

- รู้สึกไร้เรี่ยวแรง 

- ตื่นช้ากว่าปกติ รู้สึกไม่อยากตื่น

- กินอาหารมากกว่าปกติ

- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

- มักรู้สึกผิดโทษตัวเอง 

- อารมณ์มักแย่ตั้งแต่เช้า 

- รู้สึกสิ้นหวัง

- ไม่อยากเคลื่อนไหวหรือขยับร่างกาย 

- นอนแข็งทื่อเหมือนท่อนไม้

 

 

ความแตกต่างของโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบปกติ
เมื่อเทียบกับโรคซึมเศร้าแบบปกติ

 

อาการโรคซึมเศร้าแบบปกติ

- มักตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกนอนหลับไม่เต็มที่ อาจรู้สึกเหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น และมักตื่นมาตั้งแต่เช้ามืด

- มีอาการซึม หดหู่ ไม่อยากไปทำงาน หรือไม่อยากไปเรียน

- ไม่อยากกินอาหาร ทำให้น้ำหนักลดลงเรื่อย ๆ

- จะรู้สึกไม่สดใสตลอดทั้งวัน และคิดโทษตัวเองอยู่บ่อย ๆ

- ช่วงเย็นถึงกลางคืนความรู้สึกเศร้าจะเริ่มดีขึ้น และมักจะมีปัญหานอนไม่หลับ

 

อาการโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบปกติ

- ในตอนเช้าหลังตื่นนอนจะลุกจากเตียงไม่ได้หรือยากลำบาก เพราะจะรู้สึกง่วงนอนมาก ๆ 

- อยากใช้ชีวิตอยู่แต่บนเตียงทั้งวัน 

- รู้สึกแขนขาหนักจนขยับตัวได้ลำบาก

- อารมณ์จะแปรปรวน หงุดหงิดง่าย อ่อนไหวง่าย

- ชอบโยนความผิดให้คนอื่น 

- มีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ เอาแน่เอานอนไม่ได้ 

- มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้นมาก ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

- อยากกินของหวาน ๆ อยู่ตลอดเวลา 

- ช่วงเย็นถึงกลางคืนจะรู้สึกเศร้าเพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบปกติ มักจะมีอาการป่วยทางจิตเวชชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งอาการป่วยแต่ละอย่างมักจะสัมพันธ์กัน โดยมักจะมีอาการตื่นตระหนก หรือเป็นโรคกลัว (Phobia) ร่วมด้วย คือจะมีความรู้สึกวิตกจริต เช่น โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง, โรคกลัวสังคม หรือโรคกลัวที่โล่งแจ้ง เป็นต้น 

 

Good to know
โรคซึมเศร้าแบบปกติ จะมีอาการรู้สึกเศร้าเกือบทั้งวัน หรือรู้สึกไม่มีความสุข ไม่มีความสนุกในชีวิตนานติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ รู้สึกนอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ มีความรู้สึกอยากตายขึ้นมาบ่อย ๆ และมักจะมีอาการเบื่ออาหารอย่างมาก จนน้ำหนักลดลงอย่างน้อย 5% ของน้ำหนักตัวใน 1 เดือน

 

 

สาเหตุของโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบปกติ

สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ทำงานผิดปกติ

ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแบบปกติจะมีสารเซโรโทนิน (Serotonin) ที่เป็นสารสื่อประสาทน้อยกว่าคนปกติ แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบปกติ กลับมีสารเซโรโทนินสูงกว่าคนปกติ จึงส่งผลให้มีอาการตื่นตระหนกได้ง่าย 

 

การทำงานของสมองที่ผิดปกติ 

- ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) เป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และจิตใจ สมองส่วนนี้ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีการทำงานที่บกพร่องหรือผิดปกติ 

- อะมิกดาลา (Amygdala) เป็นสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ต่าง ๆ รวมถึงความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ต่าง ๆ ด้วย ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า สมองส่วนนี้จะมีการทำงานมากขึ้น

- ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบความจำและพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นสมองส่วนที่สำคัญ มีบทบาทอย่างมากในเรื่องความทรงจำ (ระยะยาว) และทำงานสัมพันธ์กับอะมิกดาลาในการเก็บความทรงจำที่มีอารมณ์ร่วมด้วย สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า สมองส่วนนี้จะมีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยจึงมักจะมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ คล้ายสมองเสื่อมได้

- เปลือกสมองบริเวณกลีบหน้าผากส่วนหน้า (Perfrontal cortex) มีความสำคัญในการช่วยวางแผน ตัดสินใจ ยับยั้งชั่งใจ การแสดงออกของบุคลิกภาพ การแสดงออกทางสังคม ในผู้โรคป่วยซึมเศร้าสมองส่วนนี้จะทำงานลดลง 

 

สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบปกติ

- ความเครียดที่เกิดในครอบครัว การใช้ความรุนแรงในครอบครัวก็อาจนำไปสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าแบบที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบปกติมักจะมีปัญหาการไม่ได้รับความรักที่เพียงพอจากพ่อแม่ หรือตอนเด็ก ๆ โดนกระทำด้วยความรุนแรง 

- ความเครียดในชีวิตประจำวัน ทั้งจากสภาพแวดล้อมของสังคม, สภาพแวดล้อมจากการทำงาน, หรือความเร่งรีบในการเดินทาง, ความต้องการได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างหรือสังคม, การได้รับข้อมูลจากโซเชียลมีเดียที่มากเกินไป จนเกิดเป็นความเครียดสะสมก็สามารถนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบปกติได้

 

สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบปกติ ก็จะมีวิธีการรักษาคล้าย ๆ กับโรคซึมเศร้าแบบปกติ คือควรจะเริ่มต้นด้วยการไปพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจประเมินอาการต่าง ๆ และเพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมนั่นเอง 

 

 

แหล่งข้อมูล

Hisanobu Kaiya, M.D., Ph.D.. (2566). ฉันเป็น “โรคซึมเศร้า” ไหมนะ. แปลจาก ‘HITEIKEI UTSUBYO’ TTEDONNABYOKI?. แปลโดยวิลาศิณี คู่ปัถพี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ ไลฟ์พลัส

 
 
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow