Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคนิคเก็บเงินสไตล์วัยรุ่นสายช้อปปิ้ง

Posted By Plook Magazine | 02 มี.ค. 66
2,216 Views

  Favorite

การช้อปปิ้งกับการออมเงินดูเป็นเส้นขนานที่ไม่มีทางบรรจบกัน เพราะการช้อปปิ้งถือเป็นศัตรูของการเก็บเงิน แต่ใครล่ะที่เกิดมาแล้วไม่เคยอยากช้อปปิ้งเลย ? วันนี้วัยรุ่นคนไหนที่ชอบช้อปปิ้งแต่ก็อยากออมเงินเพื่ออนาคต เรามีเทคนิคช้อปปิ้งให้ไม่สร้างหนี้แถมยังได้สร้างตัว เหลือเก็บออมมาฝากกันค่ะ     

 

trueplookpanya

 

ใครก็ตามที่กดเข้ามาอ่านบทความนี้ แสดงว่าเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นอยากจะออมเงินเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากค่ะ แต่บางครั้งระหว่างที่เก็บเงินอยู่ก็อาจมีความรู้สึกอยากช้อปปิ้งซื้อของเปย์ตัวเอง เปย์เพื่อน เปย์แฟนหรือว่าคนในครอบครัวบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ เมื่อถึงเวลาที่จะจ่ายเงินกลับรู้สึกว่าตัวเองกำลังใช้เงินไม่ถูกวิธีอยู่หรือเปล่า เพราะแนวคิดที่ว่าคนเราควรใช้เงินไปกับของที่ ‘จำเป็น’ มากกว่าของที่ ‘อยากได้’ มันค้ำคอ 

 

ของที่อยากได้ VS ของที่จำเป็น 

shutterstock/Kmpzzz


ในตำราการใช้จ่าย เขาจะให้เราแยกระหว่าง Need กับ Want ซึ่งของที่เป็น Need ก็คือสิ่งของที่จำเป็น เราขาดมันไม่ได้ เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต เช่น อากาศ น้ำ อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เป็นต้น  ส่วน Want คือสิ่งของที่ไม่ต้องมีก็ได้ ไม่มีมันเราก็ใช้ชีวิตอยู่ได้ แต่มันกลับเป็นของที่ตัวเราอยากได้สุด ๆ เพราะอะไรบางอย่าง (กิเลศ) เช่น เกม บัตรคอนเสิร์ต กระเป๋า ไปท่องเที่ยว เป็นต้น  
 

ซึ่งสิ่งของที่ทำให้เรารู้สึกกังวลส่วนใหญ่ก็คือ สิ่งของในหมวดของ Want หรือของที่อยากได้แต่ไม่ได้จำเป็นกับชีวิตนั่นเอง


ความจริงแล้วเราสามารถซื้อของที่อยากได้หรือว่าเจ้า Want ได้นะคะ ในตำราเรื่อง Want กับ Need เกิดขึ้นมาเพื่อให้เราจัดลำดับความสำคัญในการซื้อของเพื่อไม่ให้เป็นภาระของตัวเองเท่านั้นเอง โดยให้เราซื้อของที่จำเป็นก่อน ไม่ได้ห้ามไม่ให้เราใช้จ่ายกับของที่ต้องการเลย (Want) หากเราเข้าใจตรงนี้แล้ว เราก็ควรอนุญาตให้ตัวเองมีความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทางที่เราเก็บเงินไปด้วยได้ ชีวิตถึงจะมีความสุขและไม่เครียดจนเกินไป 

เพราะการที่เราอยากซื้อของสักชิ้นแม้มันจะไม่ได้จำเป็นเลยนั้นไม่ใช่เรื่องผิด เราสามารถซื้อของที่จำเป็นและของที่อยากได้ควบคู่กันไปได้ แต่ก่อนที่เราจะซื้อของชิ้นนั้น เราควรตอบคำถาม 5 ข้อนี้ให้ได้ก่อนเพื่อให้การช้อปปิ้งทุกครั้งของเราไม่สร้างภาระ ไม่สร้างหนี้ ไม่สร้างนิสัยทางการเงินที่ไม่ดีให้ติดตัวเราไปในอนาคต แถมยังช่วยให้เราสร้างเนื้อสร้างตัวไปด้วยได้
   

shutterstock/Undrey

 

คำถามที่ 1 เราแยกแยะได้ไหมว่าของที่จะซื้อเป็น Need หรือ Want 

พื้นฐานการใช้จ่ายข้อแรกก็คือ การแยกแยะให้ออกระหว่างสิ่งของที่จำเป็นกับสิ่งของที่อยากได้ สมมติว่าเราอยากได้ #กระเป๋าcarlyn ที่กำลังฮิตมาก ๆ ก็ไม่ได้ผิดอะไรที่เราอยากมีบ้าง แต่เราก็ต้องรู้ด้วยว่ากระเป๋าที่เราอยากได้มันเป็นสิ่งของในหมวด Want นะ คือของที่เราต้องการแต่มันไม่ได้จำเป็น 

ส่วนอีกคนอาจอยากได้เม้าส์ปากกา เนื่องจากมีคนมาจ้างให้วาดรูปออนไลน์ แม้ของชิ้นนี้จะอยู่ในหมวดของที่ไม่ได้จำเป็นเหมือนกัน แต่ได้คะแนน++ เพราะถ้าซื้อมาแล้วสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับเราได้ ถือว่าคุ้มค่ามาก ๆ 

หรืออีกคนอยากได้รองเท้าวิ่งคู่ละ 4,500 บาท ถ้าวิ่งครั้งเดียวจ่าย 4,500 บาทก็คงจะแพงมากเกินไป ไม่คุ้มค่า แต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าเราจะใช้รองเท้าคู่นี้ไปวิ่งสัปดาห์ละครั้ง = 52 ครั้ง/ปี ซึ่งจะใช้ไปเลยยาว ๆ 3 ปี (52 x 3 = 156 ครั้ง) ก็จะเท่ากับว่าเราใช้วิ่งครั้งละ 29 บาท/ครั้ง ( 4,500 บาท/ 156 ครั้ง) กรณีนี้แม้จะเป็นของที่ไม่จำเป็น แถมยังเอามาต่อยอดสร้างรายได้ก็ไม่ได้ แต่ในแง่ของมูลค่าและเวลาก็ถือว่าเป็นของที่ใช้ได้คุ้มค่ามาก ๆ

 

shutterstock/Hananeko_Studio

 

คำถามที่ 2 เรามีเงินพอที่จะซื้อไหม 

พอมีของที่อยากได้แล้ว แยกแยะได้แล้วว่ามันคือของที่จำเป็นหรือของที่อยากได้ คำถามต่อมาที่ต้องถามตัวเองก็คือ เรามีเงินพอที่จะซื้อของชิ้นนั้นไหม ? ถ้าคำตอบคือ ไม่มีค่ะ/ครับ แต่คิดว่าจะยืมเพื่อนมาซื้อก่อนแล้วค่อยหามาคืนทีหลังก็ถือเป็นการก่อหนี้ทั้งที่ไม่จำเป็น ทำให้ตัวเองเดือนร้อนและลำบาก

ส่วนอีกคนอาจตอบว่า มีเงินค่ะ/ครับ แต่เงินส่วนนี้เป็นเงินที่เอาไว้ใช้จ่ายประจำเดือน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทางไปโรงเรียน ซึ่งถ้าหากใช้ไปกับการซื้อกระเป๋าก็อาจจะไม่เหลือเอาไว้ใช้จ่ายประจำเดือนเลย อาจต้องไปยืมเพื่อนทีหลัง ซึ่งในกรณีนี้ก็จะถือเป็นการใช้จ่ายที่จะทำให้เราลำบากทีหลังเหมือนกัน ทั้งไม่สร้างตัว + สร้างหนี้ เข้าข่ายนิสัยชอบช้อปปิ้งออนไลน์ที่จะทำให้เราจนไม่รู้ตัว

 

shutterstock/Manop Boonpeng

 

คำถามที่ 3 เอาเงินส่วนไหนมาซื้อของที่อยากได้  

สำหรับของที่อยากได้ ไม่ใช่ว่าแค่มีเงินก็ซื้อได้เลย เราควรพิจารณาก่อนว่าเงินที่เราจะเอามาซื้อของเป็นเงินส่วนไหน ? หากเงินที่จะนำมาซื้อเป็นเงินที่ต้องเอาไว้ใช้จ่่ายกับของที่จำเป็นก็ไม่ควรนำเงินส่วนนั้นมาใช้จ่ายกับของที่ไม่จำเป็นเพราะจะทำให้เราเดือดร้อนทีหลังได้  

เงินที่ควรนำมาซื้อของที่อยากได้ควรเป็น ‘เงินพิเศษ’ เช่น เงินที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงทำงานพิเศษ รับจ็อบเสริมเพราะเป็นเงินที่เราหาได้เพิ่มเติมใช้ไปก็ไม่กระทบกับเงินออมหรือเงินที่เราต้องเก็บไว้ใช้จ่ายกับของที่จำเป็น ส่วน ‘เงินออม’ ไม่ควรนำมาใช้กับของที่อยากได้ ควรเก็บไว้ใช้จ่ายกับของที่จำเป็นเท่านั้นค่ะ  

shutterstock/Ground Picture

 

คำถามที่ 4 ต้องซื้อตอนนี้เลยไหม 

เมื่อเข้าใจแล้วว่าเงินส่วนไหนควรนำมาซื้อของที่อยากได้ และเงินส่วนไหนที่ไม่ควร คำถามต่อมาก็คือ ของที่เราจะซื้อมันเหมาะกับการใช้งานของเราไหม เช่น เราเป็นคนไม่พกของเยอะ ควรซื้อกระเป๋าใบขนาดกลางก็พอเพื่อราคาจะได้ถูกกว่าซื้อใบใหญ่ และของที่เราจะซื้อช่วงไหนราคาจะดีที่สุด เช่น จะมีช่วงเซลล์เมื่อไหร่หรือของที่เราอยากได้จะเข้าร่วมโปรโมชั่นอะไรไหม ฯลฯ เพื่อที่ว่าจะได้รอซื้อช่วงที่ราคาถูกลง จากที่ต้องจ่ายราคาเต็ม เมื่อซื้อช่วงที่ราคาเซลล์เราก็เหลือเงินเอาไปเก็บในส่วนของเงินออมได้
 

shutterstock

 

คำถามที่ 5 มีของที่อยากได้แต่ไม่มีเงินซื้อ ควรออมเงินยังไง 

หากตอบคำถามทุกข้อแล้ว และเราก็ยังยืนยันว่ามีของที่อยากได้ แต่ว่ายังไม่มีเงินซื้อก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องถอดใจกับของชิ้นนั้น หากอยากได้จริง ๆ ก็ควรเริ่มเก็บเงินซื้อของที่อยากได้ แยกจากเงินออมที่ต้องเก็บเป็นประจำอยู่แล้ว ใช้เวลานานหน่อยแต่ยังไงก็ได้ของที่อยากได้ + ไม่สร้างภาระอีกด้วย 


เทคนิคออมเงิน สไตล์วัยรุ่นชอบช้อปปิ้ง

  • 20% (Saving) เงินออม

  • 30% (Want) ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว 

  • 50% (Need) ใช้จ่ายเรื่องจำเป็น
     

รู้จักกฎ 50/30/20 วิธีวางแผนการเงินที่จะทำให้มีเงินเก็บ สามารถปรับได้ตามสไตล์ของแต่ละคน เช่น บางคนอาจรู้สึกว่าเงิน 30% สำหรับช้อปปิ้งมันมากเกินไป เราไม่ใช่สายช้อปขนาดนั้นก็อาจจะลดเหลือสัก 10-20% ก็พอ แล้วเอาที่เหลือไปเพิ่มในส่วนของเงินออม (Saving) แทน เพียงเท่านี้เราก็จะมีเงินช้อปปิ้ง + สร้างตัวได้ เป็นวัยรุ่นสายช้อปที่การเงินแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี !

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

รู้จักกฎ 50/30/20 วิธีวางแผนการเงินที่จะทำให้มีเงินเก็บ

สร้างวินัยทางการเงินตั้งแต่วัยรุ่น ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินได้

9 ความรู้ทางการเงินที่จะช่วยให้เก็บออมได้มากขึ้น

คุณเป็นคนที่มีความฉลาดทางการเงินพอหรือเปล่า ?

เรียนรู้วิชาการเงินผ่าน 5 พอดแคสต์การเงินฟังง่าย

รวมความรู้ทางการเงินที่วัยรุ่นควรรู้ก่อนเรียนจบ #อายุน้อยก็รวยได้

เทคนิคเก็บเงินสำหรับวัยรุ่นวัยเรียน เป๋าตังค์ตุงได้แบบไม่ต้องอด

รวมไอเดียเก็บเงินที่วัยรุ่นวัยเรียนทำได้จริง ไม่ยากเลย !

ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม อยากขอทุนเพื่อส่งตัวเองเรียนต้องทำยังไง ?

แนะนำวิชาน่าเรียนที่โรงเรียนไม่ได้สอน แต่มีเรียนบนโลกออนไลน์ฟรี

รู้เท่าทันภัยทางการเงินที่อาจทำให้เราหมดตัวได้ !

เพราะชีวิตต้องใช้เงิน การลงทุนตั้งแต่วัยรุ่นจึงสำคัญ

เทคนิคการเก็บเงิน ตามแบบฉบับคนที่จนที่สุดในโลก

เทคนิคเก็บเงินไปลงทุนไม่ให้ช็อต ฉบับคนงบน้อยแบบไม่ทรมานตัวเอง

รวม ‘กองทุนรวม’ สำหรับคนงบน้อย เริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท

The Psychology of Money จิตวิทยาการเงินที่จะทำให้เรามั่งคั่งร่ำรวย !

Teen’s Life คู่มือวางแผนชีวิตสำหรับวัยรุ่น

Kakeibo เทคนิคการออมเงินที่แสนเรียบง่ายของคนญี่ปุ่น

6 บทเรียนทางการเงินที่จำเป็นสำหรับวัยรุ่น

แชร์ทริคเก็บเงินตามราศี อยากมีเงินเก็บลองทำตามนี้

 

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow