เป็นความสับสนของหลายคนว่าจะเลือกให้ลูกเรียนแบบไหน ถามลูกไหม หรือไม่ควรถาม หรือตัดสินใจให้ลูกเลย บ้างก็ว่าลูกยังคิดเองไม่ได้ บ้างก็ว่าต้องทำให้ลูกมีความสุข บ้างก็กลัวลูกเครียด บ้างก็กลัวแพง บ้างก็กลัวเรียนไม่ไหว หลายความกังวลเหล่านี้อาจเพราะว่าคุณยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับคำว่า “ห้องกิฟต์” มาลองอ่านบทความนี้ดูกัน เผื่อจะปูทางให้กับลูกได้อย่างหนักแน่นมากขึ้น
กิฟต์หรือกิฟเต็ด (Gifted) หมายถึง พรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวผู้เรียน และปัจจุบันมีสถานศึกษาเปิดห้องเรียน สำหรับนักเรียนที่มีศักยภาพและความสามารถพิเศษเพิ่มมากขึ้นตามความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนเพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิชาการและด้านอื่น ๆ ประกอบกับกฎกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาไปยังเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งเปิดโอกาสให้สถานศึกษาที่มีความพร้อมทางด้านบุคลากร และงบประมาณสามารถเปิดห้องเรียนพิเศษได้ สำหรับหลักสูตรโครงการห้องเรียนพิเศษหรือ Gifted นั้น เป็นหลักสูตรที่เน้นการสอนใน 3 รายวิชาหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ
สำหรับการเรียนการสอนจะมีการเรียนในเนื้อหาที่เกินระดับชั้นเรียนปกติ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จะแยกเนื้อหาออกเป็น วิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ซึ่งจะมีเนื้อหาของระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้หลักสูตรโครงการห้องเรียนพิเศษ (GIFTED) จะจัดการเรียนการสอนในทุกรายวิชาเป็นภาษาไทย และมีการส่งเสริมทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ โดยการเพิ่มชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษกับครูชาวต่างชาติสำหรับบางโรงเรียน
คุณต้องถามลูกประกอบกับการดูผลการเรียนลูกด้วย ถึงแม้ว่าห้องกิฟต์เป็นห้องเรียนพิเศษของนักเรียนสายวิทย์-คณิต เน้นการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แต่หากลูกเรียนได้ไม่ดี หรือแค่ปานกลาง ลูกอาจไม่พร้อมรับกับเนื้อหาที่เข้มข้น และการเรียนการสอนที่เข้มงวดก็ได้ เพราะเนื้อหาที่ลูกต้องเจอนั้นจะมากกว่าห้องเรียนปกติอย่างมาก อาจมีเนื้อหาที่มีระดับชั้นที่สูงกว่าที่เรียนอยู่ผสมปนเปมาทุกครั้งก็ได้ และที่สำคัญชั่วโมงเรียนของห้องกิฟต์ก็จะมากกว่าห้องเรียนปกติด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณอาจต้องมีข้อมูลเรื่องห้องกิฟต์ของแต่ละโรงเรียน บางโรงเรียนมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความร่วมมือกับโครงการต่าง ๆ
การแบ่งห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นห้องคิง ห้องควีน ห้องกิฟต์ หรือห้อง EP ทั้งหมดคือ ห้องของเด็กเก่ง การแบ่งห้องตามเกรดของนักเรียนนั้นเป็นวัฒนธรรมที่ยาวนานมาแล้ว แต่ทั้งหมดก็เพราะต้องการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ด้วยการนำเด็กเก่งมารวมตัวกัน และคุณจะได้เรียนรู้ว่า ลูกจะเปลี่ยนไป เช่น จากที่ลูกเป็นเด็กไม่ห่วงเกรด ลูกจะกังวลเรื่องนี้ขึ้นมาตลอดเวลา หลายคนลงเรียนพิเศษเพื่อให้ได้เจอกับติวเตอร์เก่ง ๆ ที่เชี่ยวชาญสนามการเก็งข้อสอบ และช่วยเพิ่มเทคนิคในการเรียน เรียกง่าย ๆ ว่า ลูกจะรู้สึกเอาตัวให้รอดในสังคมที่มีการแข่งขันสูง หากคุณกลัวลูกลำบาก คุณต้องห้ามลืมว่า คุณไม่ได้จะอยู่กับลูกไปตลอดชีวิต และตลอดชีวิตของลูกยังต้องดำรงอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันต่อไปได้ด้วยตัวเอง
หลายคนที่เมื่อลูกสอบติดแล้วก็รีบสละสิทธิ์แทบไม่ทัน เพราะรับกับค่าใช้จ่ายไม่ได้ ต้องยอมรับว่าค่าใช้จ่ายของห้องเรียนพิเศษจะค่อนข้างสูง เพราะบางรายวิชาและบางเนื้อหาต้องจ้างอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยมาสอนเพื่อเพิ่มศักยภาพให้เด็กอย่างเต็มที่ แต่ผู้ปกครองเด็กกิฟต์บางคนก็เคยบ่นว่า แอบแพง และรู้สึกว่าไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปสักเท่าไหร่ เนื่องจากลูกมีความสามารถสูงได้ด้วยวิธีอื่น ทั้งนี้จึงต้องถามทั้งลูก และถามงบประมาณในกระเป๋าของผู้ปกครองด้วย
หลายคนยอมรับว่า การจัดการศึกษาแตกต่างจริง เด็กกิฟต์เรียนยากและเยอะกว่าทำให้มีโอกาสสอบติดในมหาวิทยาลัยดัง ๆ มากกว่าห้องเรียนธรรมดา โดยบางโรงเรียนก็มีห้องเรียนพิเศษอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น AP = Academic Proficiency Program (โครงการเสริมสร้างศักยภาพความเป็นเลิศทางวิชาการ(วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม) TEP = Talent Enrichment Program (เน้นคณิตฯ วิทย์ฯ และภาษาอังกฤษ) EIS = English for Integrated Study (เรียนวิทย์ฯ คณิตฯ และคอมพิวเตอร์โดยใช้ตำราภาษาอังกฤษ แต่สอนโดยครูไทย) MSEP = Mathematic and Science Enrichment Program (เรียนวิทย์ฯ และคณิตฯ เป็นภาษาอังกฤษ) ESC = Enrichment Science Classroom (ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ตามแนวทาง สสวท. และ สอวน. เน้นวิทย์ฯ คณิตฯ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม) EP = English Program (เรียนเป็นภาษาอังกฤษ "เกือบ" ทุกวิชา อาจยกเว้นวิชาภาษาไทย สังคม ดนตรี ฯลฯ) MEP = Mini English Program (รายวิชาที่เรียนเป็นภาษาอังกฤษน้อยกว่า EP) IEP = Intensive English Program (เรียนบางวิชาเป็นภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติควบคู่กับครูไทย อาจเน้นการสื่อสารทั้ง ฟัง พูด อ่าน เขียน) SME = คล้าย Gifted แต่เพิ่มชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษ เป็นต้น
แต่ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจให้ลูกเรียนประถมปลายที่ห้องกิฟต์หรือไม่ สิ่งสำคัญคือ ควรสร้างสิ่งกระตุ้นให้ลูกได้ถามตัวเองว่าถนัดหรือสนใจอะไร พร้อมและยอมที่จะเหน็ดเหนื่อยเพื่อสิ่งใด เพราะปลายทางของลูกยังอีกยาวไกล และสิ่งที่ต้องใช้ตลอดไปในทุกเส้นทาง คือความชอบและความถนัดของเขา ซึ่งจะกลายเป็นตัวตนและความสามารถต่อไปนั่นเอง
ปริณุต ไชยนิชย์
ที่มาของข้อมูล https://www.tutorwa-channel.com/content/9220/post56
https://mappalearning.co/inequitable-classroom/
https://so01.tci-thaijo.org/index.php/OJED/article/view/204615/142545