การวางแผนอนาคตคือทักษะหนึ่งที่เป็นทักษะชีวิตเป็นความสามารถของบุคคลที่จะคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหา และปรับตัวให้มีพฤติกรรมที่ถูกต้อง สามารถจัดการกับความต้องการ ปัญหา และสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมกับสังคมที่มีสุขภาพดี ทักษะชีวิต จึงเป็นอีกทักษะหนึ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมที่สลับซับซ้อนของลูกวัยประถมปลายในยุคปัจจุบัน และเป็นทักษะที่จะช่วยสนับสนุน ตลอดจนช่วยในการลดประเด็นปัญหาสำคัญที่จะเข้ามาคุกคามชีวิตของลูก นอกจากนั้นยังเป็นทักษะที่จะช่วยให้ลูกสามารถปรับตนเองให้สามารถเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิผล ดังนั้นบทความนี้จะให้แนวทางการเพิ่มทักษะนี้ให้กับลูก เพื่อที่พวกเขาจะได้วางแผนอนาคตตัวเองได้เองกัน
ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเองถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากในการเพิ่มทักษะการวางแผนอนาคต ฝึกให้เขามีกิจกรรมนี้เสมอ เพื่อให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองจนเกิดความเคยชิน
การอยู่ร่วมกันในสังคมจะทำให้ลูกสามารถสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลได้ ไม่ว่าจะเป็นกับพี่น้อง ญาติ เพื่อนบ้าน เพื่อนในโรงเรียน ทั้งหมดจะสะสมเป็นทักษะการจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ลูกรักเกิดการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่นด้วย
อย่างที่กล่าวข้างต้น ความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงและท้าทาย บังคับให้ลูกต้องพยายามใช้กระบวนการคิดและการตัดสินใจที่เหมาะสม จึงจะสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครองลองพัฒนาและเสริมสร้างทักษะชีวิตให้ลูกเกิดการตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น คิด วิเคราะห์ ตัดสินใจและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มีทักษะการจัดการกับอารมณ์และความเครียด รู้จักสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น อย่าปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียวบ่อย ชวนเขาทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มทักษะนี้ให้กับเขา
เมื่อคุณตัดสินใจแทนลูกบ่อย ๆ อาจทำให้ลูกเกิดความไม่เห็นคุณค่าของความรับผิดชอบต่อตนเอง ส่งผลให้เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่นน้อยลงไปด้วย อาการที่สังเกตได้คือ ลูกจะเฉื่อย ไม่กล้าตัดสินใจ จะทำเพื่อตัวเองก็ต่อเมื่อถูกบ่นหรือดุว่า กิจกรรมที่ช่วยให้ทักษะนี้เพิ่มขึ้นคือ ให้ลูกวางตารางชีวิตตนเองด้วยตนเอง เริ่มจากชีวิตประจำวันก็ได้ แล้วลองใช้คำถามถามลูกดูว่า กิจกรรมที่วางมานี้มีประโยชน์ต่อตัวเองด้านใดบ้าง ลูกจะเกิดการเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำเพื่อตัวเองด้วยตัวเองขึ้นมาเองทันที แต่แนะนำว่าต้องทำบ่อย ๆ อย่าหยุด เพราะทักษะนี้จะหยุดชะงักหากเกิดความไม่ต่อเนื่อง
การเสริมสร้างทักษะชีวิตนักเรียนระดับประถมศึกษาขั้นพื้นฐานโดยใช้การปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม พบว่า จะทำให้ลูกมีทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น โดยในด้านการมีความภาคภูมิใจในตนเองและผู้อื่น และด้านการยุติข้อขัดแย้งในกลุ่มเพื่อนด้วยสันติวิธี จะเกิดมากที่สุด หลังจากนั้นจะทำให้ลูกค้นพบจุดเด่น จุดด้อยของตนเองและด้านค้นพบความชอบ ความถนัด และความสามารถของตนเอง
เด็กวัยนี้มีหลายข้อมูลยืนยันว่า นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษายังขาดทักษะชีวิตในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถมารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีซึ่งส่งผลต่อการพัฒนานักเรียนให้เป็นผู้ที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 8 ประการ คือ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์ สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทยและมีจิตสาธารณะ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วคุณคงรู้เหตุและผลว่า ทำไมลูกถึงยังไม่มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ และมุ่งมั่นในการทำงานให้สำเร็จ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับลูกของคุณคนเดียว แต่เกิดกับเด็กส่วนใหญ่ของประเทศเลยทีเดียว
ลองให้ลูกฝึกการคิดวิเคราะห์ เพราะองค์ประกอบที่มีความต้องการจำเป็นต่อการพัฒนาทักษะชีวิตมากที่สุด คือ องค์ประกอบเรื่องการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจและ แก้ปัญหา ด้วยวิธีการฝึกให้ลูกรู้จักวิพากษ์วิจารณ์ ตามหลักการเหตุผล และใช้ข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้องสนับสนุน ให้ลูกวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และเลือกแก้ไขปัญหาได้หลากหลายวิธีและตัดสินใจเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เหมาะสมและสร้างสรรค์ ที่สำคัญให้ลูกได้สร้างผลงานและแสดงผลงานที่เกิดจากการคิดเชื่อมโยงและจินตนาการ
ถ้าทำตามนี้มีหรือที่ลูกประถมปลายจะวางแผนอนาคตตัวเองไม่ได้ ในเมื่อทักษะชีวิตอัดแน่นเต็มเปี่ยมขนาดนี้ เป็นกำลังใจให้ผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนไทยทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้ลูกมีแนวทางการพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุข
ปริณุต ไชยนิชย์
ขอบคุณข้อมูลจาก https://so02.tci-thaijo.org/index.php/JournalGradVRU/article/download/97756/76151/244096