Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แนะนำ 9 อาชีพน่าทำสาย STEM รับมือกับโลกในยุคที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี

Posted By Plook Magazine | 31 ม.ค. 66
3,521 Views

  Favorite

ปัจจุบันอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือสาย STEM นำโด่งด้านสาขาวิชาชีพที่มีอัตราการเติบโตสูง และยังเป็นอาชีพที่ตลาดต้องการมากที่สุดในปัจจุบันไปจนถึงในอีกหลายปีข้างหน้า สำหรับใครที่ถนัดทางนี้ วันนี้เรามียกตัวอย่างอาชีพน่าสนใจมาแนะนำเผื่อน้อง ๆ หรือผู้อ่านที่กำลังสนใจเข้ามาศึกษากัน จะมีอาชีพอะไรบ้างไปดูกันเลย

 

 

1. วิศวกรระบบดาวเทียม

Aerospace นับเป็นสิ่งที่ใหม่และมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการได้ทำอะไรใหม่ ๆ หรือทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครได้ทำมาก่อน จึงมีความท้าทายอย่างมาก การบิน อวกาศ และดาวเทียมเป็นสิ่งที่ผิดพลาดไม่ได้เลย ต้องมีความมั่นใจและแม่นยำในทุกขั้นตอน เพื่อให้ทุกภารกิจที่ทำนั้นสำเร็จ และหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ล้วนมาจากเทคโนโลยีทางอวกาศทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ GPS นำทาง หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกมากมายรอบตัวเรา ก็มาจากอวกาศทั้งหมด ซึ่งเกิดจากการนำเทคโนโลยีทางอวกาศมาประยุกต์ใช้บนโลกนั่นเอง ดังนั้นอาชีพนี้จึงมีความน่าสนใจอย่างมาก และเป็นที่ต้องการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

 

มีหน้าที่อะไรบ้าง ?

วิจัย พัฒนา และควบคุมระบบดาวเทียม ให้เกิดประโยชน์แก่มนุษย์ในด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาระบบโทรคมนาคม การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการพยากรณ์อากาศ สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ หรือเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลก

 

2. นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล

เป็นอาชีพที่ต้องอาศัยทักษะการนำข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data มาใช้ประโยชน์ โดยผ่านกระบวนการเก็บและจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ วิเคราะห์ข้อมูลหารูปแบบความสัมพันธ์ของข้อมูลที่ซ่อนอยู่ โดยการสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์ เมื่อวิเคราะห์ออกมาแล้วจึงนำสิ่งเหล่านั้นมาช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจ การพัฒนาสินค้า บริการ รวมทั้งทำนายผลประกอบการที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

มีหน้าที่อะไรบ้าง ?

มีหน้าที่จัดการ ตีความ และวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากนี้ยังต้องสร้างแบบจำลองข้อมูลเพื่อวางแผนทางธุรกิจอีกด้วย ยกตัวอย่างขั้นตอนการทำงานคือ รับโจทย์จากลูกค้าและจัดการข้อมูลเบื้องต้น หลังจากนั้นจะเป็นการสรุปผลวิเคราะห์และนำเสนอทีมให้เข้าใจง่าย

 

 

3. เกษตรกรยุคใหม่

ในปัจจุบันเกษตรกรก็เป็นอีกอาชีพที่มีการพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น และมีการเรียนการสอนด้านเกษตร เรียกว่าเป็นยุคของ Smart Farmer อย่างแท้จริง เพราะเริ่มมีวิธีการทำเกษตรใหม่ ๆ มากขึ้น และเกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้แรงกายหรือใช้แรงสัตว์ในการทำเกษตรเหมือนอย่างเมื่อก่อนอีกแล้ว สิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน มีการนำโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยควบคุมแทนการจับจอบเสียมด้วยตัวเอง สั่งการได้ด้วยปลายนิ้ว ทำให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้อาชีพนี้ยังมีความน่าสนใจตรงที่เป็นงานอิสระ ไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร เป็นเจ้านายตัวเอง ได้อยู่กับธรรมชาติทุกวัน รายได้มั่นคง และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา

 

มีหน้าที่อะไรบ้าง ?

ทำเกษตรกรรมการเพาะปลูกพืช เพาะเลี้ยงปศุสัตว์และการประมง เพื่อนำไปผลิตอาหาร วัตถุดิบ เส้นใยธรรมชาติ และผลิตผลอื่น ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งการอุปโภคและบริโภค พูดง่าย ๆ ก็คือ หน้าที่ของเกษตรกรทั่วไป เพียงแต่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วยนั่นเอง

 

4. นักวิจัยวัสดุนาโน

หลายคนอาจเคยเห็นในภาพยนตร์หรือการ์ตูนต่าง ๆ ที่มักจะมีสิ่งประดิษฐ์พิเศษใหม่ ๆ ที่เราไม่คุ้นตาในโลกของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในความเป็นจริง อาจจะสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยนาโนเทคโนโลยี

 

มีหน้าที่อะไรบ้าง ?

หน้าที่หลักคือ วิจัย คิดค้น และพัฒนานาโนเทคโนโลยี เพื่อสร้างวัสดุที่มีคุณสมบัติใหม่ ให้สามารถนำไปใช้งานได้ดียิ่งขึ้น เช่น ไส้กรองนาโนจากเซรามิกเคลือบเงิน สำหรับเครื่องผลิตน้ำดื่มสะอาด หรือเส้นใยซิลเวอร์นาโนที่สามารถยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ได้ เป็นต้น

 

 

5. วิศวกรระบบราง

ตอนนี้รถไฟฟ้าได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเดินทางมากขึ้น ทำให้เราเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย และประหยัดเวลา ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างรถไฟฟ้าก็คือ วิศวกรระบบราง ซึ่งกว่าจะได้รถไฟฟ้าหนึ่งขบวนจะต้องประกอบไปด้วยงานด้านวิศวกรรมหลายแขนงด้วยกัน

 

มีหน้าที่อะไรบ้าง ?

โดยทั่วไปหน้าที่หลัก ๆ คือ ออกแบบ ก่อสร้าง การติดตั้ง การเปิดให้บริการ งานซ่อมบำรุง และเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านรถไฟทั้งหมด

 

6. วิศวกรเสียง

ถ้าพูดถึงวิศวกรรมด้านเสียง คนส่วนมากก็จะนึกถึงงานด้านอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งจริง ๆ แล้ว ยังมีสายงานที่กว้างกว่านั้น ตั้งแต่การทำงานเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์, การควบคุมเสียงในงานแสดงสด, งานด้านการโฆษณาและมัลติมีเดีย และการออกอากาศ โดยในการทำงานนั้น วิศวกรเสียงจะต้องทำงานร่วมกับโปรดิวเซอร์หรือผู้กำกับ และในบางกรณีบทบาทของวิศวกรเสียงก็จะผสมรวมไปเป็นหนึ่งในบทบาทของโปรดิวเซอร์ด้วย อาชีพนี้จึงมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้งานอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังถือว่าเป็นอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเสียงมีส่วนสำคัญและต้องมีอยู่ในทุก ๆ งาน

 

มีหน้าที่อะไรบ้าง ?

หากแบ่งจำแนกออกไปในแต่ละตำแหน่งของงาน ก็จะถูกแบ่งออกไปหลากหลายหน้าที่ ทั้งในส่วนของ Live Sound Engineer, Studio Sound Engineer, Broadcasting Sound Engineer โดยในแต่ละส่วนก็จะมีแบ่งตำแหน่งและหน้าที่ออกไปอีก โดยรวม ๆ แล้ว หน้าที่ก็จะมีตั้งแต่มิกซ์เสียง ควบคุมเสียง ปรับแต่งเสียง จัดการระบบเสียง ออกแบบเสียง และวางตำแหน่งลำโพง บันทึกเสียง เป็นต้น

 

 

7. วิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

ปัจจุบันหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทและหน้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเรามากขึ้น เช่น นักวิทยาศาสตร์ใช้หุ่นยนต์เพื่อทำการทดลอง หมอใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยผ่าตัด แม้กระทั่งในบ้านหลายบ้านก็มีหุ่นยนต์ทำความสะอาด ดังนั้นอาชีพวิศวกรหุ่นยนต์จึงกลายเป็นอาชีพที่มาแรงมากสำหรับยุคนี้ และสามารถทำเงินได้เยอะอีกด้วย

 

มีหน้าที่อะไรบ้าง ?

ดูแลระบบหุ่นยนต์ เพื่อพัฒนาโปรแกรมที่เน้นการสร้างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม โดยเริ่มตั้งแต่ออกแบบโครงสร้างอิเล็กทรอนิกส์และโปรแกรม รวมถึงพัฒนาโปรแกรมที่มีอยู่และแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น

 

8. นักออกแบบผลิตภัณฑ์

อาชีพนี้แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนักออกแบบ แต่ต้องทำงานภายใต้เงื่อนไขที่หลากหลาย และท้าทาย เพื่อให้การใช้ชีวิตของมนุษย์สะดวกสบายมากขึ้น จึงเรียกได้ว่าเป็นนักออกแบบที่ช่วยแก้ปัญหาชีวิตคนให้ดีขึ้น

 

มีหน้าที่อะไรบ้าง ?

คอยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าอุตสาหกรรมแต่ละประเภท ตามรูปแบบของงานหรือโจทย์ที่ได้รับ โดยต้องคำนึงถึงการใช้งาน ความสวยงาม ต้นทุนการผลิต เวลา รวมทั้งกรรมวิธีการผลิตในระบบอุตสาหกรรมที่เป็นไปได้จริง

 

 

9. นักปรับปรุงพันธุ์พืช

เป็นอาชีพที่ต้องศึกษา วิจัย และพัฒนาพันธุ์พืช ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ทนทานต่อน้ำท่วมฉับพลัน เราก็ต้องศึกษาและวิจัยสายพันธุ์ข้าวที่สามารถต้านทานต่ออุทกภัยที่จะเกิดขึ้นได้

 

มีหน้าที่อะไรบ้าง ?

เปลี่ยนแปลงและปรับปรุงส่วนประกอบทางพันธุกรรมของพืช เพื่อให้ได้พันธุ์พืชที่มีลักษณะคุณสมบัติที่ดีกว่าพันธุ์เดิม สามารถเพิ่มผลผลิต ต้านทานต่อโรคและแมลง มีคุณภาพทางด้านโภชนาการตรงตามความต้องการทางการเกษตร อุตสาหกรรมและความต้องการของผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ ยังมีตำแหน่งงานสาย STEM อีกมากที่ยังว่างอยู่ และรอให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน เพราะเป็นสายอาชีพที่จำเป็นจะต้องพัฒนางานต่อออกไปเรื่อย ๆ เนื่องจากยุคสมัยที่ก้าวไกลมากขึ้น เทคโนโลยีต่าง ๆ ก็เข้ามามีบทบาทกับเราในชีวิตประจำวันมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีกำลังในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ต่อไปเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยในอนาคต

 

 

แหล่งข้อมูล

- รู้จักอาชีพ | True ปลูกปัญญา
- สำรวจอาชีพ | We Space
- 20 อาชีพด้าน STEM มาแรงรับประเทศไทยยุค 4.0
- แนะนำ 10 อาชีพ สายงานทางด้านสะเต็ม (STEM) ในยุค 4.0
- วิถีเกษตรกรยุคใหม่ ก้าวหน้าพารวย
- นักวิจัยและพัฒนาวัสดุนาโน
- Sound Engineer (วิศวกรเสียง) เริ่มต้นอย่างไร? ต้องมีความรู้มาก่อนไหม? หรือต้องเรียนอะไรมาเป็นพิเศษบ้าง
- วิศวกรเสียง
- นักปรับปรุงพันธุ์พืช
- เปิดเส้นทางอาชีพวิศวกรระบบราง
- มารู้จักกับ วิศวกรพัฒนาหุ่นยนต์ อาชีพใหม่มาแรง
- “นักออกแบบผลิตภัณฑ์” อาชีพสุดเจ๋งของสายงานออกแบบ
- วิศวกรดาวเทียม

 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow