Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

“เงินเฟ้อ” คืออะไร ? ทำไมอะไร ๆ ก็แพงไปหมด จะปรับตัวยังไงดี ?

Posted By Plook Magazine | 30 ม.ค. 66
691 Views

  Favorite

ในยุคที่ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น หลายคนคงได้ยินคำว่า ‘เงินเฟ้อ’ กันบ่อยครั้ง หลายคนอาจพอทราบว่าเงินเฟ้อคือการที่ข้าวของแพง แต่อาจจะยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความหมายของเงินเฟ้อ หรือสาเหตุที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อว่ามาจากอะไร มีผลกระทบอย่างไรบ้าง และเราควรปรับตัวกับสภาวะนี้อย่างไร บทความนี้จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับสภาวะเงินเฟ้อแบบที่เข้าใจง่ายมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับสภาวะนี้กัน

 

ทำความรู้จักกับ ‘เงินเฟ้อ’ (Inflation) คืออะไร ?

เงินเฟ้อ (Inflation) คือ สภาวะเศรษฐกิจที่ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาอย่างต่อเนื่อง หรือหากพิจารณาจากค่าของเงินคือภาวะเศรษฐกิจที่ค่าเงินมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้การซื้อของชิ้นเดิมต้องใช้เงินมากขึ้นกว่าเดิม หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การที่ของแพงขึ้นนั่นเอง

 

โดยปกติเงินเฟ้อตามตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้จะอยู่ที่ 2-3% แต่ 2-3% ที่เราเห็นนั้นเป็นแค่ค่าเฉลี่ยเท่านั้น ดังนั้นเงินเฟ้อที่เราเจอกันจริง ๆ ในชีวิตประจำวัน จะสูงกว่าปกติ 3-4% แน่นอน ยกตัวอย่างเงินเฟ้อในชีวิตประจำวันที่เห็นได้ชัด ๆ หากเราลองมองย้อนกลับไปสัก 20-30 ปีที่แล้ว ก๋วยเตี๋ยวชามนึง ตกชามละประมาณ 10 บาทเท่านั้น แต่ในปัจจุบันก๋วยเตี๋ยวราคาขั้นต่ำอยู่ที่ชามละประมาณ 50-60 บาท อาจจะมีบางร้านชามละ 40 บาท แต่ก็ส่วนน้อยมาก หาแทบไม่ได้แล้ว จะเห็นว่าราคาเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อนหลายเท่าเลย นี่เรายังไม่พูดถึงในอนาคตที่ยังไงราคาก็ต้องเพิ่มขึ้นสูงกว่านี้อีกแน่นอน

 

 

เงินเฟ้อ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

โดยทั่วไปสาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อจะแบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ

1. เกิดจากการที่ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น หรือเรียกว่า Demand – Pull Inflation ประกอบกับสินค้าและบริการนั้น ๆ ไม่เพียงพอ จึงทำให้ผู้ขายต้องปรับราคาสินค้าและบริการนั้นให้สูงขึ้น

2. เกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น หรือเรียกว่า Cost – Push Inflation ก็คือ หากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ก็จะทำให้ผู้ผลิตต้องเลือกที่จะปรับราคาสินค้าและบริการนั้นให้สูงขึ้นตามไปด้วย

สรุปง่าย ๆ ก็คือ เงินเฟ้อเกิดจากต้นทุนสินค้าแพงขึ้น และความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นด้วยนั่นเอง

 

การเกิดสภาวะเงินเฟ้อส่งผลต่อเราอย่างไรบ้าง

อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงมองว่าการเกิดภาวะเงินเฟ้อเป็นเรื่องไม่ดี แต่จริง ๆ แล้วระบบเศรษฐกิจที่มีเงินเฟ้ออ่อน ๆ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะการที่มีเงินเฟ้อนั้นแปลว่าราคาสินค้าจะต้องแพงขึ้น ทำให้เจ้าของกิจการได้กำไรเพิ่มมากขึ้น เมื่อกำไรเพิ่มก็จะทำให้เจ้าของกิจการกล้าลงทุนขยายกิจการ และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้ผู้คนมีงานทำมากขึ้น พอผู้คนมีงานทำ มีรายได้ ก็จะมีเงินออกมาใช้จ่าย วนเวียนเป็นวัฏจักรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นข้อดีของการที่ระบบเศรษฐกิจมีเงินเฟ้อก็คือ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและเติบโตขึ้นได้

 

 

แต่ถ้าเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นมากเกินไป เราจะเรียกว่า ‘Hyper Inflation’ จะทำให้คนซื้อของน้อยลง เจ้าของกิจการก็จะขาดรายได้ ส่งผลให้ต้องลดขนาดกิจการลงและไล่คนออกได้ หรือหากสภาวะเงินเฟ้อต่ำมากจนติดลบ เราจะเรียกว่า ‘เงินฝืด’ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่อยากจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ของขายไม่ได้จึงต้องลดราคาสินค้า เจ้าของกิจการก็จะได้กำไรน้อยลงไปด้วย ถ้าหนักขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจจะถึงขั้นต้องลดขนาดกิจการลงและปิดตัวไปในที่สุด

 

ควรรับมือและปรับตัวอย่างไรในสภาวะเงินเฟ้อ ?

หากภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบกับเรามากมายขนาดนี้ เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ให้ได้ จึงต้องมีการเตรียมวางแผนรับมือไว้ เพื่อให้เราได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

 

1. ออมเงิน

การออมเงินเป็นการเตรียมเงินสำรองได้ดีที่สุด เพราะเมื่อเกิดสภาวะเงินเฟ้อส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น หากเรามีเงินออม เราก็จะสามารถซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็นและเพียงพอต่อความต้องการของเราได้โดยไม่เป็นหนี้

 

2. วางแผนการเงิน

การวางแผนการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตของเรามีความมั่นคงมากขึ้น เราควรจะรู้รายจ่ายของตัวเองว่าควรจ่ายส่วนไหนบ้าง ส่วนไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้พอดีกับเงินเดือน และควรลดต้นทุนของชีวิตประจำวันด้วย เช่น การทำอาหารกินเองจะประหยัดมากกว่าการซื้อกินเป็นมื้อ ๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเดินทาง ซึ่งในปัจจุบันราคาน้ำมันสูงขึ้นมาก ดังนั้นการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะอาจจะช่วยประหยัดเงินได้มากกว่า นอกจากนี้หากเราสามารถจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายได้ก็จะดีมาก เพราะจะช่วยให้เราคำนวณเงินและควบคุมรายจ่ายได้ดียิ่งขึ้น

 

 

3. หาแหล่งรายได้เพิ่ม

ในยุคนี้ไม่ควรมีรายได้เพียงทางเดียว ควรจะมีอย่างน้อย 2-3 ช่องทาง เพราะหากฉุกเฉินรายได้ช่องทางหลักของเราไม่เพียงพอ อย่างน้อยเราก็จะยังมีรายได้จากช่องทางอื่นมาสำรอง ดังนั้นการหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

 

แม้ว่าสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันจะยังไม่อยู่ในระดับที่รุนแรงมาก หรือส่งผลกระทบกับชีวิตของใครหลาย ๆ คน แต่การเตรียมตัววางแผนการเงินเอาไว้ล่วงหน้า ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีและควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะในอนาคตเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง หรือเงินเฟ้อในอนาคตจะสูงมากขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่ถ้าเรามีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายอยู่ตลอดเวลา ก็จะช่วยลดผลกระทบทางการเงินของเราไปได้มากเลยทีเดียว

 

 

แหล่งข้อมูล

- เงินเฟ้อ คืออะไร ? ส่งผลกระทบอะไรต่อเราบ้าง

- เงินเฟ้อ คืออะไร? มานี่ มีตังค์ จะบอกให้...

- “เงินเฟ้อ” คืออะไร สรุปคำอธิบายภาวะเงินเฟ้อแบบเข้าใจง่าย

- เงินเฟ้อ ทำทุกอย่างแพง รับมืออย่างไรดี?

- เงินเฟ้อ

 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow