ปัญหาของเด็กวัยใกล้จบป. 6 ที่คุณเองคงต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อลูกประถมปลายคือการเปลี่ยนแปลงจากระดับประถมศึกษาสู่ระดับมัธยมศึกษา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เรียกว่า “รอยเชื่อมต่อ” (Transition) เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เด็ก ๆ จะต้องผ่านและต้องยอมรับให้ได้ ความยากอยู่ที่การปรับตัวของเด็ก โดยในช่วงรอยเชื่อมต่อนี้มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคน หากพวกเขาสามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงในช่วงรอยเชื่อมต่อ และเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ เด็กก็จะสามารถเรียนรู้และได้รับการพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ แต่ก่อนอื่นคุณอาจต้องเข้าใจคำว่า รอยเชื่อมต่อทางการศึกษาก่อน เจ้ารอยเชื่อมนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านจากระดับการศึกษาหนึ่งสู่ระดับการศึกษาอีกขั้นหนึ่งที่มีความแตกต่างกันทั้งสภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์ทางสังคม และการจัดการเรียนการสอน จึงเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของลูกวัยใกล้จบ ป. 6 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหลายคนด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูก คนทั้งครอบครัว และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มาดู 6 สาเหตุของปัญหานี้กัน
สองระดับนี้มีการจัดการเรียนการสอนที่ต่างกัน การจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาในโรงเรียนไทยตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนที่ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 นั้น ระบุว่า ระดับประถมศึกษา (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6) เป็นช่วงแรกของการศึกษาภาคบังคับ มุ่งเน้นทักษะพื้นฐานด้าน การอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ ทักษะการคิดพื้นฐาน การติดต่อสื่อสาร กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและพื้นฐานความเป็นมนุษย์ โดยเน้นการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ส่วนการจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นนั้น หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ระบุว่า “มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้สำรวจความถนัด และความสนใจของตนเอง ส่งเสริมการพัฒนาบุคลิกภาพส่วนตน มีทักษะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดสร้างสรรค์ และคิดแก้ปัญหา มีทักษะในการดำเนินชีวิต มีทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความสมดุลทั้งด้านความรู้ความคิด ตลอดจนใช้เป็นพื้นฐานในการ ประกอบวิชาชีพ”
ลูกมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ เมื่อเปลี่ยนจากวัยประถมศึกษาเข้าสู่มัธยมศึกษาก็เป็นอีกการเปลี่ยนแปลงหนึ่ง สองวัยนี้มีพัฒนาการแต่ละด้านที่แตกต่างกัน เช่น พัฒนาการทางบุคลิกภาพ ที่อธิบายโดย อิริคสัน (Erikson) ได้ระบุว่า เด็กในช่วงวัย 6 - 12 ปี หรือในวัยประถมศึกษานั้น จะเป็นวัยที่เริ่มเข้าเรียน และต้องการเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น มีพัฒนาการทางด้านความขยันขันแข็ง โดยพยายามคิดทำ คิดผลิตสิ่งต่าง ๆ ให้เหมือนผู้ใหญ่ด้วยการทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจ ถ้าเขาได้รับคำชมเชย ก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดกำลังใจ มีความมานะพยายามมากขึ้น ส่วนในวัย 12 - 17 ปี หรือวัยมัธยมศึกษา เป็นช่วงที่เด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่น และเริ่มพัฒนาเอกลักษณ์ของตนเองว่าตนคือใคร ถ้าค้นหาตนเองได้ จะแสดงบทบาทของตนเองได้อย่างเหมาะสม แต่ถ้าค้นหาเอกลักษณ์ของตน ไม่พบจะเกิดความสับสนและแสดงบทบาทที่ไม่เหมาะสมได้ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คุณจะพอมองที่มาของปัญหาในตัวลูกออกอย่างทะลุปรุโปร่งเลยล่ะ
วัยประถมศึกษาเป็นช่วงที่กำลังเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง เริ่มต่อยอดจากความคิดรวบยอดต่าง ๆ ที่ลูกได้เรียนรู้ แต่ทางด้านจิตใจของลูกนั้นบิดามารดายังมีอิทธิพลมาก แต่เมื่อขยับไปในระดับมัธยมศึกษา (12 - 18 ปี) ลูกจะเริ่มมีการพัฒนาทั้งด้านร่างกายและอารมณ์จนถึงขั้นสูงสุด ความแตกต่างระหว่างเพศ เห็นได้ชัดเจน เด็กบางคนมีพัฒนาการนี้ตั้งแต่ป. 6 เลย สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้มากที่สุดในช่วงนี้ คือทางด้านอารมณ์และสังคมไม่ใช่ทางสติปัญญา นักเรียนชายและนักเรียนหญิงต่างก็เรียนรู้วิธีที่จะดึงดูดความสนใจของเพื่อนต่างเพศ และจุดเชื่อมตรงนี้ก็คือวัยที่จะเรียนวิธีการทำงานร่วมกับเพื่อนที่มีความสนใจแบบเดียวกัน ความสนใจในวิชาชีพนับว่า เป็นความสนใจที่มีมากเป็นพิเศษสำหรับเด็กวัยนี้ ดังนั้นคุณควรเตรียมกิจกรรมแนวเน้นวิชาชีพให้ลูกด้วยจะดีมาก
ระดับประถมศึกษาเป็นเสมือนรากฐานของการศึกษา ในขณะที่ระดับมัธยมศึกษาเป็นเหมือนลำต้นที่เด็กต้องค่อย ๆ ต่อลำต้นที่ช่วยในการตัดสินใจเลือกแนวทางปฏิบัติในอนาคตในการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ ดังนั้นระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาจึงเป็นรอยเชื่อมต่อที่สำคัญ เพราะนอกจากที่ลูกจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยรุ่น ต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของลูกแล้ว ลูกยังต้องประสบกับความแตกต่างด้านอื่น ๆ ในการเรียน
ข้อนี้อ่านแล้วคุณจะเมตตาสงสารลูกของคุณมากขึ้นเลย ต้องขอบอกว่าเป็นผลกระทบต่อเด็กวัยนี้โดยตรง ทั้งในด้านการเรียนรู้ การดำเนินชีวิตในโรงเรียน รวมทั้งสภาพจิตใจของเขาด้วย ลูกของคุณจะต้องเผชิญปัญหา 3 ด้าน ได้แก่ ปัญหาด้านการเรียนรู้ ปัญหาด้านการเข้าสังคม และปัญหาด้านสภาพจิตใจ นักการศึกษามีความกังวลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงนี้ที่มักเกิดขึ้น เมื่อเด็กที่ต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงจากโรงเรียนประถมศึกษาไปยังมัธยมศึกษา เช่น การประเมินคุณค่าในตนเอง (Self - esteem) ที่สูญเสียไปการแข่งขันสูงขึ้น ความสนใจในโรงเรียนที่ลดลงเพราะคิดถึงโรงเรียนเก่า คะแนนสอบที่ตกต่ำเพราะยังปรับตัวไม่ได้ และการก่อปัญหาที่เพิ่มขึ้น เหตุผลของความยากในช่วงรอยต่อ คือ วัยนี้ ลูกมักประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย (Physical) และจิตใจ (Psychological) ไปพร้อม ๆ กัน ในขณะเดียวกันก็ต้องลาจากเพื่อน ลาจากโรงเรียนเดิม และลาจากความเป็นเด็กของตนเอง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เองที่ทำให้ลูกของคุณมีการประเมินคุณค่าในตนเองต่ำลง
คุณต้องช่วยลูกของคุณแล้วล่ะ ด้วยการทำให้ลูกได้เตรียมพร้อมกับการขึ้นสู่ระดับมัธยมศึกษา เพราะเมื่อเทียบกับประถมศึกษาแล้ว จะมีความเข้มข้นของเนื้อหาที่เรียนมากกว่า และมีภาระงานที่ได้รับมอบหมายที่มากกว่า โดยครูจะให้ความช่วยเหลือและดูแลน้อยลง ซึ่งการเรียนทั้งสองระดับดูผิวเผินค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกันแต่ในความเป็นจริงแล้ว ลูกจำเป็นต้องปรับตัวมากพอสมควรเลยทีเดียว ดังนั้นทำให้เขาชินกับการต้องช่วยเหลือและดูแลตัวเอง ด้วยการวางแผนกิจกรรมที่ต้องช่วยเหลือตัวเองเพิ่มมากขึ้น และจากที่คุณคอยทำให้ก็เปลี่ยนเป็นคอยโค้ชให้กับลูก เพื่อให้เขารู้หลักในการดูแลตัวเองด้วยตัวเอง
ปริณุต ไชยนิชย์
อาจารย์ประจำสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (RMUTSB : RUS)
ข้อมูลอ้างอิงจากงานวิจัย https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JMND/article/download/254987/170476/919540
Erikson, E. H. (1994). Identity and the life cycle. WW Norton.