ถ้าผู้ปกครองตั้งมั่นวางแผนอนาคตของลูกไว้ว่า อยากให้ลูกได้เรียนสายวิทย์ แต่สิ่งที่พบคือ ลูกของเรากลับอ่อนคณิตตั้งแต่ประถมปลาย บอกเลยว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ช่วยลูกในตอนนี้ แล้วใช้วิธีบังคับหรือชักจูงให้ลูกเลือกเรียนแผนวิทย์ ในอนาคตอาจจะทำให้ลูกใช้ชีวิตอย่างยากลำบากมาก เมื่อเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น จะเกิดกรณีถ้าไม่เปลี่ยนสายเรียนก็อาจต้องซิ่ว ซิ่วแล้วซิ่วอีก ดังนั้นจึงอยากชวนคุณมาลองใช้สูตรต่าง ๆ นี้ดู เผื่อจะช่วยให้ลูกเรียนวิชาคณิตศาสตร์ได้ดีขึ้น สรุปมาให้ 9 สูตร ไปดูกันเลย
การทำแบบฝึกหัดและโจทย์เยอะ ๆ จะช่วยให้ลูกตรวจสอบตนเองได้ การทบทวนผ่านแบบทดสอบที่หลากหลายในแต่ละบท จะทำให้ลูกเข้าใจเนื้อหาให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น เพราะการที่ลูกอ่อนคณิต เพราะลูกอ่อนประสบการณ์การมองโจทย์ให้ออก เรียนมาน้อยเกินไป ยังไม่ครบทุกแนวโจทย์สำคัญ โจทย์มีหลายแนว กลับไปกลับมา ต้องพร้อมสุด ลูกต้องทำบ่อย ๆ การเจอโจทย์ที่มากพอ จะทำให้ลูกจัดระเบียบความคิดของตัวเองได้ การเห็นตัวอย่าง การฝึกทำการบ้านที่มากพอ จะทำให้ลูก ทำถูก ทำได้ และมั่นใจขึ้น สิ่งสำคัญต้องฝึกให้คุ้นชิน
ถ้าไม่เข้าใจไม่กล้ายกมือถามครูในห้อง ก็ไปศึกษาในยูทูป โดยคุณต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกยูทูปเบอร์ที่ลูกชอบ จากนั้นก็ให้ลูกใช้เวลากับสิ่งที่ไม่เข้าใจดู คุณไม่ควรสงสัยหรือตั้งคำถามในใจว่า เอ…. แล้วทำไมในห้องเรียน ลูกถึงไม่เข้าใจสิ่งที่ครูสอน คำถามนี้ดูจะไม่ยุติธรรมกับลูกคุณเลย รู้ไหม เพราะคำตอบมันอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ลูกไม่สามารถควบคุมได้ อย่างเช่น รูปแบบการสอนของครู สภาพแวดล้อมตอนเรียน อารมณ์ของครูและผู้เรียน สิ่งอำนวยความสะดวกระหว่างการเรียน สื่อการสอน เป็นต้น ดังนั้นการพึ่งพาคลิปสอนจากครูที่ลูกชอบ ก็น่าจะเป็นวิธีที่ใช้ได้อีกหนึ่งวิธี
เด็กสมัยนี้โตไวกว่าที่คุณคิด บางทีเขาคิดหลายเรื่องมากกว่าที่คุณรู้ ดังนั้นลองหาวิธีให้ลูกตัดบางเรื่องที่ไม่สำคัญออกจากความคิดดูบ้าง แต่คุณต้องระวังไม่ใช้คำพูดสั่งให้ลูกตัดความคิด ของอย่างนี้สั่งกันไม่ได้ แต่คุณควรใช้ทักษะการสังเกตลูกของคุณ หากรู้แล้วว่าเขากำลังคิดมากเรื่องอื่นจนพาลมาถึงการเรียน ให้คุณหากิจกรรมอื่นหรือสิ่งอื่นให้ลูกทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ โดยไม่ให้เขารู้ตัว เช่น การชวนลูกออกไปซื้อของเข้าบ้านด้วยกัน การเล่นกีฬากับลูก การทำกิจกรรมงานบ้านด้วยกัน เป็นต้น
แนะนำให้ลูกนั่งหน้า แต่วิธีนี้ก็ยากถ้าเพื่อนแก๊งค์เขานั่งหลังกันหมด แต่การนั่งหน้ามีข้อดีหลายอย่าง คุณอาจแนะนำลูกว่า เวลานั่งเรียนเราอาจไม่จำเป็นต้องนั่งกับเพื่อนก็ได้ เพราะควรให้ลูกโฟกัสที่ครูผู้สอน แต่ตอนทำกิจกรรมหรืองานอื่น ค่อยกลับไปนั่งกับเพื่อนก็ได้ แต่คำแนะนำข้อนี้ ถ้าลูกไม่ทำตาม คุณก็ไม่ต้องบังคับเขา เพราะนั่งหน้าสุดหรือหลังสุด หากเขามีใจกับเรื่องเรียน อย่างไรก็เรียนได้ดีได้อยู่ดี
ความจริงหลายคนเลยอาจกำลังคิดว่า หนังสือเรียนลูกเยอะเพียงพอแล้ว แต่คุณเชื่อไหม ไม่มีอะไรพอหรอก ถ้าลูกยังไม่เข้าใจสิ่งที่เรียน การชี้แนะที่ตรงจุดจากหนังสือหรือเอกสารการเรียนรู้อื่นที่เหมาะสม อาจทำให้ลูกสามารถเพิ่มคะแนนคณิตศาสตร์ได้ และก็ช่วยเพิ่มโอกาสให้สอบติดเช่นกัน หนังสือหรือเอกสารอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นเหมือนแว่นที่ทำให้ลูกมองเห็นเอกลักษณ์ของโจทย์หรือแบบฝึกหัดแต่ละข้อมากยิ่งขึ้น เพราะส่วนใหญ่ถ้าเป็นวิชาคณิตศาสตร์ ก็จะใช้วิธีเอาข้อสอบหลาย ๆ ที่มายำรวมกัน การได้เห็นข้อสอบที่ไม่เคยเห็น จะทำให้ลูกเจาะโจทย์ที่เคยไม่เข้าใจให้เข้าใจได้อย่างไม่ยากเลย
ควรจับเวลา อันนี้สำคัญมาก เพราะคณิตศาสตร์ถ้าทำไปชิลไป หลายคนเลยที่เข้าใจโจทย์ แต่เป็นคนเก่งไม่ได้ ก็ยังถูกจัดกลุ่มให้เป็นหนึ่งในคนที่อยู่กลุ่มอ่อนเหมือนเดิม สาเหตุเพราะ “ทำไม่ทัน” ดังนั้น ควรให้ลูกจับเวลา ข้อหนึ่งใช้เวลาเท่าไร และจับให้เท่ากันทุกข้อ เนื่องจากโจทย์คณิตศาสตร์ยากไม่เท่ากันทุกข้อก็จริง แต่เวลาที่ใช้กลับให้เท่ากันทุกข้อ อ่านถึงข้อนี้ คุณอาจคิดต่อไปว่า ฉันแค่อยากให้ลูกไม่อ่อนคณิต และเรียนสายวิทย์ได้อย่างมีความสุข แต่การให้ทำโจทย์จับเวลา ดูบีบคั้นลูก สร้างความทุกข์ยากเกินไปหรือเปล่า คำตอบคือ คุณกำลังมาถูกทางแล้วต่างหาก เพราะสำหรับคณิตศาสตร์ ทำถูกแต่ทำไม่ทันเวลา ก็ไม่ต่างอะไรกับการตอบผิด
สูตรที่ว่า ไม่มีในห้องเรียน ดังนั้นต้องท่องจากคลิปสอนในยูทูป คำถามของคุณคือ สูตรลัดช่วยอะไร มาดูคำตอบกัน จริง ๆ แล้วการจะเข้าใจคณิตศาสตร์ได้ อย่างที่บอกไปว่า ต้องตะลุยทำโจทย์ให้เยอะ ๆ ซึ่งในชีวิตจริง โจทย์บางข้อ ถ้าใช้เวลาทำวิธีจริง ๆ น่าจะเกิน 8 นาที บางคนข้ามไปตั้ง 15 นาทีก็มี (นั่งเพลินไปรึเปล่านั่น) แต่ถ้าใช้สูตรลัด บางข้อสามารถช่วยให้ลูกของคุณทำเสร็จได้ภายในเวลา 1 นาที ดังนั้นลองช่วยลูกหาข้อสอบ speed test มาทำดู
ข้ามไปก่อน อย่าเสียเวลา คุณต้องหัดให้ลูกของคุณพลิกแพลงอย่างไม่ตรงไปตรงมาดูบ้าง บางข้อกินเวลา เปลืองสมองและพลังงานเยอะมาก เจอปุ๊บให้ข้ามไปก่อน เพราะมันคือโจทย์ที่สิ้นเปลือง ไม่คุ้มค่าที่จะต้องเสียเวลา
ทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้น ถ้าลูกของคุณไม่ถูกสร้างให้มีวินัย แล้ววินัยคืออย่างไร วินัยคือการสร้างลักษณะนิสัยให้ลูกได้ทำงานอย่างมีระบบ มีระเบียบ รอบคอบ มีความรับผิดชอบ นอกจากนี้การเปิดโอกาสให้ลูกได้ปภิปรายกับคุณอย่างอิสระ โดยคุณมีหน้าที่ควบคุมและกำหนดทิศทางการอภิปรายของลูก คุณแค่ให้คำแนะนำ กระตุ้นให้ลูกกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น และเหตุผลของตนเอง จะช่วยให้ลูกได้ตรวจสอบความรู้คณิตศาสตร์เดิมและแก้ไขความรู้เดิมนั้นให้ถูกต้องได้เช่นกัน ดังนั้นข้อนี้อยากให้คุณสร้างวินัยให้ลูกด้วยการจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนกับลูกหลังจากลูกตะลุยโจทย์คณิตศาสตร์มาอย่างเข้มข้น แต่การจัดอภิปรายที่มีแค่คุณกับลูก ต้องระวังไม่ให้เครียด ใส่มุขตลกและไม่สร้างกฎเกณฑ์ การปล่อยให้ลูกพูดอย่างอิสระไม่มีผิดไม่มีถูก จะทำให้ลูกเห็นคุณค่าของสิ่งที่มุ่งทำไปด้วยตัวเอง
ทั้ง 9 สูตรมีหลักอยู่ว่า ควรสู้ไปด้วยกันกับลูกดีกว่าให้เขาสู้เพียงลำพัง
ปริณุต ไชยนิชย์
อาจารย์ประจำสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (RMUTSB : RUS)
ข้อมูลอ้างอิงจากประสบการณ์ของกรณีศึกษาผ่าน
อยากเก่งคณิตศาสตร์ ต้องทำยังไง https://pantip.com/topic/37707692
5 เทคนิคการทำโจทย์คณิต ให้ทำได้ ทำถูก ทำทัน https://www.supk.com/Article_News/detail/85/10
https://so01.tci-thaijo.org/index.php/OJED/article/view/189478