Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ครูสร้างคอนเทนต์นักเรียนลงสื่อออนไลน์ได้หรือไม่

Posted By รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์ | 24 ม.ค. 66
4,259 Views

  Favorite

          การสร้างคอนเทนต์ยุคใหม่นี้กลายมาเป็นกระแสสำคัญบนโลกออนไลน์ ถือเป็นงานสร้างสรรค์อีกประเภทหนึ่ง โดยนำเรื่องราวในชีวิตประจำวัน การทำงาน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ประสบการณ์จริงที่พบที่ที่เห็นมากับตัวเอง  นำมาเล่าเรื่องโพสต์ขึ้นโลกออนไลน์  ครั้งนี้ขอจับประเด็นเฉพาะ “คุณครู” ในหลายระดับการศึกษา ครูทันสมัยรับยุคดิจิทัล โดยนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนให้สนุกสนานนอกตำราเรียน 

 

 

ถึงแม้ใครไม่ได้เล่นติ๊กต่อก หรือไม่ได้เสพสื่อออนไลน์โดยตรง มักจะพบหัวข้อข่าวขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์ หรือเป็นประเด็นการสนทนาประมาณนี้เป็นกระแสอยู่ตลอดเวลา

ครูสุดช็อก!! พบการบ้านที่เด็กวาดเป็นภาพ... 

นักเรียนทำแบบนี้ ครูจะไปต่อยังไง ... 

สุดตะลึง  นี่คือสิ่งที่นักเรียนทำก่อนครูเข้าห้อง ... 

    
          คอนเทนต์เพื่อการศึกษาบวกความสนุกสนานมีวงจรรูปแบบนี้ ครูสังเกตเรื่องราวในโรงเรียนที่เกิดประจำวันแล้วโพสต์ขึ้น ด้วยความเอ็นดู มีกระแสคนกดไลค์กดแชร์ ก็ต้องมีโพสต์ขึ้นทุกวัน ทำให้เกิดเป็นความนิยมในหมู่ครูขยายวงมากขึ้น เรื่องราวของครูนักเรียนเพื่อนำมาสร้างเป็นคลิปคอนเทต์ก็เริ่มขยายวงมากขึ้น

1. การบ้าน อันนี้นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะในแง่ลายมือ หรือการเขียนตอบของนักเรียนที่ “เกินความคาดหมายของคนดู”   

2. การเรียนในห้อง 

3. พฤติกรรมเด็กนักเรียนเวลาพัก  

4. เวลากินอาหาร หรือเหตุการณ์อื่น ๆ เอามาโพสต์ บางคนโพสต์เป็นร้อยคลิป ไม่แจ้งเกิดเลยหรือเพิ่งมาแจ้งเกิดเพียงเพราะคลิปเดียวเท่านั้น 

แล้วสื่อหลายสำนักก็ไปส่องเป็นแมวมองในติ๊กต่อก เอาเนื้อหาของครูมาขยายต่อ พาดหัวแบบ “คลิกเบท”  (Clickbait)  ไม่ยอมบอกว่า เรื่องน่ารัก เรื่องสุดฮา เรื่องน่าตกใจ ฯลฯ หรือสิ่งที่นักเรียนทำและครูเอามาโพสต์นั้นคืออะไร  ต้องคลิกเข้ามาอ่านเนื้อข่าวนั้นก่อน เช่น  ครูเห็นการบ้านแล้วผงะ สุดช็อค เพราะ... 

เมื่อคอนเทนต์เกิดเป็นไวรัล ทำให้กลายเป็นประเด็นคำถามถึงความเหมาะสมในแง่กฎหมายว่า ครูสร้างคอนเทนต์โดยมีนักเรียนเป็นส่วนหนึ่งของคอนเทนต์  ผิดกฎหมาย PDPA หรือไม่  อย่างไรจะผิด อย่างไรไม่ผิด

 

          ตามกฎหมาย PDPA มีหลักการ ห้ามเก็บรวบรวมใช้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลผู้อื่น เว้นแต่จะขอความยินยอม ดังนั้น ต้องมาดูว่า การถ่ายคลิป โพสต์ลงโซเชียล มีข้อมูลระบุตัวเด็กหรือไม่เป็นประเด็นแรกก่อน  เพราะถ้าไม่มีข้อมูลระบุตัวเด็กได้ ก็ไม่อยู่ในนิยามของ ข้อมูลส่วนบุคคล และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้เลย ดังนั้น

คลิป “ลายมือน่าฉงน”  “รูปวาดสุดฮา”  “ระบายสีสุดงง”  ถ้าไม่มีความเชื่อมโยงกับชื่อหรือข้อมูลระบุตัวนักเรียนได้ ก็ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลและไม่เกี่ยวข้องกับ PDPA  

คลิป นักเรียนลุกขึ้นเต้นหลังห้องขณะครูสอน  ถ่ายมาจากด้านหลัง ไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงว่านักเรียนที่เต้นเป็นใครก็ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลและไม่เกี่ยวข้องกับ PDPA  

 

ลำดับถัดไป  ถ้าคลิปหรือคอนเทนต์นั้น มีข้อมูลระบุตัวเด็กนักเรียน เช่น สมุดการบ้านมีชื่อนามสกุล ถ่ายคลิปตอนนักเรียนเข้ามาสารภาพการทำผิดระเบียบ คลิปเต้นหน้าเสาธงแบบเปิดหน้า ฯลฯ  จะเกี่ยวข้องกับ ข้อมูลส่วนบุคคล   แต่ก็ต้องมาดูว่า  การเก็บรวบรวมและเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้น เข้าข้อยกเว้น “เพื่อประโยชน์ส่วนตน” มาตรา 4 (1) หรือไม่ อย่างที่ได้เคยกล่าวถึงมาตรานี้ไปแล้วว่า  การโพสต์แชร์กินเที่ยวทั่วไป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประกอบการหรือธุรกิจ ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้  

 

แต่การโพสต์ของครู มีลักษณะแตกต่างออกไป ขึ้นกับสภาพแวดล้อม  ในแง่หนึ่ง ครูอาจบอกว่า การโพสต์คลิปเรื่องราวต่าง ๆ เป็นเรื่องส่วนตัว โพสต์ในสื่อโซเชียลส่วนตัว แต่ในอีกแง่หนึ่ง การตรวจการบ้านเด็กแล้วเอามาโพสต์ทำคอนเทนต์ น่ารัก ขำขัน เป็นการทำในงาน และสืบเนื่องจากการทำในงาน เพราะเป็นหน้าที่หลักของครูในการสอน การตรวจการบ้าน และเพราะคุณเป็นครูที่ทำหน้าที่นั้นจึงมีสิทธิได้เห็นข้อสอบ หรือการบ้านนักเรียน 

 

ถ้าเปรียบเทียบกับภาคธุรกิจ  พนักงานบริษัทเอาข้อมูลลูกค้าของบริษัทมาเผยแพร่ออนไลน์ มันอาจจะเป็นลูกค้าที่ใช้บริการทำพฤติกรรมน่ารัก ขำขัน แต่ก็นำมาสู่ความเสี่ยงตาม PDPA ของบริษัทด้วย 

ครูเอาข้อมูลนักเรียนซึ่งเป็นผู้รับบริการการศึกษาของโรงเรียนมาเผยแพร่ โดยหลักการจึงไม่แตกต่างกัน ทั้งบริษัทเอกชนและโรงเรียน ต่างเป็น ผู้ควบคุมข้อมูลตามกฎหมาย PDPA ซึ่งจะต้องมีหน้าที่

1. ดูแลข้อมูลให้ปลอดภัย ไม่ให้มีการนำมาเผยแพร่โดยไม่มีสิทธิ  

2. ก่อนจะนำข้อมูลลูกค้าหรือผู้ใช้บริการมาเผยแพร่ ต้องขอความยินยอมหรือเข้าเหตุที่ได้รับการยกเว้นต่างๆที่กฎหมายระบุ

 

และในกรณีนักเรียน ถ้ายังเป็นผู้เยาว์ ไม่บรรลุนิติภาวะ การจะขอความยินยอมก็ต้องขอจากผู้ปกครองด้วยตามมาตรา 20 ของ PDPA ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ของโรงเรียนต้องดำเนินการ

มันมีความแตกต่างกันกับกรณี ถ้าเลิกงานหรือนอกเวลาสอนแล้ว ครูรู้จักกับนักเรียน ไปกินข้าวเลี้ยงหลังสอบเสร็จ ถ้าในส่วนนี้ครูทำคอนเทนต์มีรูปนักเรียนไปโพสต์ อาจอ้าง “ประโยชน์ส่วนตัว” ตามมาตรา 4 (1) และไม่เกี่ยวข้องกับ PDPA 

 

แต่ความซับซ้อนในสังคมออนไลน์คือ คน ๆ หนึ่ง เล่นหลายบทบาท ครูบางคนที่เป็นดาวติ๊กต่อกหรือดาวโซเชียลแพลตฟอร์มอื่น มีหลายสถานะ  ตัวอย่าง ครูแพมมี่ (นามสมมุติ)  มีติ๊กต่อก ชื่อ แพมมี่   ถ่ายรีวิวสินค้า รับรีวิวเสื้อผ้า อาหาร ของที่ระลึกดาราเกาหลี  ฯลฯ มีไอจีชื่อเดียวกัน  โพสต์ภาพกินเที่ยว และใส่เสื้อผ้าจากสปอนเซอร์ ถือขวดครีม และขึ้นแคปชั่นว่า รับงานติดต่อได้ แต่ในติ๊กต่อกและไอจี ก็มีสตอรี่ เรื่องราว ชีวิตการทำงานเป็นครู  คลิปนักเรียนสุดน่ารัก การบ้านสุดฉงน ปะปนอยู่ด้วย กรณีแบบนี้ต้องแยกแยะกิจกรรม  

 

- ในส่วนของการกินเที่ยวส่วนตัว อาจได้รับการยกเว้นจาก PDPA ตามมาตรา 4 (1)

- ในส่วนการรีวิวสินค้า รับงานถ่ายภาพ หรือขายครีม แม้ไม่ได้มีสังกัดหรือเอเจนซี่ใดๆ รับงานอิสระ ก็เป็นการกระทำเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชีพ  ไม่เข้ากรณี “ประโยชน์ส่วนตัว” ตามมาตรา 4 (1)  

- ในส่วนคอนเทนต์ที่มีนักเรียน ตีความได้หลายมุมมอง ในแง่หนึ่ง หากมองในภาพรวมแล้ว คลิปเหล่านั้นแม้ไม่ได้ขายหรือได้รายได้อะไร แต่เป็นส่วนหนึ่งหรืออาจเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เพจหรือช่องรายการของตน มียอดวิวเข้ามา บางคนโพสต์รีวิวสินค้าเป็นร้อยคลิปไม่มีคนดู  พอลงคลิปเด็กนักเรียน ชาวโซเชียลตามมาชมความน่ารักเรื่อย ๆ กลายเป็นดูเนื้อหาอื่นหรือกลายเป็นลูกค้าซื้อสินค้าไปด้วย  

ดังนั้นการทำคอนเทนต์แบบนี้จึงต้องอยู่ภายใต้ PDPA ก็คือ ถ้ามีข้อมูลระบุตัวเด็ก จะต้องขอความยินยอม นอกจากนี้ ยังต้องทำการอื่น ๆ เช่น แจ้งรายละเอียดว่าจะเอาข้อมูลไปทำอะไร โพสต์ที่ไหน นานแค่ไหน ฯลฯ 

 

          นอกจากนั้น ในส่วนของโรงเรียน ซึ่งเป็นต้นสังกัดของครู ก็เป็นผู้ควบคุมข้อมูลและมีหน้าที่ดูแลข้อมูลนักเรียนไม่ให้ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โรงเรียนเองจึงต้องมีมาตรการไม่ให้ครูหรือคนอื่นใด เอาภาพหรือเรื่องราวระบุตัวนักเรียนในขณะใช้บริการการศึกษาหรือขณะเรียนอยู่ในโรงเรียนไปเผยแพร่หรือใช้ประโยชน์ที่เกินเลยจากวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา ไม่อย่างนั้นโรงเรียนก็มีความเสี่ยงต่อกฎหมาย PDPA ด้วยเช่นกัน PDPA มีขอบเขตแตกต่างจากกฎหมายอื่น เช่น พรบ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ได้ดูที่ มีข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ ขอความยินยอมหรือไม่ แต่ดูว่า มีข้อมูล “ปลอม เท็จ ลามก” หรือไม่ ตามมาตรา 14 

 

ตัวอย่างสมมุติ  ครูซื้อของมากินและเอามาแจกเผื่อแผ่ให้เด็กนักเรียน แล้วทำคอนเทนค์  ลักษณะแบบนี้  กระแสโซเชียลมักจะ แห่ชื่นชม แต่เกิดผิดคาด ชาวโซเชียล แห่ตำหนิว่าเอาของกินแล้วให้เด็ก อาจเสี่ยงด้านสุขอนามัย  พอกระแสตีกลับ ครูมาแถลงว่าซื้อของกินมาหลายชิ้น ชิ้นที่ให้เด็กเป็นชิ้นที่ซื้อใหม่ ไม่ใช่ของกินเหลือ ลักษณะแบบนี้ ถ้าตอนครูโพสต์ภาพ ไม่เห็นหน้าหรือชื่อเด็ก หรือ เห็นแต่ขอความยินยอมจากผู้ปกครอง และโรงเรียนมีนโยบายให้ทำได้โดยแจ้งรายละเอียดแก่ผู้ปกครองแล้ว  ก็จะไม่ผิดตาม PDPA 

แต่ถ้าต่อมาหลักฐานปรากฎว่า ความจริงเป็นของกินเหลือแบบนี้ การที่ครูมาโพสต์ว่าเป็นของใหม่ จะเข้าข่าย นำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบและเสี่ยงผิด พรบ.คอมฯ ซึ่งโทษหนักกว่า PDPA เสียอีก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับหลักฐานว่าความจริงเป็นอย่างไร 

 

“การสร้างคอนเทนต์” ของคุณครูที่เป็นดาวโซเชียล หรือแค่เพิ่มความสนุกสนานในชั้นเรียนการสอนของตนบนโลกออนไลน์นั้นก็พึงระมัดระวัง

การมีนักเรียนเป็นผู้แสดง หรือเข้าฉากประกอบ  เพราะว่าความดังอาจมาพร้อมกับความเสี่ยงตามกฎหมายได้ 

 

 

รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์

                            สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล ม.เกษมบัณฑิต

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์
  • 0 Followers
  • Follow