ต้อนรับคนที่พร้อมรับมือกับการเกษียณ สูงวัยใจเกินร้อย แต่เงินต้องเกินล้าน!! ไม่อย่างนั้นชีวิตในวัยเกษียณของคุณไม่ราบรื่นอย่างแน่นอน ว่าแต่ว่า เกินล้านทำอย่างไร ในเมื่อตอนนี้งานที่ทำ มันไม่ได้สร้างเงินล้านได้เลย วันนี้มีข้อมูลดี ๆ มาช่วยวางแผนการเงินให้คนที่ลุกขึ้นมาเตรียมความพร้อมเพื่อเตรียมตัวเกษียณอย่างมีคุณภาพ เรามาเริ่มต้นไปพร้อมกันเลยค่ะ
ก่อนอื่นเรามาเริ่มต้นแบ่งเงินออกเป็น 3 ก้อนก่อน แล้วในแต่ละก้อน ให้กำหนดเป้าหมายวงเงินที่ต้องการเอาไว้ อย่าคิดในใจนะคะ ให้เขียนใส่กระดาษไว้เลย ลงมือแบ่งกันเลยค่ะ
- ก้อนที่ 1 เงินที่ใช้หลังเกษียณ ต้องการมีเท่าไหร่
- ก้อนที่ 2 เงินออมเพื่อวัยเกษียณ ที่มีอยู่แล้ว มีเท่าไหร่
- ก้อนที่ 3 เงินที่ต้องออมเพิ่ม ยังขาดอีกเท่าไหร่
เจอแค่ข้อแรก ของการแบ่งเงิน หลายคนอาจจะเริ่มมึนแล้วว่า เราจะต้องใส่ตัวเลขลงไปเท่าไหร่ ไม่ต้องเครียดค่ะ เรามีวิธีวางแผนเงินในแต่ละก้อนมาฝากกัน
คำตอบนี้ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการออกแบบชีวิตของตนในช่วงหลังเกษียณ ว่าต้องการชีวิตระดับไหน บางคนอาจจะขอแค่พอมีพอใช้ บางคนขอแบบคล่องตัวมีเงินใช้ไม่ขาดมือ บางคนยกระดับกว่านั้นคือขอมีชีวิตหรูหรา อยากกิน อยากเที่ยว อยากใช้ให้สะใจ หรือบางคนขอมีใช้แบบพร้อมแบ่งปันช่วยเหลือและเป็นมรดกให้ลูกหลานได้ เมื่อเป้าหมายต่างกัน แผนการเงินของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น ควรวางแผนให้ครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิต รวมถึงเพื่อตอบสนองเป้าหมายที่วางไว้ตามสไตล์ของแต่ละคน โดยเราสามารถคำนวณได้คร่าว ๆ ดังนี้
ถ้าต้องการมีชีวิตแบบพอเพียงใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท ไปอีกประมาณ 20 ปีหลังเกษียณ
เงินที่ต้องเตรียมคือ (20,000 x 12) x 20 = 4,800,000 บาท ย้ำว่านี่แค่แบบพอกินพอใช้นะ ซึ่งอีก 20 ปี ก็ไม่แน่ใจว่าเท่านี้มันพอกินพอใช้ได้จริงหรือไม่ ดังนั้นตั้งเกิน ๆ ไว้ บวกเงินเฟ้อไว้ด้วยก็น่าจะลดความเสี่ยงได้มากกว่า และถ้าใครไม่ได้ต้องการแค่พอมีพอใช้ ก็เพิ่มวงเงินของตัวเองเข้าไปให้ครอบคลุมความต้องการที่ออกแบบไว้
เมื่อรู้วงเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณแล้ว ที่นี้ถึงเวลาย้อนกลับมาดูตัวเอง มาเข้าสู่โลกความจริงกันได้เลย โดยเริ่มตรวจสอบเงินออมจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน ว่ามีอยู่เท่าไหร่ ช่องทางการได้เงินมาจากแหล่งใดบ้าง ซึ่งแหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณมีทั้งระบบการออมภาคบังคับ เช่น กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือทางเลือกการออมภาคสมัครใจ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินฝากประจำระยะยาว เป็นต้น
เมื่อได้จำนวนเงินทั้งสองก้อนข้างต้นแล้ว ขั้นต่อมาคือการนำเงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณหักลบกับเงินออมที่มีในปัจจุบัน ที่นี้ล่ะจะทำให้รู้ทันทีเลยว่า สิ่งที่ฝันกับความจริงที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร เราจะได้คำตอบว่า “ยังขาดเงินอีกเท่าไหร่” ที่นี้ลองมาคำนวณเบื้องต้น เช่น ถ้าต้องการใช้เงินหลังเกษียณ 4,800,000 บาท ตรวจสอบแล้วเงินออมที่มีอยู่มีเพียง 800,000 บาท ยังต้องออมเพิ่มอีก 4,000,000 บาท วินาทีแรก อาจเครียดว่าจะหาเงินก้อนนี้มาจากไหน แต่เครียดไปก็เท่านั้น ยังไงเงินก็ไม่งอกออกมาจากความเครียดได้อยู่ดี สิ่งที่ต้องทำคือ นำตัวเลขที่ยังขาดอยู่นั้นมาเป็นเป้าหมายในการปรับแผนการออมให้เหมาะสม โดยการเพิ่มเงินออมให้มากขึ้น หรือเร่งวางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
แผนการออมจะบรรลุเป้าหมาย และเป็นจริงได้ต้องทำบัญชีรายได้และค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม เพื่อให้มีเงินออมในแต่ละเดือนมากขึ้น จากนั้นก็ลงมือออมเงินหรือลงทุนอย่างต่อเนื่องและมีวินัย ที่สำคัญต้องเลือกช่องทางการลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ ทั้งนี้ แผนการออมเพื่อวางแผนเกษียณนั้น ยิ่งทำได้เกินกว่าเป้าหมายก็จะยิ่งดีเพื่อความสุขสบายในบั้นปลายชีวิต และที่สำคัญคือ ยิ่งเริ่มต้นเร็วได้เท่าไหร่ ยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อทุกท่านได้วางเป้าหมายให้เงินของเราแล้ว ที่นี้มาลงมือปฏิบัติการเตรียมตัวเกษียณกันเลย
ข้อมูลอายุที่ต้องการคือ อายุปัจจุบันของเราในวันนี้ วันที่ท่านกำลังอ่านบทความนี้เลยค่ะ ต่อมาคืออายุเกษียณวางแผนว่าจะเกษียณกันตอนไหน อายุเท่าไหร่ ลองนึกภาพกันไว้เลยค่ะ และสุดท้าย คือ อายุขัย อันนี้ไม่ใช่การแช่งตัวเองนะคะ แต่มีไว้เพื่อให้เราใช้ประเมินจำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังจากเกษียณ เช่น คนส่วนใหญ่เกษียณตอนอายุ 60 ปี ส่วนอายุขัยเรื่องนี้ต้องใช้ข้อมูลทางสถิติมาช่วยค่ะ ไม่ใช่ให้เรามานั่งเดาเอาเอง โดยสามารถใช้ตัวอย่างข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล เช่นเมื่อปี 2564 ได้ประมาณการอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย ผู้ชายเท่ากับ 73.5 ปี ผู้หญิงเท่ากับ 80.5 ปี
ลองถามตัวเองดูค่ะว่า ชีวิตหลังเกษียณ เราจะใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ สมมติว่าปัจจุบันอายุ 30 ปี จะเกษียณอายุตอน 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึง 80 ปี ตอนเกษียณอยากใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายพิเศษต่าง ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ท่องเที่ยว เปลี่ยนรถยนต์ และซ่อมแซมบ้าน) บวกอัตราเงินเฟ้อประมาณ 3% ต่อปี ทำให้เงิน 20,000 บาทในวันนี้ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะกลายเป็น 48,545 บาท ทำให้เมื่ออายุ 60 ปี จะต้องมีเงินเกษียณประมาณ 11 ล้านบาท และต้องวางแผนไว้ว่าหลังเกษียณจะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% ต่อปี และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3% ต่อปี เพื่อจะใช้จนถึงอายุ 80 ปี
สำรวจบุญเก่าทางการเงินที่เราทำไว้กันหน่อยค่า นั่นคือการเช็กเงินออมที่เรามีอยู่ในบัญชีหรือการออมเงินในรูปแบบต่าง ๆ ยกตัวอย่าง อายุ 30 ปี เงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือน คาดว่าเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 3% ตอนนี้มีเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 100,000 บาท ในแต่ละเดือนมีอัตราเงินสะสมและอัตราเงินสมทบจากที่ทำงานที่ 3% ต่อเดือน และประมาณการว่าจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6% ต่อปี เมื่ออายุ 60 ปี จะมีเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด 3 ล้านบาท
เปรียบเทียบเงินที่จะใช้หลังเกษียณกับเงินออมเพื่อเกษียณว่าเพียงพอหรือไม่ หากไม่พอต้องหาวิธี เช่น ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมาเก็บออมหรือซื้อ RMF เพิ่มเพื่อให้ได้เงินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากตัวอย่าง หากต้องมีเงินเกษียณ 11 ล้านบาท หักเงินออมเกษียณที่น่าจะได้เมื่ออายุ 60 ปี จำนวน 3 ล้านบาทในขั้นตอนที่ 3 ก็จะพบว่ายังขาดเงินอีก 8 ล้านบาท
เห็นยอดเงินแล้ว หลายคนบอกไม่น่าจะพอกับเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นจำเป็นแล้วล่ะค่ะ ที่เราจะต้องหาวิธีการออมเงินเพิ่ม ยกตัวอย่างเป็นอยากได้เงินออมเพิ่มอีกสัก 8 ล้านบาท โดยลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6% ต่อปี เราจะต้องออมเงินเพิ่มสำหรับเกษียณ 8,500 บาทต่อเดือน ซึ่งในปัจจุบันมีสินทรัพย์ทางการเงินให้เราเลือกลงทุนหลายอย่าง เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ และกองทุนรวม ที่เราต้องทำความเข้าใจทางเลือกในการลงทุนอย่างรอบคอบ จากนั้นแบ่งเงินไปลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
เพิ่มการรู้เท่าทันด้วย เทคนิค 4 รู้ สู้ชีวิตหลังเกษียณ
เมื่อวันเกษียณมาถึง การงานการเงินของเราจะเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด ดังนั้นวันนี้ต้องใช้เทคนิคเพื่อช่วยทำให้เรามองชีวิตหลังเกษียณให้ออก บอกให้ถูกว่า การเงินของเราในช่วงเวลานั้น จะเป็นอย่างไร เพื่อทำให้เราสามารถวางแผนสู่การเกษียณอย่างมีความสุข โดยประเมินสถานการณ์หลังเกษียณของตนเอง ดังนี้
รู้รายรับต่อเดือน แหล่งที่มา และความมั่นคงของรายรับ
อาชีพแต่ละอาชีพย่อมมีวิธีการได้รายได้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจะต้องรู้ว่าแหล่งที่มาของรายได้เราหลังเกษียณจะเป็นแบบไหน เช่น ข้าราชการ จะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ และเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) พนักงานบริษัทเอกชนจะได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนประกันสังคม เงินออมที่ได้เก็บหอมรอมริบมาตลอดชีวิตการทำงาน บวกกับผลประโยชน์จากการนำเงินไปลงทุน
รู้รายจ่ายต่อเดือน เทียบกับรายรับที่คาดว่าจะได้รับ
ส่วนใหญ่แล้ว ค่าใช้จ่ายประจำหลังเกษียณมักจะลดลง ซึ่งประเมินกันว่า ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณจะประมาณ 70% - 80% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือนก่อนเกษียณ เช่น หากก่อนเกษียณมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 30,000 บาท ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะประมาณ 21,000 – 24,000 บาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมเงินเฟ้อ และค่ารักษาพยาบาลที่อาจเพิ่มขึ้นตามวัย
ดังนั้น การเริ่มต้นบันทึกรายรับ-รายจ่ายเสียตั้งแต่วันนี้ จะช่วยให้คุณสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ในปัจจุบัน มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ และค่าใช้จ่ายรายการใดจะลดลงหรือหมดไป เมื่อเกษียณแล้ว
รู้หลักประกันความมั่นคงทางการเงิน
เช่น สวัสดิการที่เบิกได้ และความคุ้มครองของประกันสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันว่าหากเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันจะไม่กระทบกับจำนวนเงินที่จำเป็นสำหรับใช้จ่ายประจำ หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ครอบคลุมเพียงพอ ควรพิจารณาออมหรือซื้อประกันเพิ่มเติม
รู้ปัจจัยที่อาจมีผลต่อรายรับ-รายจ่าย
อาทิ อัตราเงินเฟ้อ ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อาจกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ ลูกหลานที่อาจนำพาความเดือดเนื้อร้อนใจมาให้ เป็นต้น
เมื่อเราเข้าใจแนวคิดต่าง ๆ แล้ว ที่นี้ในขั้นตอนการวางแผนทางการเงินนั้น หนีไม่พ้นเรื่องของสูตรทางการเงิน เพื่อช่วยในการประมาณจำนวนเงินที่ต้องมีเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ โดยแบ่งออกเป็น 2 แนวคิด คือ
1. การใช้เงินออมสำหรับใช้จ่าย
2. การใช้ดอกผลของเงินออมและเงินลงทุนสำหรับใช้จ่าย
หรืออาจใช้ทั้ง 2 แนวคิดผสมกันก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น หากประเมินว่าหลังเกษียณจะใช้จ่ายเดือนละ 25,000 บาท และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนอายุ 80 ปี ดังนั้น
จำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณ = 25,000 บาท x 12 เดือน x 20 ปีหลังเกษียณ
= 6,000,000 บาท
กรณีนี้จะเป็นการใช้เงินต้นให้หมดไปเรื่อย ๆ
ยกตัวอย่างเช่น หากประเมินว่าหลังเกษียณจะใช้จ่ายเดือนละ 25,000 บาท และคาดว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของเงินออมและเงินลงทุนช่วงหลังเกษียณอยู่ที่ 6% ต่อปี ดังนั้น
จำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณ = (25,000 บาท x 12 เดือน) /6% ต่อปี
= 5,000,000 บาท
กรณีนี้ เงินต้นจะยังคงอยู่ให้ออกดอกออกผลต่อไป
- ควรคงเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้ประมาณ 2 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพื่อให้มีสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน
- นำเงินบางส่วนไปแบ่งฝากประจำในระยะต่าง ๆ เช่น 3 เดือน 6 เดือนหรือ 1 ปี โดยเลือกให้มีระยะเวลาครบกำหนดเหลื่อมกัน จะเป็นการบริหารสภาพคล่องและเพิ่มผลตอบแทนให้มากกว่าเงินฝากออมทรัพย์
- ควรนำเงินส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ในระยะสั้นไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่แน่นอนในระยะปานกลาง-ยาว
- ทางเลือกอื่น ๆ ในการลงทุน
- ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง เช่น สลากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ หุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่น่าลงทุนดังนี้ สถาบันจัดอันดับเครดิตนานาชาติ สถาบันจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ
- สำหรับผู้ที่มีความชำนาญในการลงทุนและยอมรับความเสี่ยงได้ อาจแบ่งเงินบางส่วน (สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินออมและเงินลงทุนทั้งหมด) ไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือสินทรัพย์ที่เปิดโอกาสรับผลตอบแทนสูงขึ้น แต่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น หุ้น และทองคำ เป็นต้น
- ควรติดตามข่าวสารและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจมีผลกระทบต่อผลตอบแทนของเงินออมและเงินลงทุนของคุณอย่างสม่ำเสมอ ทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเงิน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเงิน รวมถึงภัยทางการเงิน ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อปกป้องเงินทองของตนเองที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาตลอดให้พ้นจากมิจฉาชีพด้วย
- ควรมีวินัยในการใช้จ่ายเพื่อให้มีเงินเพียงพอจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ปีแรกของการเกษียณ ยังไม่ควรใช้จ่ายเกินกว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ได้รับ
- ต้องวางแผนมรดกด้วย เพื่อให้การส่งต่อทรัพย์สินสู่คนรุ่นถัดไปเป็นไปอย่างเรียบร้อยและตรงตามเจตนารมณ์ของคุณ อย่าให้ทรัพย์สินกลายเป็นสาเหตุให้ลูกหลานต้องหมางใจกัน โดยคุณต้องสำรวจและรวบรวมว่ามีทรัพย์สินอะไรบ้าง แต่ละอย่างมูลค่าเท่าใด คุณต้องการให้แบ่งทรัพย์สินระหว่างทายาทอย่างไร ต้องการยกทรัพย์สินใดให้ผู้ใด นอกจากนี้ ต้องพยายามสะสางหนี้สิน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อกองมรดกที่ตั้งใจจะเก็บไว้ให้ลูกหลานด้วย
ไม่ว่าวันนี้คุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ “เวลากำลังนับถอยหลัง” อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปแบบไม่เกิดรายได้ ไม่เกิดการออม ไม่เกิดการลงทุน และไม่เกิดประโยชน์ เริ่มตั้งแต่วันนี้ ททท. ทำ ทัน ที เพราะถ้าไม่เริ่มต้น แล้วมัวแต่ใช้ชีวิตไปวัน ๆ เผลอแป๊บเดียว อ้าว! นี่เราจะเกษียณพรุ่งนี้แล้วเหรอ!!! เปิดมือถือเช็กแอปการเงิน กรี๊ดดด!!! มีเงินอยู่แค่นี้ เกษียณตอนนี้จะรอดไหม และที่แน่นอนเลยคือ คงไม่สามารถวางแผนรับมือกับการเงินหลังเกษียณได้ทัน หากอยากเกษียณอย่าง so cool so cute รีบลงมือวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตหลังเกษียณกันได้เลยค่ะ
นัททยา
ที่มาข้อมูล
เกษียณสุขได้ ด้วยเงิน 3 ก้อน https://investory.set.or.th/news/details/4466346a-9104-46d6-b2c2-475bbb9853ea
5 ขั้นสู่วันเกษียณสุข https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256402FinancialWisdom.aspx
การวางแผนเกษียณ https://www.1213.or.th/th/moneymgt/retire/Pages/retire.aspx