โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) เมื่อสารนี้มีปริมาณลดลงจะส่งผลต่อผู้ป่วยทางด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้เข้ารับการรักษา อาจรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเอง คิดสั้นฆ่าตัวตายได้
โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้กับพวกเราทุกคน แต่ผู้ที่ประสบกับปัจจัยและสิ่งกระตุ้นเหล่านี้มีแนวโน้มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าได้มาก
- ความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง
- ความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
- เหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง
- ความเครียดสะสม
- ความเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง, โรคหลอดเลือดหัวใจ
- ความเสี่ยงทางพันธุกรรม คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า
- แอลกอฮอล์และยาเสพติด
หากสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ สังเกตอาการต่อไปนี้ หากมีอาการอย่างน้อย 5 อย่างหรือมากกว่าติดต่อกันสองสัปดาห์ และมีอาการเกือบตลอดทั้งวัน ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า
1. มีอารมณ์ซึมเศร้า หดหู่ (เด็กหรือวัยรุ่นอาจมีอาการหงุดหงิด โกรธง่าย)
2. เบื่อ ไม่สนใจหรือไม่มีความสุขในการทำสิ่งที่เคยชอบและกิจกรรมต่างๆ
3. เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป
4. นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรือบางรายอาจเพลียและอยากนอนทั้งวัน
5. ทำอะไรช้าลง กระสับกระส่าย
6. เหนื่อยง่ายไม่มีแรง
7. รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า
8. ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง
9. คิดเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง มีความคิดอยากตาย
หากประเมินอาการแล้วคิดว่าเข้าข่ายเป็นซึมเศร้า ควรรีบพบจิตแพทย์ทันที ซึ่งการรักษาหลักๆ จะทำโดยการพูดคุยให้คำปรึกษา ทำจิตบำบัด และการให้ยากลุ่มแก้ซึมเศร้าสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็น ซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ยิ่งรับการรักษาเร็วอาการจะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
1. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นไปได้ควรทานผักและผลไม้ทุกวัน อาหารที่ดีมีประโยชน์จะช่วยให้จิตใจปลอดโปร่งและมีความสุข อีกทั้งการขาดสารอาหารบางชนิดอาจทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้ เช่น โอเมก้า 3, วิตามินอี ซี ดี, ธาตุเหล็ก เป็นต้น
2. ออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากสุขภาพกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นอีกด้วย อาจออกกำลังกายง่ายๆ ด้วยการเดินเล่นหรือยืดเส้นยืดสายอยู่บ้าน
3. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ตื่นขึ้นมาจะรู้สึกสดชื่น ไม่ง่วงเพลีย
4. ทำสมาธิ เพื่อผ่อนคลายจิตใจ จากงานวิจัยจำนวนมากพบว่าการทำสมาธิช่วยให้สมองผ่อนคลาย ลดความเครียดได้
5. ฝึกคิดบวก คนเรารู้สึกแย่กันได้ แต่สิ่งสำคัญคืออย่าหมกมุ่นอยู่กับความทุกข์ ฝึกเปลี่ยนมุมมองและคิดบวกกับตัวเองอยู่เสมอ เพื่อสร้างจิตใจที่เข้มแข็ง
ความเชื่อ : ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่การเจ็บป่วย
ความจริง : ภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาสุขภาพเช่นเดียวกับ โรคมะเร็ง, โรคหัวใจ เป็นต้น โรคซึมเศร้า หรือโรคประสาทซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ
ความเชื่อ : ภาวะซึมเศร้าเป็นผลมาจากเหตุการณ์เศร้าในชีวิต
ความจริง : แน่นอนว่าการประสบกับเหตุการณ์แย่ๆ ในชีวิต เช่น ตกงาน, อกหักหรือเลิกกับคนรัก, การเสียชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รัก เป็นต้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าได้ แต่ผู้ป่วยซึมเศร้ามักรู้สึกไม่มีความสุขโดยไม่มีเหตุผล แม้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่คนอื่นมองว่าดีหรือสุขสบายก็ตาม เพราะสาเหตุหลักๆ ของโรคซึมเศร้าเนื่องมาจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง เช่น สารเซโรโทนิน (Serotonin), สารโดปามีน (Dopamine) และสารนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุม ร่วมด้วยกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ดังได้กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม ความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาต้านอาการซึมเศร้าเพื่อปรับระดับสารเคมีเหล่านี้ให้สมดุล และทำให้อารมณ์ของผู้ป่วยคงที่
ความเชื่อ : ภาวะซึมเศร้าก็เหมือนกับความเศร้า
ความจริง : ความเศร้าและภาวะซึมเศร้าไม่เหมือนกัน ความรู้สึกเศร้าจากบางเรื่องนั้นจะค่อยๆจางลงและดีขึ้นในสองสามวันหรือไม่กี่สัปดาห์ ในทางกลับกัน หากเป็นภาวะซึมเศร้า จะยังคงมีอาการหดหู่ต่อเนื่องไปอีกหลายปีหากไม่ได้รับการรักษา นอกจากนี้ผู้ป่วยซึมเศร้าไม่ได้แค่เศร้าและหดหู่เท่านั้น แต่ยังมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น แยกตัวออกออกจากสังคม ขาดแรงจูงใจ เหนื่อยล้า สิ้นหวัง วิตกกังวล คิดว่าตัวเองไร้ค่า และถึงขั้นรุนแรงคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย ความเศร้าสามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไปด้วยความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด แต่โรคซึมเศร้าต้องได้รับการช่วยเหลือและรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการบำบัด ยา การสนับสนุน เพื่อให้มีอาการดีขึ้น
ความเชื่อ : โรคซึมเศร้ามักเกิดขึ้นกับคนอ่อนแอ
ความจริง : ไม่ว่าจะคนร่างกายอ่อนแอหรือแข็งแรงก็เป็นโรคซึมเศร้าได้ หลายคนยังเข้าใจผิดและตัดสินผู้ป่วยซึมเศร้าว่าเป็นคนเกียจคร้าน เรียกร้องความสนใจ อ่อนแอ ในความเป็นจริงแล้วพลังของผู้ป่วยซึมเศร้าต้องหมดไปกับการต่อสู้กับสารเคมีในสมองทุกวัน ดังนั้นโรคซึมเศร้าไม่ได้เกี่ยวกับอุปนิสัยหรือความแข็งแรงของพวกเขาเลย
ความเชื่อ : โรคซึมเศร้าไม่เกิดในเด็ก
ความจริง : โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ไม่ว่าจะรวยหรือจน ทุกคนเป็นกันได้ โรคซึมเศร้าในเด็กมักมีอาการเหมือนซึมเศร้าในผู้ใหญ่ แต่อาจมีลักษณะเฉพาะที่ต่างออกไปเช่น ผู้ใหญ่จะแยกตัวออกจากสังคม แต่เด็กๆ จะพยายามเข้าเพื่อน, ผู้ใหญ่รู้สึกท้อแท้สิ้นหวังอยู่คนเดียว แต่เด็กจะร้องไห้ออกมา เป็นต้น
ความเชื่อ : ยาต้านอาการซึมเศร้าทำให้บุคลิกเปลี่ยนไป
ความจริง : ยาต้านอาการซึมเศร้าช่วยสร้างสมดุลของสารเคมีในสมองเพื่อให้มันทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น ผู้ที่ได้รับยาส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเหมือนเป็นคนละคน แต่เป็นไปในทางที่ดี มันจะช่วยให้การทำงานต่างๆ ดีขึ้นและรู้สึกเป็นปกติมากขึ้น แต่บางคนอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านซึมเศร้า หรือใช้ยาไม่ได้ผล มีอาการแย่ลง ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนตัวยาให้เหมาะกับตัวเอง
ความเชื่อ : ผู้ป่วยซึมเศร้าต้องกินยาต้านซึมเศร้าตลอดชีวิต
ความจริง : ระยะเวลาการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้ยาตลอดชีวิต เนื่องจากให้ยารักษาร่วมกับการบำบัด เมื่ออาการดีขึ้นแพทย์จะลดยาตามลำดับ แต่กรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจต้องรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน
ความเชื่อ : แค่เปลี่ยนทัศนคติก็หายจากภาวะซึมเศร้าได้
ความจริง : ยังมีผู้คนไม่น้อยที่คิดว่าภาวะซึมเศร้ารักษาได้ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติ คิดบวก แต่ในความเป็นจริงโรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นผลมาจากการมีทัศคติไม่ดี หรือจมอยู่กับทัศนคติติดลบ ทางการแพทย์ยืนยันแล้วว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าต้องได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ
แหล่งที่มาข้อมูล
ศูนย์ความรู้โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต, สถิติโรคซึมเศร้า, สืบค้นเมื่อ วันที่ 16 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.thaidepression.com/2020/web/index.php
โรงพยาบาลศิครินทร์, เรียนรู้และเข้าใจ ‘โรคซึมเศร้า’, สืบค้นเมื่อ วันที่ 16 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.sikarin.com/
SingleCare, Mental health statistics 2022, สืบค้นเมื่อ วันที่ 16 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.singlecare.com/
RAMA Channel คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, อ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์, เช็กอาการ “โรคซึมเศร้า” พร้อมวิธีรักษาและดูแลจิตใจให้แข็งแรง, สืบค้นเมื่อ วันที่ 16 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/
Bumrungrad International Hospital, โรคซึมเศร้า, สืบค้นเมื่อ วันที่ 16 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.bumrungrad.com/th
CHOOSE MENTAL HEALTH, Depression: 16 Facts and Myths, สืบค้นเมื่อ วันที่ 16 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://choosementalhealth.org/
UPMC HEALTH BEAT, Myths and Facts About Depression, สืบค้นเมื่อ วันที่ 16 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://share.upmc.com/
WebMD, Myths and Facts About Depression, สืบค้นเมื่อ วันที่ 16 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.webmd.com/