หลายคนพบว่า การเรียนการสอนที่โรงเรียนของลูก ยังคงให้ครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การเรียนการสอนส่วนใหญ่จึงเป็นลักษณะแบบที่ครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียน ไม่ใช่การโค้ช ส่วนลูกของคุณก็เป็นฝ่ายรับความรู้จากครูเพียงอย่างเดียว (แทบไม่ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเลย) ดังนั้นบรรยากาศการเรียนการสอนที่พบ ส่วนใหญ่ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทหลักอยู่ตลอดเวลา เด็ก ๆ แทบไม่มีโอกาสได้พูดและแสดงความคิดเห็นเท่าใดนัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองอย่างเราจะปล่อยผ่านไม่ได้ จำเป็นต้องเรียนรู้ผลเสีย และมีส่วนในการช่วยป้องกันและแก้ไข อย่าลืมว่า การเรียนรู้ของลูก ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโรงเรียนหรือจากครูเท่านั้น แต่ต้องเกิดขึ้นที่บ้าน และเกิดขึ้นจากผู้ปกครองด้วย
ลูกจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นต่อชุมชน ไม่รู้จักแสดงความคิดเห็นเลย ซึ่งการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่คุณเองควรต้องฝึกฝนให้กับลูก และควรจะมีการปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัย นอกจากนั้นการเรียนการสอนแบบครูเป็นศูนย์กลางที่ถ่ายทอดเนื้อหาให้นักเรียนแต่เพียงฝ่ายเดียว ยังทำให้นักเรียนขาดโอกาสในการตัดสินใจด้วยตนเองอีกด้วย
บรรยากาศการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เต็มไปด้วยขั้นตอนที่ถูกกะเกณฑ์ไว้ว่า ครูต้องสอนเนื้อหาให้ทันตามหลักสูตรซึ่งเต็มไปด้วยเนื้อหามากมาย ก็ไม่ผิดอะไร เพราะหากสอนไม่ทันตามหลักสูตร ปัญหาก็จะตามมามากมาย แต่การเป็นขั้นเป็นตอนเช่นนี้ก็มีข้อเสีย ผู้เรียนจะขาดโอกาสการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ทำให้ขาดการฝึกฝนในการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และขาดความเคารพตนเองและคนอื่น ผลจึงปรากฏว่า คนไทยส่วนใหญ่ทำงานร่วมกันไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และการเรียนรู้มุ่งแต่เนื้อหาวิชาเพื่อสอบแต่ไม่เน้นกระบวนการและการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง จึงทำให้ขาดทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21
ไม่ใช่แค่เด็กไทยที่อยากให้ลดเวลาเรียน แต่รวมถึงผู้ปกครองในยุคศตวรรษที่ 21 ด้วย จึงเป็นเหตุผลให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อลดเวลาเรียนภาควิชาการลง แต่ต้องไม่กระทบเนื้อหาหลักที่ผู้เรียนควรเรียนรู้และครูปรับการเรียน การสอน การจัดกิจกรรมโดยเพิ่มเวลาและโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงเพื่อสร้างเสริมทักษะการเรียนรู้ทุกด้านในรูปแบบกิจกรรมเสริมหลักสูตร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบางเขตจึงได้นำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ ดูแล้วเหมือนจะไปได้ดี แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมาก็พบว่า หลายโรงเรียนยังไม่สามารถดำเนินการตามกิจกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ได้ ยังขาดรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพบริบทของโรงเรียน ซึ่งส่วนมากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กและมีจำนวนครูที่รับผิดชอบไม่ครบตามเกณฑ์ความจำเป็น จึงไม่สามารถทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย และยังแอบหวังว่าจะสามารถทำได้จริงในสักวัน
เหมือนฝันเลยถ้าหากสามารถจัดกิจกรรมให้ครอบคลุมหลักองค์ 4 แห่งการศึกษา คือ กิจกรรมด้านพัฒนาสมอง (Head) กิจกรรมด้านพัฒนาจิตใจ (Heart) กิจกรรมด้านพัฒนาทักษะการปฏิบัติ/ทักษะชีวิต (Hand) และกิจกรรมด้านพัฒนาสุขภาพ (Health) แต่ในความเป็นจริง เด็ก ๆ ในประเทศไทยก็ยังคงโหยหาความสุขในการเรียนอยู่ดี แต่กิจกรรมดังกล่าวยังเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะหลายโรงเรียนก็ยังขาดครูที่จะดำเนินกิจกรรมดังกล่าว นโยบายที่มากจนเกินไปทำให้ครูผู้ปฏิบัติการไม่สามารจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้
คุณลองมั้ย ลองฝึกลูกเองเลย ไม่ต้องรอโรงเรียน เพราะจากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าถ้ารอโรงเรียน คงต้องติดเงื่อนไขหลายประการ และเด็กรอไม่ได้ เพราะลูกของเราเติบโตขึ้นทุกวัน หากช่วงเวลาที่เด็กกำลังต้องการการเสริมสร้างทักษะและพัฒนาการมันผ่านพ้นไป นั่นคือผลเสียที่เกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา ดังนั้น ลองเริ่มเองดู ลองสอนให้ลูกรักการอ่าน มีความสุขกับการอ่านโดยใช้สื่อที่หลากหลาย มีความสามารถในการเขียนสื่อความได้และมีทักษะในด้านการคิดคำนวณ ตัวอย่างเช่น รูปแบบด้านการพัฒนาจิตใจ (Heart) เช่น กิจกรรมบ้านสวยด้วยมือเรา กิจกรรมสติมาอยู่ในบ้าน กิจกรรมตักบาตรครอบครัว และกิจกรรมสร้างวินัยด้วยกิจกรรมทำงานบ้าน คำถามของคุณก็คือ กิจกรรมอะไรก็ได้เหรอ คำตอบคือ ใช่ อะไรก็ได้ที่คุณเองเชื่อว่าจะช่วยให้ลูกเป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข และมีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คุณพยายามออกแบบให้ครบ 4 กิจกรรมเพื่อให้ครอบคลุมหลักองค์ 4 แห่งการศึกษาดังที่กล่าวข้างต้น เพียงเท่านี้ ลูกคุณก็จะมีความสุขกับกิจกรรมที่ส่งเสริมการได้เคารพตนเองและผู้อื่นแล้ว
ไม่ใช่ตำราไม่สำคัญ แต่การท่องจากตำราเพียงอย่างเดียว
ไม่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง อันเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้
ปริณุต ไชยนิชย์
อาจารย์ประจำสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (RMUTSB : RUS)
ข้อมูลอ้างอิงจากงานวิจัย https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/download/110258/86495/281472