Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

7 ข้อที่ทำให้คุณตัดสินใจได้ว่าลูกวัยประถมปลายควรเรียนพิเศษ (ติว) ไหม

Posted By Plook TCAS | 23 ธ.ค. 65
4,171 Views

  Favorite

          จะให้ลูกเรียนพิเศษหรือไม่เรียน ดูเหมือนว่าศูนย์กลางการตัดสินใจจะอยู่ที่คุณฝ่ายเดียวนะคะ หลายคนที่ถามลูกแล้วว่าจะเรียนไหม พอลูกบอกไม่เรียน แต่สุดท้ายพอใกล้สอบคุณก็ให้ลูกเรียนอยู่ดี เหตุผลที่เป็นเช่นนี้อาจไม่ได้มาจากการทบทวนจากหลายปัจจัย แต่เป็นเพราะไม่มีทางเลือก ก็เพื่อนลูกเรียนเลยให้เรียนตาม หรือไม่มีอะไรทำช่วงรอคนมารับ ก็เรียน ๆ ไปเถอะ ประมาณนี้ แต่บทความนี้จะทำให้คุณมีข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจที่มากขึ้น  ว่าลูกวัยประถมปลายของคุณควรเรียนพิเศษไหม โดยการสรุปเรื่องเล่าประสบการณ์ของเหล่าผู้ปกครองหรือรุ่นพี่ ๆ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกับการเรียนพิเศษมาแล้ว ไปดูกันเลย

 

ติวเพื่อให้ลูกรู้ตัวตน

          ประสบการณ์ของบางคนก็ยืนยันมาว่า จริง ๆ แล้วอุปสรรคในการสอบเข้าโรงเรียนดัง คือ การปล่อยให้ลูก ๆ ของเรามีสไตล์การเรียนแบบเรียนกลาง ๆ และด้วยความที่ลูกไม่ชอบอ่านหนังสือ ถ้ายิ่งให้เรียนพิเศษหนักมากก็ไม่สามารถสอบเข้าได้หรอก เพราะเด็กพื้นฐานไม่ค่อยดีและไม่ชอบทบทวนอ่านหนังสือ การไปเรียนพิเศษก็เลยไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่การเรียนพิเศษหรือการติวก็ใช่จะไม่มีข้อดีสำหรับเด็กสไตล์นี้เลยเสียที่ไหนล่ะ มีดีอยู่ตรงที่ลูกเราอาจเจอข้อมูลที่บอกว่าลูกชอบอะไร ชอบคณิตศาสตร์ไหม ซึ่งการติวอาจไม่ใช่เพื่อสอบเสมอไป แต่ติวอันนี้น่าสนใจ เป็นการติวเพื่อให้รู้ตัวตน

 

ติวเพื่อสอบเข้า

          ประสบการณ์ของพี่ ๆ บางคนแนะนำมาว่า ถ้าจะติวคุณน่าจะลองไปดูว่า รร.ที่ต้องการสอบเข้าใช้วิชาอะไรสอบบ้าง คณิต วิทย์ อังกฤษ ไหม บางที่มี pretest ด้วยนะ อย่าพลาดล่ะ คุณควรลองให้ลูกสมัคร pretest ด้วย อย่าคิดว่าสิ้นเปลือง เพราะเป็นการไปให้ลูกลองประเมินดูว่า ลูกเราจำเป็นแค่ไหนที่ต้องเรียนพิเศษหรือติว อาจทดลองสักคอร์สเพื่อประเมินว่าได้เรื่องไหม ถ้าไม่ก็ถอยมาอ่านเอง อ่อ แล้วอย่าลืมเช็คว่า ลูกเราสามารถสอบเข้าโรงเรียนดังกล่าวโดยใช้โควต้าอื่น ๆ ได้ไหม เช่น เขตพื้นที่ เรื่องนี้คุณควรศึกษาเพิ่มเติมด้วย

 

สนามสอบหรือสนามรบ

          บางคนให้เหตุผลเรื่องนี้ว่า “ส่วนตัวไม่เคยให้ลูกเรียนพิเศษที่ใดเลย เขาอ่านหนังสือเอง ทบทวนเอง แม่มีหน้าที่หาหนังสือมาให้เขาทบทวนเท่านั้นค่ะ เลยไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เท่าไหร่ค่ะ” สำหรับบางคนก็อาจไม่เน้นเรื่องการติวแต่เน้นให้ทวนเองมากกว่า แต่สำหรับบางคนก็ไม่คิดแบบนี้ “สมัยนี้เวลาสอบแข่งโรงเรียนดี ๆ ถ้าไม่ติวเหมือนส่งลูกแก้ผ้าเข้าสนามรบนะครับ หน้าที่ผู้ปกครองคือติดอาวุธให้ลูก เพื่อที่จะได้สู้กับคนอื่นได้” จะว่าไปการส่งลูกไปสอบก็อาจเหมือนส่งลูกไปสนามรบ ที่เราต้องมานั่งลุ้นว่า ลูกจะบาดเจ็บกี่แผล หรือจะกลับมาในสภาพไหน คุณซีเรียสไหมล่ะ ถ้าลูกจะสอบไม่ติด (เหมือนลูกโดนระเบิดหนักกลับมา แต่ระเบิดที่เด็กโดนในบางบ้านหนักกว่าเห็น ๆ)

 

ครูสอนพิเศษหน้าที่อันทรงเกียรติ

          ความจำเป็นของการเรียนพิเศษว่าด้วยการพิจารณาลักษณะเฉพาะตัวของลูกมากกว่า ดูอย่างประสบการณ์นี้ “ส่วนตัวเรากับสามี คิดว่าจำเป็นมาก ด้วยสถานการณ์ ต้องเรียนสลับวัน เด็กขาดการเรียนต่อเนื่อง จึงให้เรียนพิเศษเพิ่มเติมที่โรงเรียน กับครูที่เรียนหลังโฮมเวิร์ค  นอกจากนี้เรียนเสริมเฉพาะวิชาหลักกับสถาบันติววิชาอีก 2 แห่ง  เพราะไม่มีเวลามาสอน หรือสอนลูกก็ไม่ค่อยฟังเหมือนครูสอน  แต่จะช่วยดูการบ้าน สอนการบ้านบ้าง และช่วยติวหนังสือก่อนวันสอบ ส่วนการสอบ 2 ครั้งที่ผ่านมา  ผลการสอบพ่อแม่พอใจมาก  คะแนนเกินที่ตั้งใจไว้ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์เกือบดีมาก เรากับสามีถือว่า หากมีกำลังส่งเสริมก็ต้องทำค่ะ  เพื่อตัวเค้าเองในอนาคต ส่วนเวลาพักในวัยเด็กของเค้า  ก็จะให้เค้าเล่นเหมือนทั่ว ๆ ไป ที่เด็กสมควรจะได้รับค่ะ”

          หากพฤติกรรมของลูกไม่ค่อยฟังผู้ปกครอง การจ้างครูพิเศษก็อาจเป็นอีกทางเลือกที่สมควรทำ ถ้ามีกำลังทรัพย์เพียงพอ แต่ครูที่ดีที่สุด เชื่อว่าก็ยังคงเป็นครูในบ้านอยู่ดี แต่ถ้าไม่มีเวลาก็มอบหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ให้ครูพิเศษไปก็แล้วกัน

 

ติวเตอร์ชี้จุดอ่อนให้ลูกได้

          จากประสบการณ์ของติวเตอร์คนหนึ่งเล่าว่า “เคยเป็นติวเตอร์สอนให้เด็กสอบเข้า ม.1 รร.ดังแห่งหนึ่ง น้องคือมาแบบมั่นมาก บอกว่าอยู่โรงเรียนเกรดหนู 3.5 ++ แต่พอติวเตอร์ลองเอาข้อสอบเก่ามาให้ทำ ปรากฎว่าเด็กจะเข้า ม.1 ไม่รู้พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศไหน บวกลบเวลา ลำดับที่ไม่ได้เลย”  นี่ไงคือจุดอ่อนของการศึกษาไทย ขังเด็กให้ไม่รู้ความจริงของตัวเองไว้ด้วยเกรดที่โรงเรียนให้ แต่พอมาเจอติวเตอร์ให้เทคนิคทำข้อสอบเก่า เลยถึงบางอ้อว่า ที่ได้เกรดจากโรงเรียนมา ไม่ได้แปลว่าตัวเองเก่งในโลกจริงเลย

 

ถ้ามีปัญหาเรื่องเงินก็เพลิน ๆ กับข้อสอบเก่า ๆ ไปดีกว่า

          ถ้าจะพูดให้ฮา การพาลูกไปเรียนพิเศษอาจเป็นการจ้างครูอ่านหนังสือแทนลูก บางทีลูกเรียนแต่ลูกไม่ได้อะไรเลยก็มี ทั้งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเสียสละทั้งเวลาและความตั้งใจจริง ๆ อย่างนี้ดีไหม ถ้าการส่งลูกเรียนพิเศษเหมือนการโยนทายหัวก้อยจากเหรียญที่ลอยอยู่ในอากาศ งั้นเปลี่ยนเป็นการใช้เทคนิคอย่างเดียวกับติวเตอร์ดู สร้างวินัยให้ลูกสักหน่อย ให้ลูกฝึกทุกวัน อย่าให้ขาด ค้นข้อสอบเก่า ๆ ทางออนไลน์ แล้วให้ลูกลองทำ ทำทุกวัน วันละกี่ชั่วโมงก็ว่าไป เพราะบางคนก็ไม่เห็นความจำเป็นเรื่องเรียนพิเศษ แต่เห็นความจำเป็นของการปลูกฝังเรื่องความตั้งใจให้ลูกมากกว่า “ไม่เห็นความจำเป็นกับการเรียนพิเศษค่ะ เรียนในชั้นเรียน ถ้าตั้งใจแล้วก็ได้ผลเพียงพอแล้ว การเรียนมากเกินไปทำให้ขาดเวลาทำสิ่งอื่น ๆ ที่ควรจะเป็นไปตามวัย เด็กสมัยนี้เครียด เป็นโรคซึมเศร้าเยอะมาก เราเองก็ไม่เคยเรียนพิเศษ ไม่ชอบทำการบ้านด้วยซ้ำ เพราะการเรียนการสอนที่ลูกเจอคือสอนวนไปวนมา”

 

ความจริงมีอยู่ว่าความรู้มีอยู่รอบตัวทุกหนแห่ง

          “ความรู้มีอยู่รอบตัวไม่จำเป็นต้องกดดันให้เคร่งเรียนอะไรขนาดนั้น เคยสอบสัมภาษณ์นักเรียนที่เข้าเรียน (EP) คือเราชอบเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ ส่วนมากเด็กที่มาสอบและเราชื่นชอบพิเศษ เค้าเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ เอง บางคนไม่เคยไปเรียนต่างประเทศ แต่ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือนอกบทเรียนกันเอง คิดว่าถ้าเอาเวลาไปเรียนพิเศษ ความสนใจส่วนบุคคลในเรื่องต่าง ๆ ของเด็กก็จะหายไป กลายเป็นเรียน ๆ ไป ท่อง ๆ ไปเพื่อไปสอบ ใช้จริงได้ไหม”

          นี่คือความเห็นของคุณแม่คนหนึ่งที่พูดถึงข้อเสียของการเรียนที่มากเกินไป สิ่งที่คุณแม่คนนี้พูดน่าสนใจตรงที่ว่า ถ้าสนับสนุนให้ลูกเรียน ๆ ท่อง ๆ ความสนใจส่วนบุคคลจะหายไป และความสนใจนี้ถูกผูกติดเป็นฝาแฝดกับความคิดสร้างสรรค์และความคิดนอกกรอบ เด็กที่เครียดจะมีผลจากการคิดนอกกรอบไม่เป็น คิดสร้างสรรค์ไม่ได้ ถูกผนึกไว้กับความทุกข์ของชีวิต แก้ปัญหาไม่เป็น เป็นผลลัพธ์ของการศึกษาไทยที่กดดันให้เคร่งเรียนแต่ไม่กดดันให้เด็กมีวินัย ใฝ่เรียนรู้ สู้งานหนัก จึงทำให้ความจริงที่ว่า ความรู้มีอยู่รอบตัวทุกหนแห่งนั้น…หายไป

          หลายประสบการณ์ หลายเหตุผล หลายคำบอกเล่า คงทำให้คุณได้ลองพิจารณาได้ว่า คุณควรเสริมการเรียนพิเศษให้ลูก หรือเสริมสิ่งอื่นให้ลูกมีพลังให้เหมาะสมกับวัยของเขา คุณเลือกได้ ลองดู

 

ปริณุต ไชยนิชย์

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก คำบอกเล่าของผู้ปกครอง https://pantip.com/topic/40552029

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow