เพศศึกษา คำนี้คงเป็นหัวข้อการพูดคุยที่ยากที่สุดสำหรับคุณกับลูกถูกไหม แต่เชื่อมั้ย ในต่างประเทศเขาพูดเรื่องนี้กันให้แซ่ด ความจริงคนที่อายที่จะพูดไม่ใช่ลูกของคุณ หากแต่คือคุณต่างหาก งั้นลองมาอ่านกลวิธีในการพูดคุยเรื่องเพศกับลูกกัน ไม่ยาก ๆ
เคยไหมที่พอเวลาเจอฉากวาบหวิวในหนังแล้วก็บอกให้ลูกปิดตา หรือให้ข้ามไป การทำแบบนั้นคุณรู้ หรือไม่ว่าเป็นการกระตุ้นให้ลูกไม่กล้าพูดคุยกับคุณเรื่องเหล่านี้ จริง ๆ คุณลองที่จะให้เขาเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ความเป็นอิสระภาพของร่างกาย และพฤติกรรมป้องกัน โดยให้ทำความเข้าใจร่างกาย การทำงานของร่างกาย และบทบาทในความสัมพันธ์ เมื่อพวกเขาดำเนินชีวิตต่อไป
เด็ก ๆ ย่อมมีความอยากรู้อยากเห็นด้วยกันทั้งนั้น แล้วยิ่งถ้าคุณให้ลูกศึกษาและเรียนรู้เรื่องนี้จนเป็นปกติแล้ว จะทำให้ช่วยลดการชะลอการมีเพศสัมพันธ์ลงไปได้ ยิ่งพวกเขามีความรู้หรือข้อมูลจากเรามากขึ้นจะยิ่งทำให้พวกเขาตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญคุณต้องไม่ทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะพูด การเริ่มบทสนทนาของคุณอย่างสบาย ๆ ไม่ปิดกั้น จะทำให้พวกเขาได้รับข้อมูลที่เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพทางเพศของพวกเขา
เรื่องเพศไม่ใช่ความผิดบาป แต่ เอ …ทำไมลูกถึงละอายทุกครั้งที่ต้องพูดเรื่องนี้ คุณเองล่ะ….คุณเคยรู้รึเปล่าว่าลูกชายของคุณฝันเปียกเป็นครั้งแรกเมื่อไหร่ หรือบางคนอาจเคยเห็นลูกช่วยตัวเอง หรือบางคนเมื่อลูกมีประจำเดือนครั้งแรกก็เป็นกังวลและตั้งกฎเกณฑ์ให้ลูกแยกออกจากทุกคนในครอบครัวที่เป็นเพศชายทันที คำถามคือ คุณกำลังคัดแยกลูกโดยที่ลูกคุณยังไม่พร้อมหรือเปล่า บางทีร่างกายกับจิตใจไม่ได้เติบโตไปพร้อมกัน คุณอาจต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน ลองปล่อยให้เขาพูดทุกเรื่อง หรือจัดกิจกรรมในครอบครัวให้เขาได้ลองพูดเรื่องนี้แบบขำ ๆ ดูก็ได้ แต่บทสนทนานั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องลงรายละเอียดหนัก ๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์คืออะไร แบบไหน แต่ห้ามที่จะโกหกปิดบังพวกเขาเด็ดขาด
อะไรก็ตามที่ทำบ่อย ๆ จะเกิดความเคยชิน และการเรียนรู้ก็จะตามมา นั่นเองคือสิ่งที่เป็นผลลัพธ์ของวิธีนี้ แต่ยอมรับเถอะว่า ช่วงแรกคุณจะประหม่ามาก และอาจไม่ใช่แค่คุณ อาจรวมไปถึงลูกของคุณ และทุกคนในครอบครัว หรือบางคนที่ไม่ได้อยู่ในวัยเดียวกับคุณ เขาอาจรู้สึกว่า เป็นวิธีที่ไม่โอเค ชี้โพรงให้กระรอก แต่ขอให้คุณมั่นใจเถอะว่า คุณทำถูกแล้ว เพราะเพศและการมีเพศสัมพันธ์มันคือส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
วัยประมาณประถมปลายคือ อายุ 9-11 ปี จะมีเรื่องความสัมพันธ์และการช่วยตัวเองเข้ามาในชีวิต คุณควรเริ่มจากการบอกและถามลูก ๆ ว่า รู้อะไรมาบ้าง และสังเกตพัฒนาการทางเพศของพวกเขาอย่างใกล้ชิด และเชื่อไหมการเลือกเรื่องพูดก็สำคัญ แต่การเลือกสถานที่พูดยิ่งสำคัญกว่า ลองพูดในรถยนต์ส่วนตัวกันดูสิ หรือที่ใดก็ได้ ที่หลีกเลี่ยงการสบตาและมองหน้ากัน เพราะจะช่วยลดความรู้สึกอายที่จะพูดลงไปได้อย่างมากเลยล่ะ
วัยนี้ควรได้รู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และเข้าใจการคุมคามทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศด้วยว่า เป็นสิ่งที่ผิด เพราะหากเรายังไม่สอนลูกเรื่องนี้ ลูกก็จะไม่รู้ว่าจุดไหนของร่างกายที่ไม่ควรให้คนอื่นจับ หรือไม่ควรไปจับของคนอื่น และคุณควรเปิดโอกาสให้มีพื้นที่ของการเล่าสู่กันฟังเรื่องรสนิยมทางเพศด้วย ว่าเป็นเรื่องของความเสน่หาเฉพาะบุคคล ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ
หากลูกมีคำถามเกี่ยวกับเพศ คุณพยายามใจเย็น ๆ คิดนาน ๆ ก่อนตอบออกไป เพราะทุกคำตอบมีผลต่อชีวิตลูกในระยะยาว ถ้าไม่รู้ห้ามตอบ หรือโกหก ถ้าคุณไม่พร้อมจะตอบก็ให้คนอื่นในครอบครัวตอบแทน หรือเก็บไว้โดยบอกลูกว่า จะหาคำตอบมาให้ทีหลัง แต่คุณต้องไม่ผิดสัญญานั้นด้วย
ใครว่าเรื่องเพศห้ามพูดคงเป็นบทเตือนใจผู้ปกครองหลายคนได้ ลองให้ลูกเรียนรู้ผ่านการเปิดใจของคุณดู แล้วคุณจะรู้ว่า บางเรื่องคุณก็อาจเรียนรู้ได้จากพวกเขาเหมือนกัน
ปริณุต ไชยนิชย์
ข้อมูลอ้างอิงจาก
โรงเรียนในออสเตรเลียสอนเพศศึกษาอย่างไร? https://www.tcijthai.com/news/2022/11/watch/12614