ก่อนที่จะชวนลูก ๆ ของเราให้พัฒนาศักยภาพของตนเอง เรามาทำความรู้จักกับคำว่า ศักยภาพ กันก่อนดีกว่า เคยดูซีรี่ส์เรื่อง นักเรียนพลังกิฟต์ หรือ The Gifted หรือไม่ ถือเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้คนในสังคมให้ความสนใจกับคำว่า ศักยภาพในตัวเด็ก เพิ่มมากขึ้นก็ว่าได้ ในซีรีส์ได้เผยให้เห็นว่า ลูก ๆ ที่ผู้ใหญ่อย่างเราคิดว่าพวกเขาต้องเข้าเรียนหรือทำตามที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองกำหนดให้ทุกอย่าง ตั้งแต่อนุบาล ประถมต้น ประถมปลาย มัธยม อุดมศึกษา แต่แท้ที่จริงนั้นลูกอาจไม่ได้ต้องการสิ่งใดที่เหมือนกับที่เราคิดและวางแผนเลยแม้แต่น้อยก็ได้ พวกเขาอาจเพียงต้องการทำความรู้จักกับศักยภาพของตนเองเท่านั้น บางคนเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษาแล้ว ยังหาคำตอบนี้ไม่ได้ก็มี ที่จริงเนื้อความที่ดำเนินไปในซีรี่ส์สะท้อนให้ผู้ปกครองประถมปลายได้ฉุกคิดว่า ก่อนที่ลูกเราจะโตเทียบเท่ากับเด็กในซีรีส์เรื่องนี้ ลูกของเรารู้จักคำว่าศักยภาพแล้วหรือยัง รู้จักดีแค่ไหน แล้วก็เด็กที่ยังหาศักยภาพตัวเองไม่เจอ จะทำให้เกิดอะไรขึ้นเหรอ บทความนี้มาชวนทุกคนขบคิดไปด้วยกัน โดยเริ่มจาก
รู้หรือไม่ว่า ศักยภาพนั้นคือสิ่งสำคัญในการพัฒนาตนเอง และการพัฒนาตนเองควรเริ่มจากการชวนให้ลูก ประถมปลายของคุณพิจารณาจุดอ่อนหรือจุดเด่นของตัวเอง จากนั้นให้พยายามให้เทคนิคการค้นหา ยอมรับ และลงมือกำจัดจุดอ่อนและเสริมจุดเด่นของตนเอง ใครทำได้ได้มากกว่า ถือว่าชนะตนเองแล้ว เย่ ๆ ไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับใครเขาหรอก สอนให้ลูกแข่งกับตัวเองนี่แหละ การทำให้ตัวเองเข้มแข็งด้วยเทคนิคการสะท้อนตัวตนของตัวเองว่าดีเสียอย่างไรบ้าง จากนั้นลงมือพัฒนาตนเองแทนที่จะเข้าข้างตัวเอง เพียงเท่านี้ก็สามารถพัฒนาตนเองไปสู่การหาศักยภาพของตัวเองเจอแล้ว
ข้อนี้ไม่จำเป็นต้องรู้ได้มั้ย อยากให้ทุกคนคิดว่า ศักยภาพที่แท้จริงไม่มีอยู่จริงหรอก เชื่อสิ เพราะธรรมชาติของลูกวัยประถมปลายของเรา พวกเขามหัศจรรย์มาก พวกเขาสามารถพัฒนาตนเองได้ทุกเวลา และค้นพบศักยภาพใหม่ ๆ ได้เสมอ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กบางคนจะหาศักยภาพตนเองไม่เจอ ก็แน่ล่ะสิ วัน ๆ ลูกทำอะไรประสบความสำเร็จตั้งหลายอย่าง ก็เป็นไปได้ว่าจะเกิดความสับสนจนจับต้นชนปลายไม่ถูกว่า สิ่งไหนคือศักยภาพ บางทีศักยภาพที่โดดเด่นออกมา ถ้าพวกเขาค้นพบว่า มันโดดเด่นแต่ไม่มีประโยชน์ต่อเขาและคนรอบข้าง พวกเขาก็จะเลือกที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ศักยภาพใหม่ได้ในทันที และเชื่อมั้ยเด็กวัยประถมปลายจะไม่เคยกลับมาเสียดายศักยภาพที่เขาละเลยและทิ้งไป เพราะอะไรน่ะเหรอ ก็เพราะพวกเขามีศักยภาพหลายด้านอยู่ในตนเองยังไงล่ะ
ควรเริ่มต้นที่การกำจัดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็ง ขอแนะนำขั้นตอนในการพัฒนาดังนี้
1. สำรวจค้นหาจุดอ่อนและจุดเด่น
2. จัดลำดับความสำคัญเมื่อเราทราบจุดอ่อนและจุดเด่นของตัวเองแล้ว ให้ลองนำมาจัดลำดับดูว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องกำจัดหรือพัฒนาอย่างเร่งด่วน
3. ลงมือกำจัดจุดอ่อนและพัฒนาจุดเด่น
4. ประเมินผลและแก้ไขปรับปรุง เมื่อเราได้กำจัดจุดอ่อนหรือเสริมจุดแข็งอะไรให้กับชีวิตแล้ว อ้อ แล้วอย่าลืม ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะต้องทำก็คือการประเมินผลดูว่าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่
สิ่งที่จะทำให้คุณรู้ว่า ลูกของคุณมีความเชื่อในศักยภาพของตนเอง คุณต้องคอยตามติดชีวิตลูกโดยไม่ให้ลูกรู้ตัว ไม่ต้องใกล้มาก แต่คอยสังเกตสิว่า
1. ลูกคุณมีพฤติกรรมการเตรียมตัวมุ่งสู่ความสำเร็จในสถานการณ์ต่าง ๆ บ้างหรือเปล่า เขาสนใจที่จะหาสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาทำได้หรือไม่ ตั้งเป้าหมายกับอะไรบ้างไหม และเดินตามเป้าหมายทุกวันเลยใช่ไหม
2. ลูกพยายามค้นหาแรงบันดาลใจหรือไม่ เขาสร้างเป้าหมายระยะสั้นเป็นไหม เช่น การเขียนเป้าหมายของตนลงในปฏิทิน ลูกคุณมีความมั่นใจที่จะไปถึงเป้าหมายรึเปล่า และลูกสามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ไหม 3) ลูกสามารถยอมรับความล้มเหลวได้บ้างไหม ลูกสนใจที่จะหาแรงสนับสนุนเพื่อไปสู่เป้าหมายหรือไม่ และเขาทำสิ่งที่สนใจนั้นไปเรื่อย ๆ ไม่ยอมหยุดหรือเลิกหรือไม่
เพียงแค่ลูกของคุณมีข้อใดข้อหนึ่งก็เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่บอกว่าเด็กมีความเชื่อในศักยภาพของตนเองแล้วล่ะ
กลวิธีที่ควรใช้ส่งเสริมความเชื่อในศักยภาพของตนเอง อย่างแรกคุณควรสอนให้ลูกรักตัวเองก่อน จากนั้นหมั่นฝึกให้ลูกยิ้มกับตัวเองและมองโลกในแง่ดี การที่ลูกมีอารมณ์ดีขึ้น จะทำให้ลูกยอมรับทัศนคติทั้งบวกและลบของตนเองและผู้อื่น กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราและทุกคนรอบตัวเรา
นอกจากนี้คุณยังต้องสอนให้ลูกรู้จักความแตกต่างระหว่างพัฒนาศักยภาพและการบรรลุศักยภาพ โดยย้ำให้ลูกรู้ว่า ก่อนที่เราจะพัฒนาศักยภาพ เราต้องรู้ว่าศักยภาพนั้นคืออะไรและลูกต้องเริ่มใช้ศักยภาพนั้น ส่วนการบรรลุศักยภาพหมายถึง การที่ลูกของเราพยายามลองทำสิ่งนั้นอย่างดีที่สุดแล้วนั่นเอง ดูเหมือนเป็นกลวิธีที่ง่าย แต่หลายคนทำยากนะ เพราะติดปัญหาว่า คุณเชื่อในศักยภาพที่ไม่ได้มีอยู่ในตัวลูก แต่คุณต่างหากที่อยากให้ลูกมี เมื่อคุณหลงประเด็น จะทำให้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวลูกจริง ๆ จะไม่ได้รับการพัฒนา แต่สิ่งที่ถูกพัฒนากลับเป็นศักยภาพที่คุณอยากให้ลูกมีต่างหาก และนั่นคือคำตอบว่าทำไมเด็กบางคนถึงยังหาศักยภาพตัวเองไม่เจอ
จะว่าไป การทำความรู้จักกับศักยภาพของตนเอง อาจมีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่ระหว่าง ศักยภาพในตัวลูกของคุณ กับศักยภาพที่คุณอยากให้มีในตัวลูกของคุณ อย่าลืมทำลายเส้นบาง ๆ ที่กั้นอยู่ แล้วทำให้มันกลายเป็นเส้นหนา ๆ เสียก่อนที่คุณจะสับสนว่า ควรพัฒนาศักยภาพที่มีในตัวลูกหรือพัฒนาศักยภาพที่คุณอยากให้มีในตัวลูกของคุณกันแน่ แต่หากคุณกำลังชวนลูกมารู้จักศักยภาพของตนเองกัน คุณอาจรู้คำตอบแล้วก็ได้ว่าควรเลือกอย่างแรกหรืออย่างหลัง แต่ไม่ว่าจะเลือกอย่างไร ก็จะขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปกครองวัยประถมปลายทุกคนเลย
ปริณุต ไชยนิชย์
ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.thailandcontactcenter.com/การพัฒนาศักยภาพตนเอง/
https://th.wikihow.com/บรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเอง