Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

7 เทคนิค สร้างแรงจูงใจให้เด็กรู้จักการทำงาน

Posted By Plook TCAS | 09 ธ.ค. 65
6,103 Views

  Favorite

          หลายคนอาจมองว่าเด็กมีหน้าที่แค่เรียนหนังสือ ส่วนเรื่องการทำงานไว้เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ จึงอาจมองข้ามการสอนลูกให้เห็นคุณค่าของการทำงาน รวมไปถึงไม่ได้ฝึกสร้างแรงจูงใจให้เด็กรู้จักการทำงาน ทั้งที่ในอนาคตสิ่งที่เด็กต้องเจอคือเรื่องของการทำงาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานกว่าช่วงการเรียนหนังสือมากมาย ดังนั้นวันนี้เราจะมาทำความรู้จัก 7 เทคนิคการสร้างแรงจูงใจให้เด็กรู้จักการทำงาน วิธีเหล่านี้จะช่วยฝึกให้เจ้าตัวเล็กของเรารักการทำงานได้มากน้อยแค่ไหน ไปลองกันเลยค่ะ

 

1. สอนเด็กสร้างแรงจูงใจในการเรียน

          คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าวัยเด็กคือวัยเรียน และประสิทธิภาพในการเรียนนั้นก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง สำหรับแรงจูงใจถือได้ว่าเป็นกำลังหลักที่เป็นแรงเสริม เกิดได้ทั้งจากทั้งภายในและภายนอก เป็นขวัญกำลังใจในการเรียนรู้และการทำงาน

          จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า หลายเครื่องมือที่สามารถสอนให้เด็กสร้างแรงจูงใจในการเรียนได้ เช่น การเข้าร่วมชมรมต่าง ๆ การเล่นดนตรี การเล่นกีฬา การเข้าร่วมการประกวด การเข้าร่วมการแข่งขัน เหล่านี้ถือเป็นเทคนิคการสอนให้เด็กสร้างแรงจูงใจในการเรียน จนนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพได้ เรียกว่าก่อนจะรู้จักความรับผิดชอบจากการทำงาน ควรต้องผ่านด่านความรับผิดชอบจากการเรียนให้ได้ดีก่อน

 

2. กระตุ้นให้เด็กสะท้อนจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง

          ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนมุมมองความคิดความเชื่อของเด็ก โดยเชื่อว่า เมื่อฝึกให้เด็กมองตนเองบ้าง พิจารณาตนเองบ้าง หรือบอกข้อดีและข้อจำกัดของตัวเองได้ เหล่านี้จะช่วยให้เด็กหาวิธีพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะในด้านต่าง ๆ ให้บังเกิดผลดีได้ แล้วค่อยสอนให้เขาลองพิจารณาต่อไปว่า จากจุดอ่อนจุดแข็งที่มีของตัวเอง เหมาะสมกับการทำงานอะไรได้บ้าง อาจเริ่มจากงานเล็ก ๆ ภายในบ้าน หรือหน้าที่ดูแลคนอื่นในครอบครัว แล้วค่อย ๆ ขยายความรับผิดชอบให้มากขึ้น ตามความถนัดและความสนใจของเขา

          ส่วนผู้ใหญ่ก็มีหน้าที่เพิ่มแรงจูงใจด้วยการสร้างขวัญและกำลังใจในการจัดสภาพการทำงาน รวมทั้งการให้บทเรียนที่เหมาะสมกับสติปัญญาความสามารถของเด็ก

 

3. ย่อยเนื้อหาก่อนส่งให้เด็กรับ

          วัยเรียนเป็นวัยที่เด็กจะถูกดูดแรงจูงใจออกจากตัวเองไปง่ายมาก อาจเพราะสมาธิยังไม่นิ่งพอ ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจึงยังไม่ควรมอบหมายงานที่ยากเกินไป เพราะเด็กจะถูกดูดแรงจูงใจออกอย่างไม่รู้ตัว หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อเด็ก และก่อนมอบหมายงานควรย่อยให้ง่าย อธิบายหน้าที่ ความรับผิดชอบ กฎกติกาการทำงานต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้ได้โดยไม่รู้สึกอึดอัดว่าเป็นสิ่งที่ยากเกินไปสำหรับเขา

          เด็กจะมีโอกาสและเวลาได้ฝึกทักษะในการเรียนรู้อย่างมีวิจารณญาณ มีเวลาแลกเปลี่ยนพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อให้คำแนะนำและประเมินผลการทำงานของลูก และย่อยคำสอนผ่านบททดสอบจากการทำงานของลูกให้เข้าใจง่าย เห็นภาพชัดเจนกว่าการสอนด้วยคำสอน ที่ไม่ผ่านการได้ลองปฏิบัติจริง

 

4. สร้างกิจกรรมของเด็ก GEN นี้ ให้มีความต่างจาก GEN ที่ผ่านมา

          การให้เด็กทำงานจากการบอกเนื้อหาสาระอย่างเดียว โดยขาดกิจกรรมส่งเสริมทักษะการทำงาน เป็นการแสดงออกถึงความยึดติดกับทัศนคติของ GEN เก่า ไม่ใช่ GEN นี้ จึงทำให้ลูกหลานของเราเกิดความเบื่อหน่ายและไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน เพราะเด็กว่ายวนอยู่ในกรอบที่ผู้ใหญ่คิดแต่เพียงว่า ตัวเองเคยทำงานมาแบบใด ก็ต้องฝึกเด็กให้เป็นแบบนั้น ทั้งที่ความต่างของ GEN ชัดเจนมาก แต่ทำไมผู้ใหญ่อย่างพวกเรา ยังเลือกที่จะดีไซน์ให้กิจกรรมของเด็ก GEN นี้ เป็นแบบ GEN ที่ผ่านมา

          ต้องขอบอกเลยว่า ข้อนี้ถือเป็น 1 ใน 7 เทคนิคการสร้างแรงจูงใจให้เด็กรู้จักการทำงานที่ทำยากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในการที่ผู้ใหญ่อย่างเราจะเอาชนะตัวเอง โดยเลิกยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง แล้วเปลี่ยนมายึดที่ความคิดเห็นของเด็กแทน ขั้นสุดท้ายคือการเปิดเวทีให้ลองแลกกันบอกกิจกรรมที่ต่างคนต่างอยากทำดู (ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก) คงจะได้เห็นตัวเองในมุมใหม่จากผู้ชี้แนะ สั่งการ กลายมาเป็นผู้ฟัง และผู้สังเกตการณ์ที่ดี ที่พร้อมน้อมรับกิจกรรมจากเด็ก GEN ใหม่ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง

 

5. โครงการจิตอาสาสอนให้เด็กนับถือตนเอง

          เชื่อหรือไม่ว่า ความนับถือตนเองและความเชื่อที่ว่าตัวเองมีคุณค่า เป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งปันคุณค่าสู่คนที่เด็กไม่รู้จัก คนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัว คนที่ไม่มีความสัมพันธ์กับเด็ก ความรู้สึกที่ว่าคือ จุดเริ่มต้นของความเสียสละที่มีที่มาจากความนับถือตนเองของเด็ก

          และการทำให้เด็กรู้จุดประสงค์และเป้าหมายของสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ด้วยการชักชวนทำโครงการจิตอาสา ก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ทำให้เด็กรู้ว่า เราทำงานไปเพื่ออะไร เราเก่งไปเพื่ออะไร แรงจูงใจของเราคืออะไร และเราจะตั้งใจทำทุกอย่างไปทำไม แต่ต้องไม่ลืมว่า ควรปล่อยให้เด็กฝึกคิดโครงการด้วยตัวเอง ด้วยการระดมสมองของเด็กเองไม่ใช่การได้รับหัวข้อจากผู้ใหญ่

 

6. เสริมแรงจูงใจด้วยการปลดปล่อยให้ลงมือทำและผิดพลาด

          หลายคนคงรู้ว่า สิ่งที่ท้าทายมักจะสนุก และความสนุกมีที่มาจากสองอย่าง อย่างแรกคือสนุกไปกับชัยชนะ อย่างที่สองคือสนุกไปกับความพ่ายแพ้ มันจะดีไม่น้อยถ้าผู้ใหญ่ไม่นับบาดแผลแห่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับลูก แต่ให้เปลี่ยนไปนับภาพความสนุกของเด็กแทน การได้รับการปลดปล่อยให้ลงมือทำอย่างอิสระโดยไม่คำนึงถึงความผิดพลาดหรือแพ้พ่าย จะทำให้ลูกหลานของเรา มีโอกาสได้ลองใช้ความพยายามมาก ๆ กับทุกงานที่ได้รับมอบหมาย สร้างแรงจูงใจให้กับตนเองด้วยตัวเองได้ แต่ในทางกลับกัน หากเด็กไม่ได้รับโอกาสนั้นล่ะ พวกเขาคงจะไม่รู้สึกสนุกกับสิ่งใดเลยละมั้ง และเมื่อเป็นเช่นนั้น แรงจูงใจของเด็กก็คงจะถูกลดลงโดยอัตโนมัติ

 

7. ชี้แนะให้เด็กมองไอดอลด้วยเทคนิคการตั้งคำถาม

          มาถึงเทคนิคสุดท้ายแล้ว ทีนี้อยากจะชี้ชวนให้ลองคิดดูว่า เราสามารถห้ามเด็กไม่ให้ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียได้หรือไม่ หลายคนส่ายหน้า ใช่แล้ว มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย งั้นถ้าลองเปลี่ยนเป็นการออกแบบการฝึกให้เด็กรู้จักตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ดูล่ะ น่าจะเป็นการเสริมทักษะศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กได้ดียิ่งกว่า

          เคยได้ยินคำว่า ไอดอล ใช่หรือไม่ ยุคนี้บอกเลยว่า ไอดอลมีผลต่อการสร้างแรงกระตุ้นในการทำงานให้แก่เด็ก ๆ มาก ทุกคนเคยลองถามเด็กของเราเกี่ยวกับคำว่า ไอดอลในใจพวกเขาไหม หรือคุณเคยลองใช้ความพยายามทำความรู้จักกับสิ่งที่เด็ก ๆ ติดตาม หรือผู้คนที่พวกเขาชื่นชอบ และเคยฝึกให้พวกเขาได้ลองตั้งคำถามกับสิ่งนั้น ๆ หรือเปล่า เชื่อไหมว่า การทำเช่นนั้นสร้างพลังบวกให้กับเด็กอย่างมาก ช่วยทำให้เด็ก ๆ เริ่มมองเห็นว่า ไอดอลของตัวเองมีสิ่งใดเป็นแรงจูงใจในการทำงาน ทำไมไอดอลถึงพิเศษและน่าจดจำ เทคนิคข้อนี้จะช่วยให้เด็กเกิดการทบทวนสิ่งที่ชอบ นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกให้เด็กจดจ่อกับการตั้งคำถามด้วยความสงสัยใฝ่รู้อีกด้วย เพราะการที่เด็ก ๆ เริ่มคิดที่จะติดตามการทำงานของไอดอลที่ตนชอบ จะทำให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการทำงานนั้นด้วยเช่นกัน

 

          ถึงตอนนี้คุณเชื่อหรือยังว่า บางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต หากเราได้ลองใช้ความพยายามกับมันน้อยจนเกินไป เราจะรู้สึกว่ามันง่ายเสียจนเราลืมที่จะสนุกไปกับมัน คุณคงไม่อยากให้ลูกหลานต้องเผชิญกับสถานการณ์การขาดแรงจูงใจ จากการหมดสนุกกับทุกอย่าง ยังไม่สายเกินไปที่จะลองนำ 7 เทคนิคสนุก ๆ นี้ไปปรับใช้ เพื่อสร้างเรื่องราวดี ๆ ให้กับลูกหลานที่คุณรักกันดู แล้วอย่าลืมมาเล่าสู่กันฟังล่ะ

 

ปริณุต ไชยนิชย์

 

ข้อมูลจาก บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู เวทีทอร์คจากผู้เชี่ยวชาญ นักศึกษา นักเรียนจาก  https://www.ted.com/  และงานวิจัยจาก  https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JMND/article/download/187152/134079/571112

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow