เด็กเรียนรู้ช้า หรือ Slow Learner หมายถึง เด็กที่มีปัญหาการเรียน อันเนื่องมาจากระดับเชาวน์ปัญญาตํ่ากว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากเด็กมีการรับรู้และทำความเข้าใจได้ช้า หรืออาจเป็นเด็กด้อยโอกาสทางสังคม ทางวัฒนธรรม หรือทางเศรษฐกิจมากจนมีผลกระทบต่อเชาวน์ปัญญา
เด็กกลุ่มนี้ไม่จัดว่าเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา หากทดสอบระดับเชาวน์ปัญญาจะพบว่ามีระดับเชาวน์ปัญญาอยู่ระหว่าง 70 - 89 ซึ่งปัญหาที่พบในเด็กกลุ่มนี้ คือ เรียนไม่ทันเพื่อนและมักเกิดปัญหาอารมณ์หรือพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ตามมา ปัญหานี้พ่อแม่ช่วยได้ แค่ทำความเข้าใจและช่วยพัฒนา
• ไม่สามารถทำงานหรือเรียนรู้สิ่งที่เด็กในช่วงอายุเดียวกันเรียนรู้ได้
• เรียนรู้-รับรู้-เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ช้ากว่าเด็กคนอื่น โดยเฉพาะความคิดแบบนามธรรม
• มีการคิดและการตัดสินใจช้า
• มีการตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้า
• ความคิดดูไม่เป็นระบบ หรือไม่ค่อยมีเหตุผล
• มักแก้ปัญหาโดยการลองผิดลองถูก และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ไม่สมวัย
• มีความสนใจสั้น ทำงานอะไรไม่ค่อยได้นาน รวมทั้งไม่สามารถยับยั้งสิ่งรบกวนที่มากระทบได้
• มักมีความสนใจใฝ่รู้อยู่ในระดับน้อย
1. ภาวะทางร่างกายที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก
สภาวะความบกพร่องทางร่างกาย หรือโรคบางอย่างสามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของสมองและการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ไม่เต็มศักยภาพ ถูกมองว่าเป็นเด็กที่มีปัญหาเรียนช้า ภาวะเหล่านั้นได้แก่
• โรคทางระบบประสาท ที่พบได้บ่อย คือ โรคลมชัก โรคไข้สมองอักเสบ หรือภาวะที่เกิดการกระทบกระเทือนต่อสมองตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ เช่น แม่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ แม่ได้รับสารตะกั่วระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะขาดออกซิเจนระหว่างการคลอดหรือหลังคลอด ซึ่งภาวะเหล่านี้มีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองและมักมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองอย่างถาวร
• ปัญหาด้านการมองเห็น และการได้ยิน แต่เมื่อให้การช่วยเหลือก็ทำให้เด็กสามารถกลับมาเรียนหนังสือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
• ภาวะโลหิตจางเรื้อรัง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความบกพร่องทางพัฒนาการของระบบประสาทในวัยเด็ก เด็กที่มีภาวะโลหิตจางจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจลําบากเวลาออกแรง สมาธิในการเรียนลดลง
• ภาวะการขาดสารไอโอดีน อาการของเด็กที่มีการขาดสารไอโอดีนคือ มีคอพอก ซึ่งมีลักษณะคอโต ตัวเตี้ย แคระแกรน พัฒนาการช้า นอกจากนี้ยังพบว่าการขาดสารไอโอดีนเพียงเล็กน้อยไม่ทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกาย แต่จะส่งผลต่อระดับเชาวน์ปัญญาของเด็ก
• ภาวะทุพโภชนาการ การขาดสารอาหารที่จําเป็นต่อร่างกาย
2. การเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อม
มีงานวิจัยที่ให้เด็กกลุ่มหนึ่งถูกปล่อยให้เลี้ยงตามธรรมชาติเท่าที่ครอบครัวมีความรู้ และอีกกลุ่มหนึ่งให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง โดยการให้ข้อมูลพูดคุยกับเด็ก สอนเด็กทุกอย่างตั้งแต่ช่วงแรกเกิด พบว่าเด็กกลุ่มที่สองมีการเรียนรู้ที่เร็วกว่าเด็กในกลุ่มแรก ดังนั้นการเลี้ยงดูที่ดีจึงมีผลทำให้สมองของเด็กถูกกระตุ้นให้คิด จินตนาการ หรือคิดแก้ปัญหา เส้นใยของสมองจะมีการแตกกิ่งก้านสาขา มีการเจริญเติบโต และเรียนรู้ได้เร็วกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย
1. สนับสนุนให้ลูกเรียนรู้ตามความถนัด
เด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป เด็กบางคนชอบที่จะเรียนรู้จากภาพ เด็กบางคนจะเข้าใจได้ดีขึ้นเมื่ออธิบายเป็นกราฟหรือแผนภูมิ หรือเด็กบางคนถนัดเรียนรู้แบบปฏิบัติ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตว่าลูกเรียนรู้ได้ดีในแบบไหน แล้วจึงส่งเสริมด้วยวิธีการนั้น ๆ
2. ส่งเสริมให้ลูกได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน
แม้ลูกจะเรียนรู้ได้ช้าแต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่มีความสามารถด้านอื่น ๆ ลองเปิดโอกาสให้ลูกได้มีงานอดิเรกหรือทำกิจกรรมที่สนใจ เช่น ดนตรี ศิลปะ งานประดิษฐ์ หรือเล่นกีฬา โดยให้ลูกค้นหาสิ่งที่เขาชอบด้วยตนเอง และส่งเสริมเขาในจุดนั้น เพราะความสำเร็จไม่ได้หมายถึงการเรียนเสมอไป แต่รวมถึงความสุขในการใช้ชีวิตและความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับส่วนนี้ด้วยเช่นกัน
3. สอนให้ลูกมีความพยายาม
ให้เขารู้จักมีเป้าหมายในชีวิต ลองให้ลูกสร้างเป้าหมายเล็ก ๆ และวิธีที่จะไปให้ถึง เช่น เก็บเงินเพื่อซื้อของที่อยากได้ หรือเพาะปลูกต้นไม้ เพื่อให้ลูกได้เห็นคุณค่าของการพยายามและเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองเมื่อสามารถบรรลุเป้าหมายได้
4. สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ในแบบต่าง ๆ และรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง
เด็กที่เรียนรู้ช้าจะมีปัญหาด้านอารมณ์ จึงควรสอนให้ลูกรู้จักวิธีผ่อนคลายเมื่อเกิดความเครียดหรืออารมณ์ต่าง ๆ เพราะความเครียดส่งผลต่อการทำงานของสมอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องทำความเข้าใจกับอารมณ์ของลูก และมีวิธีรับมือที่ดีเวลาที่ลูกเกิดความเครียด
5. ดูแลสุขภาพของลูกให้ดี
เพราะสุขภาพที่ดีจะนำมาสู่สุขภาพจิตที่ดีด้วยเช่นกัน ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น โดยการให้ลูกออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ
นัททยา ทรูปลูกปัญญา
ข้อมูลจาก ทำความเข้าใจเด็กเรียนรู้ช้า (Slow Learner) ลูกเราเป็นหรือไม่ https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/55838