สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนแต่ละมาตรามีความแตกต่างกัน ทั้งสิทธิการเจ็บป่วย การคลอด เงินสงเคราะห์บุตร ฯลฯ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียสิทธิของตนเอง ว่าที่คุณพ่อคุณแม่จึงควรตรวจสอบสิทธิของตนเองว่าครอบคลุมสิทธิใดได้บ้าง โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ดังต่อไปนี้
สำหรับแม่ท้องที่อยู่ในประกันสังคมตรงกับมาตรา 33/39 จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ดังนี้
ประกันสังคมจะจ่ายค่าฝากครรภ์ให้แม่ท้อง โดยปรับเพิ่มจากเดิม 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,000 บาท เป็น 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,500 บาท ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
ค่าคลอดบุตรเป็นจำนวน 15,000 บาท ไม่จำกัดโรงพยาบาลและจำนวนครั้ง พร้อมรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร เหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน (เงินสงเคราะห์สามารถเบิกได้สูงสุดไม่เกิน 2 ครั้ง)
สำหรับคุณพ่อที่มีภรรยาจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย หรือมีหญิงที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา จะได้รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท
1. ต้องเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39
2. ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน หรือภายใน 15 เดือน ก่อนครบกำหนดเดือนคลอดบุตร จึงจะสามารถเบิกค่าคลอดประกันสังคมได้
3. กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่จำกัดจำนวนบุตร/ครั้ง
สำหรับแม่ท้องที่อยู่ในมาตรา 40 จะได้รับสิทธิแตกต่างกันไปตามทางเลือกที่จ่ายค่าประกันสังคม โดยทางเลือกที่ 1 และ 2 จะไม่ได้รับสิทธิทั้งคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์บุตร แต่ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 3 จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 200 บาท/คน/เดือน (ครั้งละไม่เกิน 2 คน)