Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นักศึกษาฝึกงาน ถูกหัวหน้าโพสต์แฉพฤติกรรม มีกฎหมายใดคุ้มครอง

Posted By รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์ | 02 ธ.ค. 65
4,116 Views

  Favorite

          นักศึกษาฝึกงานนั้นมีคนตั้งข้อสังเกต และมีคำถามอยู่เสมอว่าเมื่อเกิดปัญหาใด ๆ ก็ตามมีกฎหมายตัวใดช่วยคุ้มครองบ้าง ยิ่งมีกรณีการโพสต์แชร์แฉพฤติกรรมนักศึกษาบนสื่อออนไลน์ 

ตัวอย่างสมมุติ หัวหน้างานหรือผู้บริหารบริษัทฯ โพสต์เล่าเรื่องราวของเด็กฝึกงานในสื่อโซเชียลตั้งค่าสาธารณะ โดยสาระสำคัญ นักศึกษาฝึกงานทำงานตามหน้าที่มอบหมายได้ดีไม่มีปัญหาเรื่องเนื้องาน แต่มีปัญหาในเชิงพฤติกรรม ทำเฉพาะงานตามหน้าที่  ไม่ทักทายมีปฎิสัมพันธ์เพื่อนร่วมงาน หัวหน้าหรือผู้บริหาร  โดยมีมุมมองว่า เธอมาฝึกงานจะต้องมาเข้าสังคมมาหาคอนเน็คชั่น ถ้าจะมาทำแค่ตัวผลงานนั้นมันยังไม่พอ ซึ่งมีการคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาของน้องฝึกงาน อาจารย์ก็เห็นพ้องต้องกันกับทางบริษัทฯ แถมร่วมวิจารณ์เอาพฤติกรรมของน้องฝึกงานในขณะที่เรียนอยู่มาเล่าให้ฟังด้วย 

มาดูกันให้ชัดเจนว่ามีตัวบทกฎหมายใดคุ้มครองน้อง ๆ นักศึกษาเด็กฝึกงานกับปัญหาตัวอย่างสมมุตินี้

 

กฎหมายแรงงานคุ้มครองหรือไม่

          ในการทำงานของนักศึกษาฝึกงานนั้นยังไม่ใช่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงไม่อยู่ในสถานะที่จะได้รับการคุ้มครองในหลาย ๆ เรื่องตามกฎหมายแรงงาน  เช่น ค่าจ้าง  ค่าล่วงเวลา ฯลฯ  ทำให้อาจต้องทำงาน “ฟรี”  ในแง่ “ตัวเงิน” เพราะเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งในหลักสูตร แม้ว่านักศึกษาบางคนทำงานให้บริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือผลงานที่เอาไปใช้ทางธุรกิจได้จริงพอกับหรือมากกว่าพนักงานประจำก็ตาม  ดังนั้น ชัดเจนว่ากฎหมายแรงงานไม่ได้คุ้มครอง
 

แล้วกฎหมาย PDPA ล่ะ

          กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA ไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่าง พนักงานประจำกับ  นักศึกษาฝึกงาน  ส่งผลว่า ถ้าบริษัทเก็บรวบรวมใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของทั้งพนักงานและนักศึกษา ซึ่งต้องอยู่ภายใต้หน้าที่หลัก ๆ ของกฎหมายคือ  ต้องขอความยินยอมก่อนการเก็บและใช้ข้อมูล ถ้าไม่เข้าข้อยกเว้นต่าง ๆ เช่น มีกฎหมายสั่งให้เก็บข้อมูล หรือการใช้ข้อมูลเกี่ยวเนื่องกับข้อตกลงระหว่างกัน  อีกทั้งต้องแจ้งต่อพนักงานหรือนักศึกษาฝึกงานด้วยว่าจะเอาข้อมูลของเขาไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร  

 

หากหัวหน้างานหรือผู้บริหารเอาข้อมูลส่วนตัวนักศึกษาไปใช้ผิดจากวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้หรือไม่ได้ขอความยินยอมจะเป็นการผิดกฎหมาย การเก็บรวบรวมใช้ข้อมูลของนักศึกษา ไม่ใช่แค่ ประวัติ CV  Resume หรือเอกสารประกอบอย่างสำเนาบัตรฯ  แต่ “ข้อมูลส่วนบุคคล” รวมถึงข้อมูลอะไรก็ตามที่ระบุตัวคนได้  แม้แต่บทสนทนา การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคล ก็เป็นการ “เปิดเผย” ข้อมูลส่วนบุคคล  

 

ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานตามข้อตกลงฝึกงาน เช่น แคปข้อความแชทเกี่ยวกับรายละเอียดงานที่ให้นักศึกษาทำและส่งให้ทีมงาน โดยมีชื่อผู้ร่วมทีมและนักศึกษา หรือการนัดหมายงาน ฯลฯ   อาจเข้ากรณียกเว้นไม่ต้องขอความยินยอม  แต่ถ้าหัวหน้างานแคปบทสนทนากับนักศึกษาฝึกงานในเรื่องส่วนตัวแล้วเอาไป “แขวน” หาแนวร่วมให้ชาวโซเชียลมาร่วมวิพากษ์พฤติกรรมก็เป็นการ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงาน

 

ต้องมาดูให้ชัดเจนว่าบริษัทฯ นั้น “ขออนุญาต” นักศึกษาที่เป็นเจ้าของข้อมูล หรือ เข้าข้อยกเว้นอื่นหรือไม่  ซึ่งโดยทั่วไปก็เห็นว่ากรณีเช่นนี้เกินขอบเขตสิทธิที่หัวหน้างานพึงจะมี  อีกทั้งในแง่กฎหมาย PDPA ตัวองค์กรหรือบริษัทอาจมีปัญหาด้วยว่า ไม่มีมาตรการอะไรมาดูแลข้อมูลของนักศึกษาฝึกงานหรือพนักงานของตนให้ปลอดภัยหรือไม่รั่วไหลสู่ภายนอก 

 

PDPA เป็นกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องเฉพาะในแง่ของ “ข้อมูล” เท่านั้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาจำพวก  นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้าง  ผู้บริหารจะยุติการฝึกงานส่งตัวนักศึกษาที่ไม่เข้า “เกณฑ์” ของบริษัทนั้นกลับคืน หรือถึงขั้นจะไม่รับนักศึกษาฝึกงานจากสถาบันนั้นไปเลย  เหล่านี้ไม่ได้เป็นความผิดตาม PDPA 

 

หากหัวหน้างานไม่พอใจในทัศนคติหรือพฤติกรรมของนักศึกษาฝึกงาน และเลือกที่จะเรียกนักศึกษานั้นไปคุยเป็นการส่วนตัวจะตำหนิ หรือยุติการฝึกงานก็ไม่มีประเด็นกับ PDPA  หรือหากจะมีการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นไปตามกระบวนการภายใน เช่น การประเมินผล การทำรายงานสรุปความเห็นส่งสถาบัน ฯลฯ ก็ยังอาจถือว่าอยู่ในขอบเขตการปฎิบัติติตามข้อตกลงการฝึกงานระหว่างกัน

 

ซึ่งตามตัวอย่างสมมุตินั้น ใช้วิธีมาเล่าเรื่องพฤติกรรมนักศึกษาฝึกงานในสื่อออนไลน์เปิดเป็นสาธารณะให้ชาวโซเชียลวิพากษ์  ไม่ว่าจะด้วยเจตนาอะไร เช่น อยากให้ชาวโซเชียลที่มีมุมมองเดียวกับผู้บริหารช่วยกันรุมสับ  ส่งสัญญาณประนามนักศึกษาฝึกงานคนอื่นที่มีพฤติกรรมทำนองเดียวกันไปอีก  ฯลฯ  การทำแบบนี้ อยู่นอกขอบเขตการใช้ข้อมูลตามข้อตกลงของการฝึกงาน เมื่อเทียบกับกรณีลูกจ้างก็คือ นายจ้างอาจเรียกตำหนิทำหนังสือเตือน แต่การเอาพฤติกรรมลูกจ้างมาโพสต์ประจาน ก็อยู่นอกขอบเขตสิทธิหน้าที่นายจ้างเช่นกัน 

 

          ข้อสำคัญตามตัวอย่างสมมุตินี้   หัวหน้างานเล่าเรื่องพฤติกรรมของน้องฝึกงานโดยไม่ได้ระบุชื่อ จริง ชื่อเล่น ภาพประกอบ ชื่อสถาบันก็ไม่พูดถึง  เมื่อดูนิยามของข้อมูลส่วนบุคคลตาม PDPA จะต้องเป็นข้อมูล “ระบุตัวได้”  ดังนั้น การโพสต์แบบนิรนามจะยังไม่เข้าข่ายการ “เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล” แต่อย่าลืมว่า ข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงข้อมูลที่ระบุตัวได้ “โดยอ้อม” ซึ่งค่อนข้างกว้าง ขึ้นกับสภาพแวดล้อมการสื่อสาร เช่น   ในโพสต์ไม่ระบุชื่อ แต่อ่านดูประกอบกับเนื้อหาการสื่อสารอื่นของหัวหน้างานทำให้ระบุได้ว่า นักศึกษาฝึกงานเป็นใคร ก็อาจเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหลักการคล้าย ๆ กับกฎหมายหมิ่นประมาทที่แม้จะไม่ระบุชื่อ แต่หากคนทั่วไปได้อ่านแล้วเข้าใจได้ว่าเป็นใครก็ยังเป็นหมิ่นประมาทได้    

 

          ทั้งหมดนี้คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนในเบื้องต้นว่ากฏหมายใดคุ้มครองนักศึกษาฝึกงานบ้าง และชัดเจนในกรณีตัวอย่างสมมุติ  ขอย้ำว่า หากไม่มีข้อมูลประกอบที่ระบุตัวได้อย่างเช่น ชื่อ ภาพ ฯลฯ ก็ยังไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย PDPA แล้วก็ยังอาจไม่ถึงขั้นหมิ่นประมาทด้วยถ้าคนอ่านไม่รู้ว่าคือใคร  สุดท้ายจึงเป็นแค่โพสต์กอสซิปใครสักคนบนโลกใบนี้ ที่ไม่มีตัวตนอ้างอิงเจาะจง 
                

 

 

                                  รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์

                            สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล ม.เกษมบัณฑิต

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์
  • 0 Followers
  • Follow