Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แนะนำกิจกรรมเด็ด ที่ช่วยสร้างทักษะการเรียนรู้ และการเอาตัวรอดสำหรับเด็กประถมวัย

Posted By Plook TCAS | 28 พ.ย. 65
6,966 Views

  Favorite

การเรียนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างพื้นฐานความสำเร็จให้ลูกก็จริง แต่กิจกรรมถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ในวัยประถมปลาย ได้เรียนรู้โลกที่กว้างขึ้นกว่าแค่การเรียนรู้ในบ้านและโรงเรียน รวมทั้งสามารถฝึกดูแลตนเองผ่านประสบการณ์ที่ได้จากกิจกรรมอีกด้วย

ทักษะสำคัญสำหรับเด็กในวัยนี้ นอกจากการอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณ ที่เด็ก ๆ จะได้รับโดยตรงจากในห้องเรียนแล้ว ผู้ปกครองยังสามารถเสริมเติมทักษะอื่น ๆ ให้เด็ก ๆ ทางอ้อมได้อีกด้วย โดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

ผู้กุมความลับ

ฝึกทักษะการป้องกันภัยให้ตัวเองตั้งแต่เล็ก ๆ จะมีส่วนสร้างเกราะคุ้มกันภัยให้เด็กได้เป็นอย่างดี โดยให้เด็ก ๆ ตระหนักถึงความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขในชีวิตประจำวัน เช่น การเก็บรักษารหัสต่าง ๆ ตัวเลขบนบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ของตนเองหรือคนในครอบครัว และบ้านเลขที่ที่ไม่อาจเผยแพร่ทั่วไปได้ หากไม่มีเหตุอันสมควร รวมถึงการจดจำเบอร์โทรฉุกเฉินต่าง ๆ เพื่อใช้ในยามจำเป็น

 

นักเล่าเรื่อง

การฝึกทักษะด้านการสื่อสารถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเด็กในช่วงวัยนี้ โดยกิจกรรมแรกที่ขอนำเสนอคือ ฝึกทักษะการเล่าเรื่อง หรือ Storytelling Skills ให้กับเด็ก ผ่านบัตรภาพเล่าเรื่องหรือบอร์ดเกมเล่าเรื่อง ที่จะช่วยพัฒนาทักษะการคิด ภาษา และการสื่อสาร เมื่อเด็กเกิดความคล่องแคล่วชำนาญ เข้าใจองค์ประกอบของการเล่าเรื่อง จึงค่อยให้เด็กลองเปลี่ยนตัวละครจากที่เกมกำหนดมาเป็นตัวเอง แล้วเล่าปากเปล่าให้คนในครอบครัวฟัง จากนั้นค่อยขยับไปเป็นการเล่าเรื่องผ่านเครื่องมือสื่อสารให้คนที่อยู่ไกลกันได้ฟัง เช่น โทรไปหาคุณยาย คุณย่า หรือวิดีโอคอล เช่น VROOM ไปเล่าเรื่องราว หรืออาจจะมีท่าทางประกอบตามจินตการที่เด็กวาดไว้

 

นักสำรวจประจำบ้าน

ฝึกการช่างสังเกตและความรอบคอบในการดูแลบ้าน ถือว่าเป็นอีกหนี่งโจทย์ที่ท้าทายที่ผู้ปกครองสามารถฝึกลูกได้ตั้งแต่เล็ก ๆ แม้ว่าเรื่องระบบน้ำไฟภายในบ้านเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องจัดการเป็นหลักอยู่แล้ว แต่หากพาเด็กไปสำรวจทำความรู้จักโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของบ้านที่ตนเองอยู่อาศัย ก็จะช่วยเพิ่มทักษะในการเอาตัวรอดเมื่อพบเจอสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เช่น รู้ตำแหน่งเบรกเกอร์ในบ้าน วิธีสับเบรกเกอร์ ตำแหน่งวาล์วน้ำในจุดต่าง ๆ วิธีเปิด-ปิด วาล์วน้ำ และการเปิด-ปิด แก๊สในครัว ทั้งในแง่ที่ต้องระมัดระวังในการใช้ และการช่วยพ่อแม่ดูแลความเรียบร้อยในบ้าน

 

ผู้จัดการตัวน้อย

กิจกรรมต่อมาคือการฝึกการเป็นนักบริหารจัดการให้แก่เด็ก ๆ ตั้งแต่ในวัยประถมศึกษา โดยให้เด็กได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่สามารถดูแลระบบได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น ระบบขนมในตะกร้าของครอบครัว เริ่มตั้งแต่รับงบประมาณจากพ่อแม่ เลือกซื้อขนมที่หลากหลายให้ตรงกับความชอบของคนในครอบครัว ฝึกดูรายการในใบเสร็จและจำนวนเงินที่จ่ายพร้อมเงินทอน บริหารจัดการจำนวนขนมในตะกร้าให้เหมาะสมกับระยะเวลา และทำบัญชีบันทึกรายการซื้อขนมและเงินที่เหลือ เพื่อควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงรายการขนมในรอบถัดไป

 

นักเดินทาง

เด็กวัยประถมศึกษาเป็นวัยที่เด็กได้เริ่มสะสมการเดินทางมาได้สักระดับหนี่งแล้ว รู้จักเส้นทางจากบ้านไปโรงเรียน จากโรงเรียนกลับบ้าน รู้จักเส้นทางที่มักเดินทางผ่านบ่อยครั้ง การฝึกทักษะให้เด็กได้เรียนรู้เส้นทางจะเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้เด็กเอาตัวรอดได้ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฝึกให้เด็กรู้จักการดูแผนที่ก่อนออกเดินทางและขณะเดินทาง เรียนรู้การทำงานของระบบ GPS  ให้เด็กเรียนรู้เรื่องทิศทาง ระยะทาง ตำแหน่ง และสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในการอ่านและแปลความหมายแผนที่ได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการมองหาหรือสังเกตทางออกของทุกสถานที่ที่ไปไว้เสมอ นั้นคือการฝึกทักษะการเอาตัวรอดทางอ้อมให้แก่ลูก ๆ หลาน ๆ ของท่าน 

 

ผู้ควบคุมกฎ

วินัยเป็นรากฐานสำคัญต่อความสำเร็จของลูกในทุกช่วงวัย กิจกรรมง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ คือการชวนเด็ก ๆ จัดข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวให้เป็นหมวดหมู่ ด้วยการสร้างป้ายกำกับ เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นหยิบใช้งานง่าย และถูกเก็บเข้าที่ในภายหลัง เช่น หนังสือบนชั้น ของสะสม หรืออุปกรณ์เครื่องเขียน โดยฝึกให้เด็กคิดเขียนหมวดหมู่ตามความถนัดของตนเอง เช่น เด็กอาจจะไม่ได้แบ่งหนังสือบนชั้นตามประเภทของหนังสือ แต่แบ่งตามความชอบ หรือความถี่ในการใช้งาน

 

มาสเตอร์เชฟจูเนียร์

การฝึกให้เด็กรู้จักดูแลตัวเองจะช่วยทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ เช่น ฝึกให้เรียนรู้การทำอาหารอย่างง่ายกินเองได้หากมีเหตุจำเป็น เช่น วิธีหุงข้าว การวัดปริมาณน้ำในการหุง การทำไข่ให้สุก หรือการผสมของวัตถุดิบอื่น ๆ ที่หาง่าย เช่น ขนมปัง นม ผลไม้ ธัญพืชอบกรอบ หรือโยเกิร์ต ซึ่งนอกจากการประกอบร่างวัตถุดิบเหล่านี้ให้เป็นเมนูใหม่ ๆ ได้แล้ว ยังต้องให้เด็กเรียนรู้การอ่านฉลาก ดูวันหมดอายุของอาหาร และวิธีสังเกตอาหารที่หมดอายุในกรณีที่ไม่มีฉลาก

 

หลาย ๆ ครั้งที่ทักษะการอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณสอดไส้มาในรูปแบบของการแก้ปัญหา ซึ่งอยู่ในกระบวนท่าของการฝึกทักษะชีวิต สิ่งสำคัญที่จะทำให้ทักษะเหล่านี้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือการรู้จักนำทุกทักษะ มาประยุกต์ใช้ให้ได้กับชีวิตจริง และนี่ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ผู้ปกครองควรออกแบบกิจกรรมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของลูก เพื่อให้ลูกของท่านเป็นเด็กที่มีคุณภาพทั้งด้านการเรียนรู้ และการประยุกต์ใช้สิ่งที่รู้ในการเอาตัวรอดและสร้างพัฒนาการที่ดีให้แก่ตัวเอง

 

ข้อมูลจาก

7 กิจกรรมช่วยฝึกทักษะ ให้เด็กได้มีบทบาทหลากหลายในชีวิตประจำวัน https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/89882

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow