ในสภาวะปกติที่มีออกซิเจน ร่างกายจะย่อยสลายโมเลกุลกลูโคสด้วยการหายใจแบบใช้ออกซิเจน ซึ่งมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ไกลโคไลซิส 2) การสร้างอะซิติลโคเอนไซม์เอ 3) วัฏจักรเครปส์ 4) การถ่ายทอดอิเล็กตรอน แต่ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนหรือออกซิเจนไม่เพียงพอ เซลล์จะไม่สามารถย่อยสลายโมเลกุลอาหาร เพื่อให้ได้พลังงานมาก ๆ เหมือนกับการหายใจโดยใช้ออกซิเจนได้ จึงเกิดการหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจนหรือ anaerobic respiration แทน โดยการหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจนนี้จะให้พลังงานออกมาเพียง 2 ATP ต่อกลูโคส 1 โมเลกุลเท่านั้น และได้กรดแลกติกออกมา ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อเมื่อยล้า อย่างไรก็ตามเมื่อร่างกายได้รับออกซิเจนเพียงพอแล้วก็จะกลับมาหายใจแบบใช้ออกซิเจนเช่นเดิม
การสลายสารอาหารแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic respiration) ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ
1. ไกลโคลิซีส (Gycolysis) เป็นกระบวนการสลายกลูโคสและได้เป็น ATP NADH และกรดไพรูวิก ซึ่งกรดไพรูวิกจะถูกนำไปใช้ต่อได้ทั้งปฏิกิริยาที่ใช้ออกซิเจนและไม่ใช้ออกซิเจน ทั้งนี้กระบวนการไกลโคลิซิสเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะมีออกซิเจนหรือไม่ก็ตาม
2. การหมัก (Fermentation)
2.1 การหมักกรดแลกติก เกิดขึ้นหลังกระบวนการไกลโคลิซิสในสัตว์และแบคทีเรียบางชนิด โดยจะเปลี่ยนกรดไพรูวิกไปเป็นกรดแลกติก
2.2 การหมักแอลกอฮฮล์ เกิดขึ้นหลังกระบวนการไกลโคลิซิสในพืชและยีสต์ โดยจะเปลี่ยนกรดไพรูวิกไปเป็น แอซิตัลดีไฮด์ และเปลี่ยนเป็นเอทานอลในที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง
- การหายใจระดับเซลล์ (Cellular Respiration) : แบบใช้ออกซิเจน