โลกยุคดิจิทัลคือโลกที่ความรู้และความสงสัยสามารถค้นหาคำตอบได้แค่ปลายนิ้ว การเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด การเปลี่ยนแปลงที่มาเร็ว ข้อมูลใหม่ที่ไหลบ่าถาโถม ความรู้หาได้ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ยุคที่ทุกคนมีสิทธิ์ถาม และ Google คือคำตอบ YouTube คือการอธิบายรายละเอียด หรือถ้าอยากลงลึกก็ลงเรียนคอร์สออนไลน์ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามว่า มหาวิทยาลัยและใบปริญญายังจำเป็นอยู่มั้ยสำหรับการเรียนรู้ การทำงาน และการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักแนะแนวการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาโดยตรง มีประสบการณ์การทำงานด้านนี้มาเกือบ 20 ปี ข้อใช้บทความนี้นำเสนอมุมมองแนวคิดที่มีต่อคำถามนี้ อย่างตรงไปตรงมา โดยเปิดโอกาสให้ผู้อ่านทุกท่านทำหน้าที่เป็นผู้ตอบคำถามนี้ด้วยตัวเอง
ในประเทศไทยต้องยอมรับว่าใบปริญญาและการเรียนในระบบมหาวิทยาลัยยังถือว่าสำคัญ ทุกปีจะมีเด็กมัธยมปลาย / เทียบเท่า และเด็กซิ่วมากมายตบเท้าเข้าสนามแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัย และความสำเร็จจากการสอบติดมหาวิทยาลัยยังเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ของเด็ก ๆ และเป็นภูมิใจก้อนโตสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง
ทางด้านสังคม ยังคงมีความเชื่อ มีบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดไว้ว่า ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในองค์กร ถ้ามีปริญญาจะมีแต้มต่อในการหางานมากกว่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็ก ๆ หลายคนพยายามไขว่คว้าให้ได้เรียนในสาขาวิชาที่ตัวเองอาจจะชอบหรือไม่ชอบ แต่ขอแค่ให้ได้สอบติดมหาวิทยาลัย เพียงเพราะต้องการใบปริญญา ไปเป็นใบเบิกทางในการหางานทำในอนาคต แต่ปัจจุบันเริ่มมีหลายคนเห็นแล้วว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน โดยไม่จบมหาวิทยาลัย และไม่มีแม้แต่ใบปริญญาใด ๆ
สำหรับทัศนะของผู้เขียนมองว่า สถาบันการศึกษายังคงเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่า มีความสำคัญ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเป็นแหล่งเรียนรู้ และผลิตทรัพยกรบุคคลที่มีคุณภาพของชาติ เพียงแต่มหาวิทยาลัยต้องเผชิญกับความท้าทายในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งเรื่องของ Digital Disruption เรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่ Aging Society และการที่ต้อง Reskill สาขาอาชีพที่เสี่ยงตกงานตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ในตลาดแรงงานตามการผันผวนของโลกในยุคดิจิทัล
ดังนั้น สถาบันการศึกษาจะต้องปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ให้เป็นสถาบันการเรียนรู้ที่เน้นทักษะอาชีพโดยเฉพาะ สร้างหลักสูตรเน้นทักษะที่นำไปใช้ในการทำงานได้จริง ไม่เน้นแต่ทฤษฎี และการเรียนนี้ไม่ได้จำกัดแค่นิสิต นักศึกษา แต่คนทั่วไปที่ต้องการเปลี่ยนสายงานสามารถเข้ามา Reskill ตัวเองได้ โลกของมหาวิทยาลัยจึงเปิดกว้างไม่ใช่แค่โลกของเด็กวัยรุ่น หรือจุดเชื่อมต่อของวัยมัธยมกับวัยทำงาน แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ส่วนกลางสำหรับคนทั้งมวล
ปริญญาจากมหาวิทยาลัยอาจจะสำคัญกับคนที่อยากทำงานราชการ บริษัทเอกชน หรืออาชีพที่มีกฎระเบียบในการรับสมัครอย่างชัดเจนว่าต้องมีวุฒิระดับปริญญา เพราะปริญญาเป็นสิ่งที่การันตีว่าคนนั้นได้ศึกษาและมีความรู้ในสาขาอาชีพตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ซึ่งความรู้เหล่านั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงานในสายงานนั้น
งานที่จำเป็นต้องใช้ใบปริญญาหรือวุฒิการศึกษาคือ งานที่ต้องใช้ความรู้ทักษะทางวิชาการ ใช้วิชาเฉพาะที่ต้องเรียนรู้ในศาสตร์นั้นโดยตรง ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ถึงจะทำงานได้ เช่น ทนายความ ผู้พิพากษา แพทย์ ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ รังสีเทคนิค พนักงานบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชี เภสัชกร นักโภชนาการ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก หรือครู เป็นต้น งานเหล่านี้ถ้าไม่ได้เรียนมาตรงสาย จะไม่สามารถประกอบอาชีพได้
ส่วนงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้วุฒิการศึกษาคือ กลุ่มงานที่เน้นฝีมือ ผลงาน ทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถเฉพาะตัว หรือแรงงานมากกว่าวุฒิการศึกษาจากใบปริญญา เช่น นักร้อง นักดนตรี นักแสดง พนักงานขับรถ พ่อครัวแม่ครัว ค้าขาย เกษตรกร งานบริการ นักธุรกิจ ช่างภาพ จิตรกร ช่างศิลป์ เป็นต้น แม้จะไม่ได้จบตรงสายงาน หรืออาจจะไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยเลย ก็สามารถทำงานได้และประสบความสำเร็จได้
ตอนนี้บริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง Google และ Apple เริ่มปลดแนวคิดเรื่องใบปริญญาออกจากการรับพนักงานแล้ว โดยยักษ์ใหญ่เหล่านี้พิจารณาเลือกรับพนักงานโดยดูจากทักษะ และความสามารถที่ทำงานได้สำเร็จตามต้องการ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีปริญญา หรือแม้ว่าจะไม่เคยผ่านการศึกษาในมหาวิทยาลัยมาก่อนก็ตาม Tim Cook ซีอีโอ Apple ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า พนักงานครึ่งหนึ่งที่เข้ามาทำงานของ Apple US นั้น ไม่มีใบปริญญา โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีมหาวิทยาลัยไหน ที่สอนสกิลที่ผู้บริหารมองหาได้
กว่าจะมีชื่ออยู่บนปริญญาบัตร ไม่ใช่ง่าย ๆ ต้องผ่านการศึกษา การทำกิจกรรม การสอบวัดความรู้ การทำงานกลุ่ม การฝึกงาน เมื่อบริษัทจำเป็นต้องหาคนเข้ามาทำงาน ทุกบริษัทต่างต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถ เหมาะกับงานขององค์กรทั้งนั้น แต่ใครเล่าจะรู้ว่าใครคนใดมีความสามารถ มีความรู้ มีความเหมาะสมกับงานและองค์กร ในเมื่อแผนกบุคคลต้องตามหาสิ่งเหล่านี้จากคนที่พวกเขาไม่ได้รู้จักมาก่อน การคัดกรองเบื้องต้นเพื่อดูจากสิ่งที่การันตีว่าเขาผ่านการศึกษาด้านนี้มาจริง ๆ นั่นคือ ดูจากปริญญาและมหาวิทยาลัยที่พวกเขาจบมานั่นเอง
ปริญญาจึงเป็นเหมือนตั๋วสำหรับการเข้าทำงาน ซึ่งอาจจะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มโอกาสได้งานมากกว่าคนที่ไม่มีปริญญา มีโอกาสเลือกงาน มีโอกาสต่อรองเงินเดือน โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ก็สามารถใช้วุฒิการศึกษาเป็นตัวต่อรองได้ระดับหนึ่ง ถึงแม้บางคนจะบอกว่า มันเป็นแค่กระดาษแผ่นเดียว แต่ถ้ามองในอีกมุมหนี่ง มันคือสิ่งยืนยันว่า เราได้ผ่านด่านสำคัญของชีวิต ด่านแห่งความมุ่งมั่น ขยัน ตั้งใจ และทุ่มเท เพื่อศึกษาหาความรู้ ยิ่งถ้าเรียนจบด้วยเกรดเฉลี่ยที่ดี เกียรตินิยม หรือมีการทำกิจกรรมควบคู่กันไปในระหว่างเรียน จะยิ่งแสดงให้เห็นว่า เรามีวินัย ความรับผิดชอบ มีทักษะการบริหารจัดการเวลาที่ดี หรือถ้าจบปริญญาพร้อมกับมีทักษะด้านภาษา หรือจบจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศมา นอกจากจะเพิ่มโอกาสได้งานแล้ว อาจจะได้ค่าตัวเพิ่มขึ้น เพราะได้ค่าความสามารถทางภาษาเพิ่มอีกด้วย
ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่มีความสามารถและได้รับโอกาสที่ดี ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะบางบริษัทก็ให้ความสำคัญกับทักษะความสามารถมากกว่า รวมถึงในบางอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องใช้ปริญญา อย่างการค้าขายที่ถือว่าไม่ได้จำเป็นนัก ซึ่งหลักฐานสำคัญคือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของคนสมัยก่อนที่เป็นเจ้าของกิจการใหญ่ ๆ ได้ แม้ไม่ได้เรียนสูงก็ตาม แถมยังสามารถจ้างคนเรียนสูง ๆ มาเป็นลูกจ้างในองค์กรอีกด้วย หรือบางสายงานอาจใช้เพียงแค่ Certificate หรือประกาศนียบัตรหลักสูตรฝึกอบรมในด้านนั้นแทน เช่น เชฟ งานไอที งานช่างเทคนิค หรืองานดูแลระบบต่าง ๆ
นอกจากนี้ในยุคดิจิทัลทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว มีคอร์สเรียนฟรีต่าง ๆ มากมายให้ได้ศึกษา ถ้าเราเป็นคนมีของ มีความรู้ ความสามารถ และพร้อมพัฒนา เชื่อว่าหลายบริษัทจะมองข้ามปริญญาและมหาวิทยาลัยไป แล้วดูที่เนื้องานและทักษะของเรามากกว่า
แม้การศึกษาจะไม่ใช่สิ่งรับประกันว่าจะต้องประสบความสำเร็จแน่ ๆ แต่การศึกษาเป็นการเปิดเส้นทางสู่ความสำเร็จทางหนึ่ง ถ้ามีโอกาสเรียนได้ หรือรักและมีความสุขในการเรียน สามารถนำไปต่อยอดอาชีพหรือความฝันและอนาคตของตนเองได้ เรียนไปเถิดค่ะ เรียนให้สูงที่สุดเท่าที่อยากเรียน ใบปริญญาไม่ได้เป็นแค่กระดาษแน่นอน แต่เบื้องหลังของกระดาษใบนั้น มีที่มา มีที่ไป มีความรู้ มีเพื่อน มีครู มีประสบการณ์ มี connection และมีความภาคภูมิใจทั้งของตัวเราเอง และคนที่รักเรา
แต่ถ้าบางคนพยายามแล้วแต่ก็สอบไม่ติด จงอย่าปล่อยให้ชีวิตเสียศูนย์เพราะไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย บางคนค้นพบตัวเอง และวางแผนเส้นทางแห่งอนาคตนั้นเรียบร้อยแล้ว จนพบคำตอบว่า อนาคตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย และไม่ได้เกิดได้จากใบปริญญา ถ้ามั่นใจแบบนั้น คิดอย่างรอบคอบ รัดกุม และมีความสามารถเพียงพอที่จะประกอบอาชีพเหล่านั้นได้ โดยไม่ต้องพี่งมหาวิทยาลัยหรือใบปริญญา ถ้าชัดขนาดนั้น ไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยให้เสียเวลาก็ได้ค่ะ ลุยเลย แล้วค่อยวัดกันที่ผลสำเร็จจากความคิดและการกระทำของเรา
บทความนี้ ไม่มีบทสรุปค่ะ เพราะแต่ละคนย่อมมีเหตุมีผลในการออกแบบชีวิตของตนเองแตกต่างกัน เราไม่จำเป็นต้องใช้ความสำเร็จของคนอื่น มาขีดเส้นวัดความสำเร็จของเรา ทุกคนมีเส้นทางของตนเอง เพียงแต่ขอให้ชัดเจนในคำตอบว่า เราเรียนมหาวิทยาลัยไปทำไม เรียนแล้วได้อะไร และเมื่อจบแล้วจะต่อยอดจากสิ่งที่เรียน จนกลายเป็นอนาคตของเราได้อย่างไร ก็จัดการวางแผนชีวิตเพื่อเข้าสู่เส้นทางมหาวิทยาลัยได้เลย
แต่ถ้าการเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบ แถมตลอดเวลาที่เรียนมีแต่คำถามว่า ทำไมต้องเรียน เรียนไปไม่เห็นได้อะไรเลย ไม่จำเป็นต้องเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้ อาชีพนี้ไม่ได้ใช้ปริญญาเสียหน่อย เรียนรูปแบบอื่นก็ได้ ช่องทางการศึกษามีตั้งหลายแบบ ทำไมต้องเรียนมหาวิทยาลัยด้วย ถ้าแบบนั้น จบค่ะ! เสียเวลาบ่น เสียเวลาตั้งคำถาม ที่จริง ๆ แล้วเราก็รู้คำตอบอยู่แล้วว่า มหาวิทยาลัยและปริญญาไม่ใช่คำตอบของชีวิตเรา ถ้าชัดขนานนั้น ออกแบบเส้นทางชีวิตของตนเองนอกระบบมหาวิทยาลัยได้เลยค่ะ
เส้นทางเดินอาจต่างกัน แต่ความสำเร็จเป็นของทุกคนร่วมกันได้ค่ะ
นัททยา เพ็ชรวัฒนา
ข้อมูลประกอบ
โลกการศึกษาแห่งอนาคต ใบปริญญาจะยังสำคัญอยู่จริงหรือ? https://www.bangkokbiznews.com/columnist/968854
ปริญญายังจำเป็นหรือไม่ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว https://mgronline.com/daily/detail/9630000067238
ปริญญายังสำคัญอยู่ไหม? เมื่อยักษ์ใหญ่ไอที Apple, Google และ Netflix แห่จ้างพนักงานที่ไม่จบปริญญาตรี https://bit.ly/3UMLJXG
ใบปริญญาเป็นเพียงแค่กระดาษจริงหรือ? https://bit.ly/3Ob72zH