การกลั่น (Distillation) เป็นกระบวนการหนึ่งในการแยกของเหลวผสมที่มีสารองค์ประกอบตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปให้บริสุทธิ์ โดยอาศัยความแตกต่างของจุดเดือด เมื่อให้ความร้อนจนของเหลวผสมกลายเป็นไอบางส่วน แล้วทำให้ไอนั้นควบแน่นกลับเป็นของเหลว ของเหลวที่มีจุดเดือดต่ำจะกลายเป็นไอแยกออกมาก่อน ของเหลวที่ที่มีจุดเดือดสูงจะแยกออกมาภายหลัง
1. การกลั่นแบบธรรมดา หรือการกลั่นอย่างง่าย (Simple Distillation) ใช้แยกของเหลวสองชนิดที่มีจุดเดือดแตกต่างกันมากกว่า 80 องศาเซลเซียส หรือแยกของเหลวออกจากของแข็งหรือส่วนประกอบที่ระเหยยาก เช่น สารละลายจุนสี ประกอบด้วยตัวทำละลาย คือ น้ำซึ่งมีจุดเดือด 100 องศาเซลเซียส และตัวถูกละลาย คือ จุนสีซึ่งมีจุดเดือด 650 องศาเซลเซียส เมื่อให้ความร้อนแก่สารละลาย น้ำซึ่งมีจุดเดือดต่ำกว่าจะกลายเป็นไอ เมื่อไอกระทบกับความเย็น จะเกิดการควบแน่นออกมาเป็นน้ำบริสุทธิ์ ขณะที่จุนสีซึ่งมีจุดเดือดสูงยังคงอยู่ในสารละลายเดิม
2. การสกัดโดยการกลั่นด้วยไอน้ำ เป็นวิธีการสกัดสารออกจากของผสมโดยใช้ไอน้ำเป็นตัวทำละลาย ใช้แยกสารที่มีจุดเดือดต่ำ ระเหยง่าย ไม่ละลายน้ำ และไม่ทำปฏิกิริยากับน้ำ ออกจากสารที่ระเหยยาก เช่น น้ำมันมะกรูด น้ำมันตะไคร้ โดยไอน้ำจะเป็นตัวพาสารที่ต้องการออกมาในรูปของไอ และเมื่อผ่านความเย็นทำให้เกิดการควบแน่นเป็นของเหลว จะได้เป็นน้ำมันหอมระเหยที่แยกชั้นกับน้ำ แล้วจึงแยกน้ำมันหอมระเหยออกจากน้ำโดยใช้กรวยแยก
3. การกลั่นลำดับส่วน หรือ การกลั่นน้ำมันดิบ (Fractional Distillation) เหมาะสำหรับกลั่นแยกของเหลวที่มีจุดเดือดใกล้เคียงกัน หรือแยกสารละลายที่ตัวทำละลายและตัวถูกละลายเป็นสารที่ระเหยง่ายทั้งคู่ เช่น การกลั่นน้ำมันดิบ เป็นการนำน้ำมันดิบไปกลั่นเพื่อแยกผลิตภัณฑ์ออกเป็นส่วนๆ โดยส่งน้ำมันดิบเข้าไปในท่อเหล็กที่เรียงเป็นแถวในเตาเผา ที่มีอุณหภูมิ 350-400 องศาเซลเซียส น้ำมันดิบจะเดือดกลายเป็นไอผ่านเข้าไปในหอกลั่นที่มีถาดเป็นชั้นๆ หลายสิบชั้น ไอร้อนที่ลอยขึ้นไป เมื่อเย็นลงก็ควบแน่นเป็นของเหลวบนถาดตามชั้นต่าง ๆ จะอยู่ชั้นใดก็ขึ้นอยู่กับจุดเดือดของไฮโดรคาร์บอนนั้น ไฮโดรคาร์บอนที่มีจุดเดือดสูง จะควบแน่นออกมาที่ส่วนล่างของหอกลั่น ส่วนไฮโดรคาร์บอนที่มีจุดเดือดต่ำ จะควบแน่นออกมาที่ส่วนบนของหอกลั่น