มีกล้ามเนื้อมากกว่า 600 มัดในร่างกายของมนุษย์ กล้ามเนื้อเหล่านี้มีหน้าที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ช่วยในการเคลื่อนไหว ยกสิ่งของ สูบฉีดเลือด ไปจนถึงการหายใจ
กล้ามเนื้อมี 3 ชนิด คือ
1. กล้ามเนื้อลาย (Skeletal muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่เชื่อมต่อกับกระดูกโดยมีเนื้อเยื่อส่วนที่เชื่อมต่อเรียกว่า เอ็นกล้ามเนื้อ (tendons) อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ คือสามารถควบคุมได้ การหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อชนิดนี้ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกระดูก
2. กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscle) อยู่ภายในหลอดเลือดและอวัยวะต่าง ๆ เช่น กระเพาะอาหาร เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานนอกอำนาจจิตใจ ไม่สามารถควบคุมได้
3. กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ ช่วยสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย โดยจะสูบฉีดเลือดอย่างช้า ๆ เมื่อเรานั่งหรือนอน และสูบฉีดเร็วขึ้นเมื่อวิ่งหรือเล่นกีฬา
1. ช่วยในการเคลื่อนไหว เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวและคลายตัว จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อมัดใหญ่จะทำให้เกิดการวิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ส่วนกล้ามเนื้อมัดเล็กทำให้เกิดการแสดงสีหน้า การเขียน หรือการพูด
2. ช่วยให้ร่างกายมีความมั่นคง เส้นเอ็นของกล้ามเนื้อจะยืดเหนือข้อต่อและทำให้ข้อต่อมีความมั่นคง นอกจากนี้กล้ามเนื้อแกนกลางอย่างกล้ามเนื้อหน้าท้อง หลัง และเชิงกราน ยังช่วยให้ร่างกายมีความมั่นคงมากขึ้นด้วย
3. ช่วยให้ร่างกายอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง การอยู่ในท่าทางที่ถูกต้องต้องอาศัยกล้ามเนื้อที่มีความแข็งแรงและยืดหยุ่น ท่าทางที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดการปวดข้อหรือกล้ามเนื้อต่าง ๆ ตามมาในระยะยาว
4. ช่วยให้มีการไหลเวียนของเลือด กล้ามเนื้อหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย โดยการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจอยู่นอกอำนาจจิตใจ นอกจากนี้กล้ามเนื้อเรียบในหลอดเลือดยังมีบทบาทในการไหลเวียนเลือดด้วย
5. ช่วยในการหายใจ การหายใจนั้นเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อกระบังลมซึ่งเป็นรูปโดม ตั้งอยู่ใต้ปอด เมื่อกระบังลมหดตัว ช่องว่างในอกจะเพิ่มขึ้น และเมื่อมันคลายตัวช่องว่างในอกจะลดลงและดันอากาศในปอดออกมา
6. ช่วยการทำงานของระบบย่อยอาหาร กล้ามเนื้อเรียบในระบบย่อยอาหารจะช่วยให้อาหารเคลื่อนผ่านระบบย่อยด้วยการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะเป็นคลื่น เรียกว่า peristalsis
7. ช่วยในการกักเก็บปัสสาวะ กล้ามเนื้อและเส้นประสาทจะทำงานร่วมกันเพื่อกักเก็บหรือปลดปล่อยปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะ
8. ช่วยในการคลอด กล้ามเนื้อเรียบในมดลูกจะขยายตัวและหดตัวระหว่างการคลอด ซึ่งช่วยดันทารกออกมาจากแม่
9. ช่วยในการกรอกตา กล้ามเนื้อรอบดวงตาทั้งหมด 6 มัดจะช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของตา
10. ป้องกันอวัยวะภายใน กล้ามเนื้อทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง จะช่วยป้องกันอวัยวะภายในจากแรงกระแทกและอันตรายต่าง ๆ ได้
11. ช่วยควบคุมอุณหภูมิ เกือบ 85% ของความร้อนในร่างกายมาจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ เมื่อความร้อนในร่างกายลดลงต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม กล้ามเนื้อจะเพิ่มกิจกรรมเพื่อสร้างความร้อน ซึ่งการสั่นก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลไกดังกล่าว นอกจากนี้กล้ามเนื้อในหลอดเลือดยังจะหดตัวเพื่อรักษาความร้อนในร่างกายเอาไว้ด้วย