Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เรื่องการเงินเรื่องไหนบ้าง ที่เด็กมัธยมควรรู้

Posted By Pimchanok Pangsoy | 18 ส.ค. 65
3,464 Views

  Favorite

เงินไม่ใช่ความสุขทุกอย่างของชีวิต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสุขหลาย ๆ อย่างของชีวิตต้องใช้เงิน ดังนั้นการบอกว่าเงินไม่สำคัญ ไม่จำเป็น คงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องแน่นอน แต่ก็ไม่ใช่ทั้งชีวิตคิดหมกมุ่นแต่เรื่องทำเงิน จนไม่สนใจวิธีการที่ถูกต้อง

          วันนี้พี่นัทจึงมาชวนคุยเรื่องการเงินกันแบบชิล ๆ ชิค ๆ เพื่อให้น้อง ๆ เห็นคุณค่าและความสำคัญของเรื่องการเงิน และนำไปต่อยอดเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ และสะสมประสบการณ์ด้านการเงิน แต่ขอบอกไว้ก่อนว่า เรื่องการเงินอย่าโลภ อย่าตกในหลุมกิเลส ทุกเรื่องของการเงินไม่ใช่เรื่องของดวง แต่เป็นเรื่องของความรู้และทักษะ ที่สำคัญอย่ายุ่งเกี่ยวกับการพนัน โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ที่แสนจะใกล้ตัวน้อง ๆ เพราะเรื่องนี้ก็เกี่ยวกับการเงินโดยตรง แต่เป็นสายดาร์กที่คอยผลาญเงินของเรา

 

เรื่องการเงินเรื่องไหนบ้าง ที่น้องมัธยมควรรู้

1. ความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน

ภาพ : shutterstock.com

เริ่มต้นกันที่เรื่องพื้นฐานที่สุดคือ ความสำคัญของการวางแผนทางการเงินให้ชีวิตตั้งแต่เด็ก ๆ ว่า การเงินคือเรื่องสำคัญในชีวิตอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ และใช้ความรู้นั้นตั้งเป้าหมายทางการเงินของตัวเองไม่มีใครสามารถเลือกเกิดได้ เพราะถ้าเลือกได้ ทุกคนคงเลือกเกิดมารวย ไม่มีใครอยากเกิดมาจน แต่การอยู่กับความจนความขัดสนตลอดชีวิต โดยไม่เรียนรู้หาทางแก้ไข คงไม่ใช่ชีวิตที่สวยงามแน่นอน ดังนั้นเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้ โดยการเริ่มที่การให้ความสำคัญ ให้เวลา ให้ความตั้งใจกับการเรียนรู้เรื่องการวางแผนทางการเงิน

 

2. Mindset ทางการเงิน

ภาพ : shutterstock.com

น้อง ๆ ควรหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ Mindset ทางการเงินหลากหลายรูปแบบ ผ่านบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน คนที่ประสบความสำเร็จในการบริหารการเงิน เรียนรู้เขาเพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาตัวเรา คือไม่ใช่ให้เลียนแบบ แต่ให้ เรียนแบบ หมายถึง เรียนรู้รูปแบบการบริหาร การวางแผน การใช้เงิน การหาเงิน การออมเงิน แนวคิดด้านการเงินมีมากมาย น้อง ๆ สามารถสืบค้นได้ง่ายที่สุดก็ทางอินเทอร์เนต แนวคิดไหน สไตล์ไหน ใช่เรา เราชอบ สนใจ ก็ลองนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิต ที่สำคัญใช้สติและความรอบคอบทุกครั้งที่ต้องทำอะไรเกี่ยวข้องกับการเงิน

 

3. บัญชีรายรับ-รายจ่าย

ภาพ : shutterstock.com

น้อง ๆ ในวัยมัธยมอาจจะมีรูปแบบการได้ค่าขนมที่แตกกต่างกัน บางคนได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือบางครอบครัวอาจจะประสบความลำบากทางด้านการเงิน น้อง ๆ อาจจะได้รับค่าขนมบ้าง ไม่ได้รับบ้างหรือบางคนอาจจะมีรายรับเพิ่มจากการทำงานพิเศษ ดังนั้นไม่ว่ารายรับของตัวเองจะได้เป็นอย่างไร จะมากจะน้อย จะมาจากทางไหน สิ่งสำคัญคือการทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย ซึ่งบางคนมองว่าเรื่องนี้ง่ายมากใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ประเด็นคือ คนส่วนใหญ่มักจะไม่ทำ เพราะรู้สึกว่าวุ่นวาย จุกจิก ต้องคอยจดคอยบันทึก แต่หารู้ไม่ว่า สิ่งนี้ล่ะเป็นวิธีง่าย ๆ ที่สามารถช่วยเตือนใจเราในการบริหารการเงินได้ดีที่สุดวิธีหนึ่งเลยทีเดียว ช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของรายได้ รายจ่าย และเงินออมที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ส่วนใครที่มีตัวเลขรายจ่ายนำ ก็ให้ใช้ข้อมูลนี้ทบทวนว่าเราใช้จ่ายส่วนไหนมากไป ลองหาทางปรับให้สมดุล หรือหาทางเพิ่มรายได้ให้ตัวเองและครอบครัวตามความเหมาะสม

 

4. ความแตกต่างระหว่างความจำเป็น VS ความต้องการ

ภาพ : shutterstock.com

คำสองคำนี้ คือสิ่งที่ควรสอนให้เด็กมองเห็นความหมายและความแตกต่าง เพื่อให้สามารถจัดลำดับคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ได้ “จำเป็น” คือสิ่งที่ต้องมีเพื่อการดำรงชีวิต ในขณะที่ “ต้องการ” คือความอยากได้ที่มีก็ดี แต่ไม่มีก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ โดยอาจเริ่มจากสิ่งรอบตัว เช่น อาหาร น้ำดื่ม บ้าน ขนม ของเล่น ถ้าน้อง ๆ สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งรอบตัว ทั้งที่เป็นของเราและไม่ใช่ของเรา อะไรคือสิ่งจำเป็น และอะไรคือสิ่งที่ต้องการ เพื่อปูพื้นฐานการจัดลำดับให้ความสำคัญในการใช้เงินกับสิ่งที่จำเป็นก่อน เป็นสร้างภูมิต้านทานโฆษณาสินค้า กระแสบริโภคนิยม เธอมี ฉันมี โลกมี ฉันก็ต้องมี เพราะสื่อเข้ามามีอิทธิพลกับคนแทบทุกวัย ในหลากหลายรูปแบบ น้อง ๆ ควรรู้จักตั้งคำถาม ข้อสงสัยสิ่งที่สื่อเผยแพร่ออกมา ไม่รีบหลงเชื่อ จะได้ช่วยสร้างภูมิต้านทานความอยากได้ใคร่มีของเรา จนอาจทำให้กลายเป็นคนฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย

 

5. ทักษะการบริหารเงิน

ภาพ : shutterstock.com

เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยทำให้น้อง ๆ เรียนรู้เรื่องการเงินได้เร็วขึ้นจากการได้ลองฝึกการใช้เงิน โดยคุณพ่อคุณแม่อาจให้เงินจำนวนหนึ่งต่อสัปดาห์ เพื่อคอยดูการใช้เงินและการวางแผนใช้เงินของน้อง ๆ อาจตั้งเป้าหมายบางอย่างเพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีแรงจูงใจขึ้น และเมื่อน้อง ๆ เข้าใจศาสตร์แห่งการเงินจะช่วยทำให้น้อง ๆ มองเห็นต้นทุนทางการศึกษาที่พ่อแม่ดูแลเรามาตลอด กว่าที่เราจะทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้ ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ทั้งค่าเทอม  ค่าเรียนพิเศษ  ค่ากิจกรรม ค่าสนามสอบต่าง ๆ ค่าท่องเที่ยว ทุกอย่างถือเป็นต้นทุนที่เราต้องหาทางบริหารให้กลายเป็นกำไรในชีวิตของเราให้ได้

 

6. การวางแผนการออมเงิน

ภาพ : shutterstock.com

เรียนรู้วิธีและฝึกออมเงินอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งได้เปรียบเพราะจะทำให้มีเงินออมมากขึ้น และยังช่วยให้มีนิสัยออมเงินอย่างจริงจังด้วย ซึ่งหลักการออมที่ดีคือ ออมให้พอเหมาะพอดีกับรายได้ของเรา ไม่ควรตึงเกินไปเพราะจะทำให้เราเหนื่อยและรู้สึกไม่ดีกับการออมเงิน แม้ว่าในช่วงวัยมัธยมน้อง ๆ อาจจะได้เงินค่าขนมไม่มาก แต่ก็สามารถเก็บออมเงินได้ สมมติว่าได้เงินเป็นรายเดือน เราควรออมเงินเดือนละไม่ต่ำกว่า 10-15% ต่อเดือน พอได้ค่าขนมมาปุ๊บ ออมก่อนเลย10% เช่น ได้เงินค่าขนมเดือนละ 3,000บาท หักออกมา 10% ก็เท่ากับเก็บออมเดือนละ 300 บาท เมื่อน้อง ๆ ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกเดือนก็จะเริ่มคุ้นเคยกับการออมเงินมากขึ้น และเมื่อเริ่มคุ้นเคยที่นี้ก็ค่อยหาทางอัปเวลเพิ่มจำนวนการออมเงินให้มากขึ้นได้ตามที่ต้องการ 

 

7. ช่องทางการลงทุน

ภาพ : shutterstock.com

แม้จะยังอยู่ในวัยเรียน แต่ไม่มีข้อจำกัดใดมาบอกว่า น้องจะต้องเรียนรู้ได้เฉพาะสิ่งที่อยู่ในโรงเรียน ในห้องเรียน หรือในหนังสือเรียนเท่านั้น โลกนี้กว้างกว่าตำรากระดาษมากมาย น้อง ๆ สามารถเรียนรู้ช่องทางการหาเงินในทางที่ถูกต้อง เหมาะสม และสุจริต เตรียมความรู้เรื่องการลงทุน (แม้จะยังไม่ได้ลงทุนก็ตาม) โดยระหว่างนี้อาจจะเก็บเงินไว้เป็นกองทุนการออมเพื่อการลงทุนก็ได้ เพราะการลงทุนช่วยสร้างรายได้ให้เราเพิ่มอีกช่องทางได้นอกเหนือจากเงินเดือน เพราะฉะนั้นน้อง ๆ จึงควรศึกษาข้อมูลการลงทุนอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการนำเงินไปฝากธนาคารอย่างเดียวไว้ด้วย 

 

          จริง ๆ แล้ว เรื่องการเงินยังมีเรื่องสนุก ๆ อีกมากมายที่น้อง ๆ ควรเรียนรู้ไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ สนามการเงินนั้นดุเดือด เข้มข้น และการแข่งขันสูงมาก เพราะมันหมายถึงการดำเนินชีวิต การใช้ชีวิต การสร้างชีวิต และคุณภาพชีวิตของคนทุกคนในโลกนี้ มีเหตุผลมากมายที่ช่วยสนับสนุนให้น้อง ๆ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องนี้ แต่พี่นัทยังมองไม่เห็นแม้แต่เหตุผลเดียว ที่จะบอกว่าน้อง ๆ ไม่ควรเรียนรู้เรื่องการเงิน ดังนั้นเริ่มต้นเรียนรู้กันเลยดีกว่า Let’s go !

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

.............................................

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เด็กเกินไปมั้ย กับการเรียนรู้เรื่องการเงิน อ่านบทความ...คลิกที่นี่ 
ตัวอย่างการฝึกทักษะการเงินอย่างง่าย ๆ สำหรับวัยรุ่น อ่านบทความ...คลิกที่นี่ 
9 ความรู้ทางการเงินที่จะช่วยให้เก็บออมได้มากขึ้น อ่านบทความ...คลิกที่นี่ 
เทคนิคเก็บเงินไปลงทุนไม่ให้ช็อต ฉบับคนงบน้อยแบบไม่ทรมานตัวเอง อ่านบทความ...คลิกที่นี่

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Pimchanok Pangsoy
  • 1 Followers
  • Follow