Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เด็กเกินไปมั้ย กับการเรียนรู้เรื่องการเงิน

Posted By Pimchanok Pangsoy | 09 ส.ค. 65
2,196 Views

  Favorite

    คำถามนี้อาจเกิดขึ้นในใจของน้อง ๆ ในวัยมัธยม จะเอาอะไรกับพวกเรานักหนา จะให้เรียนอะไรมากมาย วิชาต่าง ๆ ที่เรียนยังไม่มากพออีกเหรอ ตอบได้เลยค่ะว่า “ไม่พอ” น้อง ๆ จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการเงินเพิ่มเติมด้วย! หลายคนอาจอุทานพร้อมกันว่า โอ้ว เรื่องยาก ๆ เยอะ ๆ และแสนจะจริงจังขนาดนี้ เด็ก ๆ อย่างพวกเราต้องเรียนรู้ด้วยเหรอ คำตอบคือ “ใช่ค่ะ ต้องเรียนรู้” และควรเริ่มได้แล้วตั้งแต่วันนี้ โดยพี่นัทขอยกตัวอย่างการเรียนรู้เรื่องการเงินแบบ “สวิสโมเดล” เพื่อให้น้อง ๆ ได้รู้ว่า เด็กสวิสเรียนรู้เรื่องการเงินกันตั้งแต่เมื่อไหร่ และอย่างไร เด็กเกินปุยมุ้ย ที่พวกเขาจะเรียนรู้เรื่องการเงิน?

ภาพ : shutterstock.com

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่รวยที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก โดยวัดจากค่า GDP (Gross Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ  สวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่นคงทางการเงิน มีเสถียรภาพทางการเมือง และประชากรมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดติดอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งเรื่องความสุข ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และสุขภาพ

และหนึ่งในการสร้างรากฐานสำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรที่มองข้ามไม่ได้เลย คือ เทคนิคการเลี้ยงลูกและระบบการศึกษาที่ช่วยปลูกฝังและหล่อหลอมให้เด็กสวิสเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพในประเทศต่อไป น้อง ๆ ทราบมั้ยคะว่า ระบบการศึกษาของประเทศนี้สอนเรื่องการเงินกันตั้งแต่เด็ก ๆ อายุกี่ขวบ (หลับตาคิดก่อน อย่าเพิ่งดูเฉลย)

 

คำตอบคือ...เขาเรียนเรื่องนี้กันตั้งแต่เด็ก ๆ อยู่ชั้น ป. 2 หรือแค่อายุ 7 ขวบ ! นั่นไง กุญแจสำคัญที่ตอบได้ทันทีเลยว่า ทำไมสวิตเซอร์แลนด์ถึงมีความมั่นคงทางการเงินสูง นั่นเพราะประชากรของเขารู้และเข้าใจเรื่องการเงินมาตั้งแต่เด็ก การสอนของคนสวิสไม่ได้สอนแค่ให้เด็กรู้จักประหยัด แต่จะสอนการบริหารเงินที่ถูกต้อง ดังตัวอย่างแนวคิดต่อไปนี้

 

ภาพ : shutterstock.com

 

ไม่บังคับให้ออมเงิน แต่สอนให้รู้จักตั้งเป้าหมาย

วิธีการสอนเรื่องการออมของคนสวิส ไม่ใช่เเค่บอกให้เด็กนำเงินไปหยอดกระปุก โดยที่ไม่รู้เลยว่า หยอดไปทำไม หยอดเพื่ออะไร หยอดไปเเล้วได้อะไร เเต่ในโรงเรียนของเด็กสวิสจะสอนถึงเรื่องการสร้างแรงจูงใจ เช่น ถ้าอยากได้ของเล่นสักชิ้น ต้องรู้ราคาของเล่นนั้น และลองคำนวณดูว่าต้องเก็บเงินอย่างไรถึงจะมีเงินเพียงพอที่จะซื้อ ด้วยการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องใช้เวลาเก็บเงินกี่วันถึงจะทำได้ตามเป้า รู้ถึงขนาดที่ว่า ถ้าเด็ก ๆ จะซื้อโทรศัพท์ ซื้อรถ ซื้อบ้าน ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ต้องออมเท่าไหร่ และออมด้วยวิธีการใด คือไม่ใช่แค่สอนให้รู้จักประหยัดและเก็บออมเท่านั้น แต่เขาสอนให้เด็กรู้จักค่าของเงินและใช้เงินอย่างถูกวิธีมากกว่า การประหยัดและออมเงินเป็นเรื่องที่ดี แต่การออมเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เป็นแค่บันไดขั้นแรกสู่ความมั่นคงทางการเงิน เพราะขั้นต่อมา คือต้องรู้จักลงทุน เพื่อให้เด็กๆ สามารถวางแผนการใช้เงินให้เกิดคุณค่าสูงสุดกับตัวเอง แต่ก่อนจะลงทุนอะไร ควรศึกษาให้ละเอียดก่อนเสมอ

 

สอนให้ประหยัดเวลา มากกว่าประหยัดเงิน

คนสวิตเซอร์แลนด์จะให้ความสำคัญกับเวลามากกว่าเงินทอง เพราะแนวคิดที่ว่า เวลาเป็นของมีค่า เวลาเป็นทรัพยากรเดียวที่ไม่สามารถหาซื้อเพิ่มได้ ไม่ว่าจะมีเงินมากแค่ไหนก็ตาม คนรวย ๆ ที่มีเวลาไม่พอใช้ ไม่สามารถขนเงินมากองเพื่อขอซื้อเวลาจากคนจนที่มีเวลาเหลือเฟือได้ สิ่งที่ควรประหยัดและเสียดายมากกว่าเงินทองคือเวลา ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องการเงิน จึงไม่ใช่แค่รู้เรื่องการบริหารเงิน แต่ต้องเรียนรู้เรื่องการบริหารเวลาด้วย ซึ่งคนที่ประสบความสำเร็จเรื่องการเงินทุกคน ล้วนเห็นคุณค่าและความสำคัญของเวลาทั้งสิ้น และถ้าเด็กมัธยมไทย เข้าใจการเงินและเห็นคุณค่าของเวลาควบคู่กันได้ โอกาสที่เราจะได้ประชากรที่มีคุณภาพก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

 

ไม่จำเป็นต้องซื้อของถูกที่สุด แต่ให้ซื้อของที่คุ้มค่าที่สุด

บางคนอาจคิดว่าการซื้อของแพงเป็นการสิ้นเปลือง  แต่ชาวสวิสจะสอนให้เด็ก ๆ เลือกมองที่ความคุ้มค่าเมื่อต้องตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่าง เพราะบางครั้งการซื้อของที่ราคาถูกแต่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ต้องซ่อมหรือซื้อใหม่บ่อย ๆ อาจจะใช้เงินมากกว่าซื้อของแพงที่มีคุณภาพครั้งเดียว คือเลือกซื้อของที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปมากที่สุด เช่น ถ้าเด็กสวิสจะซื้อโทรศัพท์มือถือใหม่ 1 เครื่อง เขาจะไม่ได้เลือกโดยใช้แค่ชื่อแบรนด์ กระแสนิยม ความทันสมัย แต่เขาจะเลือกจากความคุ้มค่า คุณภาพที่เหนือกว่า ประโยชน์ที่ได้รับมากกว่า

 

สอนให้คำนวณการใช้เงิน เมื่อมีความรักและวางแผนอนาคต

พ่อแม่ชาวสวิสจะสอนและพูดคุยกับลูกเรื่องความรักตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ (โอ้ว มายก็อด!) เพื่อให้ลูกเข้าใจว่าเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีความรักและสร้างครอบครัว ลูกต้องมีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น เพราะจะมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักคิดและวางแผนการใช้เงินของตัวเอง รู้เป้าหมายในอนาคต เด็กสวิสทุกคนจึงรู้หมดว่า การที่พ่อเเม่ดูแลเลี้ยงดูพวกเขามาตั้งแต่เล็กจนโต ต้องใช้เงินเท่าไหร่ เด็กสวิสจะรู้ค่าใช้จ่ายในบ้านของตัวเองทั้งหมด ว่าในเเต่ละเดือนต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง การสอนเรื่องเหล่านี้จะทำให้เด็กฝึกคิดเรื่องการใช้เงินมากขึ้น และรอบคอบขึ้น ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่คิดเผื่อไปถึงการสร้างครอบครัวของตัวเองด้วย

 

สอนเรื่องการเงินกับการวางแผนอาชีพ

นอกจากจะสอนเรื่องการใช้เงินแล้ว  การวางแผนเรื่องงานและอาชีพก็สำคัญไม่แพ้กัน ชาวสวิสจะสอนเด็ก ๆ ว่า การจะมีการเงินที่ดีได้นั้น ต้องมาพร้อมกับการวางแผนชีวิตที่ดีด้วย เรียนรู้ว่าควรจะประกอบอาชีพอะไร เพื่อที่จะมีรายได้ตามที่ต้องการ สอนให้รู้จักอาชีพที่หลากหลาย ความแตกต่างของค่าตอบแทนในแต่ละอาชีพ ทั้งนี้เพื่อให้เด็กรู้จักวางแผนเรื่องการทำงานและใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกอาชีพของตัวเองต่อไป ทำให้สามารถวางแผนชีวิตได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตได้เร็วและทันท่วงที ไม่มีคำว่าสายเกินไป เพราะเด็กสวิสจะไม่ใช้ชีวิตไปวัน ๆ แบบไม่มีเป้าหมาย  ชาวสวิสสอนให้เด็ก ๆ รู้จักคำว่า “ภาษี” ตั้งแต่ในวัยที่พวกเขายังไม่มีรายได้ด้วยซ้ำ สอนให้รู้ว่าเมื่อมีรายได้ รัฐบาลจะหักเงินเราอย่างไร และเมื่อเกษียณอายุการทำงาน เงินที่จะได้กลับคืนมาจากไหน เท่าไร เป็นการป้อนแนวคิดเรื่องการสร้างคุณภาพชีวิตในอนาคต และส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ความคิดและมีเหตุผลในการใช้เงินให้เกิดประโยชน์มากขึ้น และรู้วิธีหาเงินได้อย่างหลากหลายมากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

“สวิสโมเดล” คือตัวอย่างหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเรียนรู้เรื่องการเงินก่อน ลงมือทำก่อน ช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ตัวเองและประเทศได้จริง ๆ หากน้อง ๆ ศึกษาจากสวิสโมเดล แล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ไม่มีคำว่า “เด็กเกินไป” สำหรับการเรียนรู้เรื่องการเงิน ยิ่งเรียนรู้ได้เร็ว ยิ่งดี ยิ่งมีเวลาลองผิดลองถูกได้มาก เรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ ที่ไม่จำเป็นต้องรอให้เราเป็นผู้ใหญ่ก่อน แล้วค่อยเรียนรู้   

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Pimchanok Pangsoy
  • 1 Followers
  • Follow