Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รู้จักกฎ 50/30/20 วิธีวางแผนการเงินที่จะทำให้มีเงินเก็บ

Posted By Plook Magazine | 01 ส.ค. 65
2,921 Views

  Favorite

ขอแนะนำกฎ 50/30/20 กฎที่จะช่วยให้เราวางแผนการเงิน วางแผนการใช้จ่ายเพื่อให้มีเงินเก็บที่มากขึ้น ! ใครที่อยากมีเงินเก็บเยอะ ๆ ต้องลองทำตามนี้ดู ทำได้ง่าย สามารถปรับแผนให้ยืดหยุ่นตามการใช้จ่ายได้ วิธีวางแผนการเงินด้วยกฎ 50/30/20 จะช่วยให้เรามีเงินเหลือเก็บทุกเดือน มาเรียนรู้วิธีวางแผนการใช้จ่ายที่ทำตามได้ง่าย ๆ กันเลย 

 

กฎ 50/30/20 คืออะไร

กฎ 50/30/20 คือ การวางแผนค่าใช้จ่ายโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

• ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น = 50%

• ค่าใช้จ่ายสำหรับความบันเทิง = 30%

• เก็บออม = 20%

 

cr.freepik

 

ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น = 50%

เมื่อได้รับเงินค่าขนมหรือเงินสำหรับใช้รายเดือนมาแล้ว ให้เรานำมาจัดสรรโดยใช้จ่ายสำหรับสิ่งที่จำเป็นในชีวิต 50% จากเงินทั้งหมดที่ได้มา ซึ่งมันอาจจะดูเยอะมาก แต่ค่าใช้จ่ายจำเป็นคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ค่าเช่าห้อง ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ 

 

หากต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ขอแนะนำว่าให้ลองดูว่าเราจะประหยัดมากขึ้นได้ยังไงบ้าง เช่น ถ้าซื้ออาหารทำเองก็จะประหยัดมากขึ้น หรือเปลี่ยนวิธีการเดินทางที่ถูกลง เป็นต้น เราสามารถหาวิธีเพื่อให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เซฟมากขึ้นได้

 

ค่าใช้จ่ายสำหรับความบันเทิง = 30%

ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะช่วยให้เรามีความสุข ช่วยยกระดับไลฟ์สไตล์ให้เราได้ เช่น ค่าช้อปปิ้ง ค่าหนังสือ ค่าไปเที่ยวกับเพื่อน ฯลฯ การกำหนดค่าใช้จ่ายนี้เป็น 30% จะช่วยให้เราควบคุมการใช้จ่ายได้ดี ไม่ใช้เงินเกินตัว หรือใช้จนไม่พอถึงสิ้นเดือน เพราะฉะนั้นถ้าตั้งงบไว้แล้วว่าเดือนนึงใช้ได้ 30% ก็ควรทำให้ได้ด้วย 

 

เก็บออม = 20%

การแบ่งเพื่อเก็บออมทุกเดือน 20% จากเงินทั้งหมดที่เราได้ทุกเดือน จะช่วยให้เรามีเงินเก็บตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ซึ่งมันดีต่ออนาคตในระยะยาว เพราะเราที่ยังอยู่ในวัยเรียนอาจยังไม่เก็ทเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ถ้าทำตามกฎนี้ไปเรื่อย ๆ จนวันนึงมีเรื่องจำเป็นหรือเรื่องฉุกเฉินที่ต้องใช้เงิน เงินออมนี้จะสามารถช่วยเราได้แน่นอน และมันรวมถึงการออมเพื่อเกษียณอายุในอนาคตอีกด้วย 

 

เทคนิควางแผนการเงินด้วยกฎ 50/30/20

 

cr.freepik/wirestock

 

1. รู้ว่าได้รายรับเดือนละกี่บาท

รายรับก็คือเงินค่าขนมหรือเงินที่เราได้ทุกเดือนจากผู้ปกครอง ในขั้นตอนแรกนี้ เราควรรู้ก่อนว่าในแต่ละเดือนเรามีรายรับรวมทั้งหมดเดือนละกี่บาท เช่น เงินที่ได้จากผู้ปกครอง ค่าทำงานพิเศษ ค่าขายของ เป็นต้น ให้นำรายรับทั้งหมดมาบวกรวมกันเพื่อจะได้จัดสรรการใช้จ่ายได้ถูกต้อง

 

2. จัดหมวดหมู่การใช้จ่าย

การจัดหมวดหมู่การใช้จ่ายควรเน้นไปที่หมวดค่าใช้จ่ายประเภทต่าง ๆ และการออมเงิน โดยดูไอเดียการจัดหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายได้ตามนี้ 

 

ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น 

• เงินค่าเดินทาง / ค่าน้ำมัน

• ค่าโทรศัพท์

• ค่าอาหารเช้า กลางวัน และเย็น

 

ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

• การสมัครสมาชิกรายเดือน เช่น Netflix, Disney+, Spotify เป็นต้น

• อาหารหรือขนมอื่น ๆ เช่น ชานมไข่มุก ไอศกรีม อาหารฟาสต์ฟู้ด เป็นต้น

• เสื้อผ้าและเครื่องประดับ

• บริการเสริมสวย 

• ความบันเทิงและกิจกรรมต่าง ๆ

 

การออมเงิน

• บัญชีออมทรัพย์

• บัญชีเงินฝากระยะยาว

• ออมเพื่อการเกษียณ

• ออมเพื่อการใช้จ่ายฉุกเฉิน

• ออมเพื่อการลงทุน

• ออมเพื่อซื้อของที่อยากได้

 

3. ออมก่อนเป็นอันดับแรก

เมื่อรู้รายรับและหมวดหมู่การใช้จ่ายหลัก ๆ ในแต่ละเดือนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือในทุก ๆ เดือนเมื่อได้รายรับมาแล้ว ให้เรานำออกไปออมก่อนเสมอ โดยยึดใช้ตามกฎ 50/30/20 คือออมเงิน 20% การนำเงินออกมาออมก่อนจะช่วยให้เรามีวินัยทางการเงินที่ดี และมันจะทำให้ยึดตามแผนการใช้จ่ายที่วางไว้ได้ตั้งแต่แรก 

 

 

4. ตั้งเป้าหมาย

การมีเป้าหมายในการออมเงินจะช่วยกระตุ้นให้เราใช้จ่ายตามที่วางแผนไว้ เช่น ออมเพื่อซื้อรถยนต์เมื่อเรียนจบ ออมเพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศ ออมเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศกับเพื่อน เป็นต้น ไม่ว่าเป้าหมายการออมเงินจะคืออะไร มันจะช่วยกระตุ้นให้เราอยากทำให้เป็นจริง และถ้าเราสามารถรักษานิสัยการออมนี้ได้ มันก็จะส่งผลต่อในอนาคตแน่นอน

 

cr.freepik/jcomp

 

5. ติดตามนิสัยการใช้จ่าย

การวางแผนค่าใช้จ่ายทุกเดือนจะทำให้เรารู้ว่าในแต่ละเดือนเราใช้จ่ายอะไรไปบ้าง และค่าใช้จ่ายในกลุ่มไหนที่สามารถประหยัดเพิ่มขึ้นได้อีก หรือถ้าการวางแผนการใช้จ่ายมันเฟล เราทำแล้วมันเกินงบก็อย่าพึ่งตัดใจเลิกทำไปเลย เพราะเราสามารถปรับเปลี่ยนมันได้ โดยอาจปรับค่าใช้จ่ายให้ยืดหยุ่นตามการใช้งานจริงไปก่อน พอเริ่มลงตัวแล้วก็ให้ปรับใหม่เพื่อจะได้เก็บเงินให้มากขึ้น

 

6. หารายรับให้มากขึ้น

หากต้องการออมเงินให้มากขึ้น หรือต้องการใช้จ่ายในแต่ละเดือนให้มากขึ้นกว่านี้ ก็ควรต้องหารายรับให้มากขึ้น ซึ่งในช่วงวัยเรียนหรือวัยรุ่นก็สามารถทำได้ด้วยการทำงานพิเศษ ขายของออนไลน์ หรือจะหาไอเดียจากบทความด้านล่างนี้ก็ได้

• รวมงาน Part Time เงินดี อายุ 16 ปีก็ทำได้

 ปิดเทอมนี้ มาหารายได้เสริม หางานทำบนโลกออนไลน์กันดีกว่า

 รวมงานออนไลน์ช่วงกักตัวอยู่บ้าน สำหรับวัยรุ่นที่อยากหางานพิเศษ

 เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย จะบาลานซ์เวลาชีวิตยังไงดี

 

 

แหล่งข้อมูล

- 50/30/20 Budgeting Rule: How to Use It [Instructions + Calculator]

- Budgeting for Teens: 14 Tips For Growing Your Money Young

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow