Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ตัวอย่างบุคคลที่สามารถใช้ทักษะความรู้ของตนตอบแทนคืนสู่สังคม

Posted By Plook TCAS | 24 ก.ค. 65
3,412 Views

  Favorite

          พี่อ้อมีโอกาสได้คุยกับบุคคล 3 ท่าน ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพของตัวเองสาขาต่าง ๆ ซึ่งใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองทำงานตอบแทนคืนสู่สังคมมาช่วยเพิ่มการเรียนรู้ให้น้อง ๆ ได้เห็นแนวทางของตัวเองในอนาคต ทั้งด้านอาชีพและการมีจิตอาสา  มาค่ะมารู้จักพี่ ๆ และการทำงานของเขากัน

 

คุณชลอ อัคคะพู อดีตผู้บริหารบริษัท เบตเตอร์เวย์ จำกัด หรือ “มีสทีน”

          จากชีวิตคนในเมือง ไปอ่านกันค่ะว่าพี่เขาไปทำอะไรในพื้นที่ของอำเภอบ้านภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ตอนเรียนมีส่วนช่วยเหลือสังคมอย่างไรบ้าง

          จริงแล้วเป็นคนที่ชอบกิจกรรมมาก ได้รับการอบรมสั่งสอนมาแต่เด็ก ๆ เลยนะครับว่า คนเราเกิดมาไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ควรจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตั้งแต่เริ่มจากในครอบครัวจนมาถึงสมัยตอนเรียนก็จะมีกิจกรรมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาประจำโรงเรียน  ตัวแทนนักเรียนดีเด่นไปประกวดมารยาท  จิตอาสา ประกวดโต้วาที เคยมีโอกาสได้เข้าไปร่วมกองร้อยปฏิบัติการพิเศษ วชิรชัย กิจการลูกเสือนอกโรงเรียน  อบรมการบรรเทาสาธารณภัย การพยาบาล การจราจร แล้วก็ได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญหลายอย่างของลูกเสือ

          ตอนอยู่มหาวิทยาลัยทำค่ายอาสาสมัครชุมชน  คนที่ทำกิจกรรมเหล่านี้ มักมีแววเป็นผู้นำ กล้าแสดงออก ฝึกตัวเองเป็นผู้นำที่ดีด้วยการฝึกอาสา เราจะได้มีไอเดียสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งต่าง ๆ  ต่อไป

แนวคิดประสบการณ์ทำงานในบริษัทเอกชน

          ประสบการณ์ทักษะการทำงานมาตลอด 24 ปีที่ทำมิสทีน ผมทำหน้าที่ของบริหารการขายและดูแลงานด้านแอดมิน ซึ่งถือว่าเป็นพ่อบ้านในองค์กรใหญ่ ลักษณะการทำงานแบบทีมเวิร์คซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่สังคมได้โดยง่าย อีกทั้งยังต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสำนักงานเขต โรงเรียน ร้านค้า  สถานีตำรวจ ฯลฯ ในพื้นที่ของบริษัท อย่างปีใหม่ก็จัดของขวัญไปให้พนักงานทำความสะอาดของกทม. เจ้าหน้าที่ตำรวจ จราจร เพื่อเป็นขวัญเป็นกำลังใจในการทำงาน  รวมไปถึงมีโอกาสเข้าไปในพื้นที่ช่วยเหลือพัฒนาที่อยู่ของสถานที่ของประชาชน โดยให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทเข้าไปปรับปรุงระบบน้ำระบบไฟในบ้านของชุมชนใกล้เคียงบริษัทที่มีปัญหา

          ทั้งหมดตลอดระยะเวลาการทำงานคือความคิดและการตั้งใจทำเพื่อทำให้องค์กรไปสู่ภาพลักษณ์คืนสู่สังคม ซึ่งองค์กรใหญ่ ๆ ก็มีส่วนรับผิดชอบร่วมพัฒนาชุมชนให้สังคมดีขึ้น

จากผู้บริหารระดับสูงในสังคม ความคิดที่ย้ายถิ่นฐานไปสู่สังคมชนบทไกลจากพื้นที่คุ้นเคยเดิม

          เป็นเรื่องปกติที่คนทำงานในบริษัทเอกชนมักจะอยู่ไม่ถึงเกษียณเมื่อถึงจุดหนึ่ง รู้สึกเหนื่อยอยากทำสิ่งที่ให้กับตัวเองบ้าง อยากใช้ชีวิตที่เรียบง่ายสงบที่สุด เพราะตลอดการทำงานนั่นค่อนข้างวุ่นวายต้องเจอผู้คนมากมายจึงตัดสินใจออกจากงาน ได้เงินสะสมมาก้อนหนึ่งแล้วเริ่มวางแผน

         เริ่มต้นจากการทำสวนเกษตรเล็ก ๆ แบบยั่งยืนตามวิถีอยู่พอเพียง ซึ่งคนไทยไม่ควรลืมเรื่องดั้งเดิมแบบนี้  ปลูกบ้านปลูกต้นไม้แบบผสมผสานแบบเรียบง่าย ซึ่งกลายเป็นการทำต้นแบบให้คนรอบพื้นที่ใกล้ ๆ เห็นว่า คนที่เคยเป็นผู้บริหารอยู่ในสังคมเมืองยังมาอยู่ในพื้นที่แบบชนบทได้ จริง ๆ แล้วหากมีความพอใจตั้งใจเรียนรู้และค่อย ๆ ลงมือทำทุกคนก็สามารถทำได้ 

         หลังจากทำพื้นที่ 5 ไร่แล้วมีคนสนใจเลยขายไป แล้วมาซื้อที่ใหม่ ซึ่งตอนแรกยังไม่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว เลยมีความคิดว่าหากจะอยู่ในสังคมแล้วให้คนจดจำจะต้องทำอย่างไร จะทำประโยชน์ในฐานะผู้มาอาศัยได้อย่างไร การที่เคยเป็นผู้นำจึงคิดทำเป็นตัวอย่างให้คนที่เคยรู้จักและคนในพื้นที่ได้เห็น จึงทำเป็นโฮมสเตย์ให้คนที่เดินทางไกลมาทำบุญแถวนี้ได้มีที่พักสบาย ๆ อาหารอร่อย ๆ แล้วค่อย ๆ พัฒนาไปเป็นโฮมสเตย์ที่สวยงามอย่างที่เห็น

         จากนั้นเมื่อเรามีเวลามากขึ้น จึงศึกษาการปกครองในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร สังคมชนบททั่ว ๆ ไปอยู่แบบเรียบง่าย มีการปกครองแบบพ่อปกครองลูกแบบผู้อาวุโส แบบพี่กับน้อง เราจึงไปพูดคุยนำเสนอประสบการณ์ทักษะความรู้ความสามารถ นำเสนอความคิดที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัย เพราะเราคิดว่าการเตรียมตัวชุมชนให้พร้อมกับการรับนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ และในที่สุดก็ได้การยอมรับ

การมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่บทบาทในการพัฒนาชุมชนที่อาศัยอยู่

          เมื่อเข้าไปช่วยเหลือบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อ.บ.ต. ดูแลจัดสรรงบประมาณ แนะนำการทำงานว่าอะไรสมควรทำก่อนทำหลัง  เมื่อสังคมมีความเจริญ เมื่อมีผู้คนมากมายหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ ปัญหาก็จะตามมา ต้องให้ความคิดคอยดูว่าอะไรไม่สามารถรองรับเขาได้ อย่างถนน การจราจร ปัญหาของการใช้ไฟฟ้า ต้องช่วยประสานงานให้กับภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาแก้ไข อบรมอาสาการจราจร เรื่องสุขาภิบาลต้องมีการซ่อมบำรุง ปัญหาของการจำกัดขยะ การแยกขยะสีเขียว ต้องมอบความรู้ให้กับชุมชน การเกษตรแบบยั่งยืนวิถีชีวิตแบบพอเพียง ซึ่งนำเสนอนักท่องเที่ยวได้ บางเรื่องพวกเขารู้อยู่แล้วก็ต้องช่วยชาวบ้านเขาตอกย้ำ และเรื่องของอนาคตการช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน ช่วยเหลือเขาทำการตลาด เรื่องของนวัตกรรม ระดมความคิดคนในชุมชน ทำให้เป็นอินโนเวชั่นและเป็นวิชั่น เริ่มจากการพูดคุยเปิดกว้างยอมรับและโต้แย้งตอบปัญหา ระดมสมองเพื่อให้ได้ไอเดียใหม่ ๆ  ซึ่งเขาอาจจะไม่รู้ตัวว่า นั่นเป็นการประชุมแบบบริษัทแล้ว 

         อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือดูแลกิจกรรมให้พวกเขาทำร่วมกัน เมื่อถึงประเพณีที่สำคัญที่สวยงามอย่างสงกรานต์  สภาพแวดล้อมที่มีคลองก็จัดให้มีงานลอยกระทง ซึ่งชาวบ้านไม่เคยจัดมาก่อนก็ช่วยเหลือให้เขาจัดได้สำเร็จ

หลักการสำคัญสำหรับการนำความรู้ความสามารถของเราลงไปช่วยในพื้นที่ เราต้องกล้าอาสาแจ้งให้พวกเขาทราบว่าเรามีความสามารถในด้านไหนและร่วมมือทำงานกับพวกเขาอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น

         ตำแหน่งทรงเกียรติที่ได้รับในเวลานี้  คือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่  เป็นคณะกรรมการบริหารของ อ.บ.ต. ดูแลด้านงบประมาณ และเป็นที่ปรึกษาของทีมคณะกรรมการ อ.บ.ต. นอกจากนี้เวลามีแขกบ้านแขกเมืองก็ทำอาหารรับรองผู้ใหญ่ และยังเป็นพิธีกรในงานสำคัญมาก ๆ ของชุมชนนี้

          นอกจากแนวคิดการใช้ชีวิตของคุณชลอแล้ว ท่านต่อไปที่พี่อ้ออยากให้น้อง ๆ รู้จัก ก็มีความคิดและการใช้ชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนมาก ๆ เราไปติดตามกันว่าเขาคือใคร

 

อาจารย์วิทยา ศรีม่วง หรือครูเก่ง ศิลปินนักเขียนที่ใช้งานศิลปะทักษะความสามารถของตัวเองฟื้นฟู ปกป้องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทั้งนำเสนอเรื่องราวจนเป็นหนึ่งในผู้ทรงความรู้ของอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์


ที่มาความคิดริเริ่มค้นหาเมืองพิชัย

          สงสัยว่าทำไมปู่ซึ่งเป็นชาวจีนทำไมถึงลงเรือและแยกทางกับพี่น้องสองคน และตัดสินใจลงอยู่ที่เมืองพิชัยนี้ พี่สาวของพ่อเล่าให้ฟังว่า เจ้าเมืองพิชัยรักปู่เหมือนลูก จึงพยายามตามหาชื่อเจ้าเมืองที่ป้าเล่า เคยพบแค่ตอนเดียวของการบันทึกเกี่ยวกับเมืองพิชัย ซึ่งอยู่ในยุคที่การเมืองระดับประเทศกำลังมีปัญหาจากสงครามและการล่าอาณานิคม

          จากนั้นก็เริ่มสงสัยต่อว่าทำไมผู้คนในพิชัยไม่มีข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับเมืองพิชัยที่นอกเหนือจากวีรกรรมของพระยาพิชัยดาบหักในยุคกรุงธนบุรีเลย เมืองพิชัยสำคัญอย่างไร พม่าถึงเข้าโจมตี และมียุคสมัยอื่นอีกหรือไม่ที่สำคัญ ทำไมลักษณะนิสัย ภาษา วัฒนธรรมของผู้คนที่นี่มีมากมายและหลากหลายต่างจากหลาย ๆ แห่ง ทั้งที่เป็นเมืองเล็ก ๆ แต่กลับมากด้วยภาษาและวัฒนธรรม

การเริ่มต้นทำงานค้นหาประวัติศาสตร์เมืองพิชัย

         พยายามรวบรวมข้อมูลจากเอกสารหนังสือและผู้สูงอายุในชุมชน สอบถามจากอาจารย์ และเพื่อน ๆ เครือข่ายที่รอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ซึ่งบันทึกเก็บทุกเรื่องโดยยังไม่ได้แยกยุคสมัย นำข้อมูลแยกไปตามยุคสมัยและแยกข้อมูลที่เป็นเรื่องเล่า พงศาวดาร ประวัติศาสตร์ ความคิดเห็นส่วนตัว หรือความเชื่อมวลรวมที่เชื่อต่อ ๆ กันมาออกจากกัน

จากนั้นหาวิธีการเขียนย่อยเรื่องราวเหล่านี้ให้เป็นเรื่องเล่าที่เข้าใจง่าย น่าติดตาม อุปสรรคความยากของการทำงานคงเพราะสาเหตุมาจากคนไม่สนใจ เหมือนอยู่ไกลตัวและไม่เกี่ยวข้องกับเขา ไม่มีใครสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ข้อมูลกระจัดกระจาย  ผู้คนแยกไม่ออกว่าเรื่องไหนเป็นตำนาน พงศาวดาร หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ประเทศ
         ประวัติศาสตร์ไทยมีการแก้ไขหลายครั้ง และบางส่วนข้อมูลคนละด้านกับหนังสืออ้างอิง ประวัติศาสตร์ไทยในมุมของต่างชาติ  ระยะแรกไม่มีใครฟัง ไม่มีใครให้ความร่วมมือ นอกจากผู้สูงอายุที่อยากเล่าเรื่องที่ไม่มีคนทั่วไปอยากฟัง

การนำความรู้ความสามารถทางศิลปะมาปรับใช้กับการค้นหาข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองพิชัย

          วาดภาพจากจินตนาการตามคำบอกเล่าโดยอ้างอิงจากข้อมูลอื่น ๆ ในยุคสมัยเดียวกัน ศิลปะช่วยให้สมองสามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมถึงมุมมองของผู้คน การตัดสินใจด้านการเมืองการปกครองในแต่ละยุคได้ดี มีจินตนาการจากข้อมูลตัวอักษรเป็นภาพ วาดภาพประกอบหนังสือเองได้โดยไม่ต้องรออีกหลายกระบวนการถ้าวาดไม่เป็น เช่น การวาดภาพเมืองในอดีตที่อ้างอิงจากเศษซากอิฐโบราณ กำแพงเมือง วัดร้าง ฯลฯ

           กว่าจะได้การยอมรับจากคนในพื้นที่จากภาครัฐจากคนทั้งประเทศและต่างประเทศนั้น ครูเก่งใช้เวลานานกว่าหลายสิบปี  และทุกวันนี้ครูเก่งยังคงค้นคว้าเป็นตัวแทนปกป้องนำเสนอเรื่องราวของเมืองพิชัยเมืองเล็กแต่ใหญ่ไม่ให้ตกสำรวจอีกต่อไป

จากนั้นเรามาปิดท้ายกันกับเรื่องราว ๆ ดี ที่ดีทั้งตัวเจ้าของเรื่อง และดีต่อชุมชนของเขา

 

อาจารย์ดวงกมล เทวพิทักษ์ พยาบาลข้าราชการทหารกองทัพบก และสื่อสารมวลชน

          ตามไปอ่านกันค่ะว่าอาจารย์ใช้ความรู้ความสามารถและทักษะตอบแทนคืนสู่สังคมอย่างไร

จุดเริ่มต้นการใช้ชีวิตที่ตอบแทนคืนสู่สังคม

          ตอนมัธยมศึกษา ครูดวงกมลเรียนโปรแกรมวิทย์-คณิต จึงสอบเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบกตามความต้องการของครอบครัว ระหว่าง 4 ปีที่เรียนมีเงินเดือน มีเบี้ยเลี้ยง จบมามีงานทำเป็นข้าราชการ  ส่วนการเรียนระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้เปลี่ยนสายมาเรียนนิเทศศาสตร์ เป็นเรื่องของการสื่อสารตามความชอบของตัวเอง

          หลังจากนั้นได้เป็นผู้สื่อข่าว 12 ปี  ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2 ปี และเป็นหัวหน้าส่วนสร้างการรับรู้ 1 ปี ระหว่างนั้นก็ทำงานเป็นหัวหน้าแผนกแถลงข่าวกองทัพบก  ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก  หัวหน้าแผนกเลขานุการผู้บริหาร ททบ.5 นักวิชาการ สำนักงานเลขาคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีงานพิเศษเป็นนักจัดรายการวิทยุ อาจารย์สอนหนังสือทั้งสถาบันทางทหารและเอกชน วิทยากรบ้างบางประเด็นที่เราถนัดและสนใจ

           เริ่มต้นการเป็นนักข่าวด้วยความชอบเป็นงานที่ท้าทาย เรียนรู้คุณสมบัติที่ดีของการเป็นนักข่าว ได้มีโอกาสเห็นรับรู้รับฟังเข้าถึงเหตุการณ์และบุคคลต่าง ๆ ได้ถ่ายทอดได้สื่อสารความจริงสิ่งที่เราประจักษ์ สิ่งที่ค้นหาสิ่งที่ติดตาม เรื่องราวที่สำคัญเรื่องที่น่ารู้ เรื่องที่น่าสนใจให้กับสาธารณะได้เข้าใจโดยง่าย

เพราะจิตสำนึกของการเป็นสื่อสารมวลชนรวมถึงการเป็นข้าราชการทหารรักแผ่นดินทำให้อาจารย์ลงพื้นที่ไปปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          เหตุผลในการตัดสินใจไปปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดน ในตำแหน่งหัวหน้าส่วนสร้างการรับรู้  สำนักงานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหน้า ค่ายพระศรีสุริโยทัย จังหวัดปัตตานี ไม่มีอะไรมากเลย แค่ทราบว่าหน่วยต้องการคนที่ทำงานด้านการสื่อสาร สร้างความรับรู้สร้างความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ แค่นั้นก็ไปเลย
          เรามั่นใจว่าพอจะมีความรู้ด้านการสื่อสาร เคยเป็นผู้สื่อข่าวที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายปี ไม่กลัวความยากลำบาก ได้เคยศึกษาเรื่องราวประวัติความเป็นมาของปัญหา มีข้อมูลในหลายมิติอยู่พอสมควร จึงมีความตั้งใจจะใช้ความรู้ ประสบการณ์ ความสามารถที่เราพอมีอยู่ให้เป็นประโยชน์กับกองทัพและประเทศชาติบ้างเท่านั้น

           ปัญหาชายแดนใต้จริง ๆ มีมายาวนานมาก งานที่เราทำไม่ใช่การจับอาวุธไปสู้กับใคร แต่เราจับปากกา จับไมค์ จับคอมพิวเตอร์ ใช้ความจริงใจในการสื่อสารเพื่อต่อสู้ทางแนวความคิดกับผู้ที่เห็นต่างให้หันมาช่วยกันทำอย่างไรให้บ้านเกิดเมืองนอนของเรามีความสงบสุข ไม่ใช้ความรุนแรงที่มีแต่ความสูญเสีย เราอยากให้ win win ทุกฝ่าย และทุกวันนี้อาจารย์ดวงกมลก็ยังคงทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อยู่เบื้องหลังเป็นอาจารย์เป็นที่ปรึกษาใช้ความรู้ความสามารถทักษะของตนให้เกิดประโยชน์ตอบแทนคืนสู่สังคม
 

           จากตัวอย่างของทั้ง 3 ท่าน น้อง ๆ คงเห็นแล้วว่า การตอบแทนสังคมนั้นจะเป็นใครในสายงานอาชีพไหนก็ได้ เพียงแค่มีจิตเป็นสาธารณะ อาสาทำงานเพื่อผู้อื่นอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ ไม่ใช่แค่เพียงเป็นคนดี แต่ยังเป็นคนที่มีคุณค่าน่าภาคภูมิใจของสังคมและประเทศชาติอีกด้วย

 

พี่อ้อ อังสนา

- ข้อมูลอ้างอิง -
- เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์คุณชลอ อัคคะพู  
- เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์คุณวิทยา  ศรีม่วง
- เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์อาจารย์ดวงกมล  เทวพิทักษ์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow