Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทรงพลังของเด็ก Homeschool

Posted By Plook TCAS | 20 ก.ค. 65
2,580 Views

  Favorite

          สวัสดีค่ะ น้อง ๆ ก่อนที่พี่จ๊ะจ๋าจะมาแชร์ประสบการณ์ชีวิตของเด็ก Homeschool ที่ตัดสินใจเข้าเรียนมหาวิทยาลัย พี่จ๊ะจ๋าขอแนะนำตัวก่อนนะคะ พี่ชื่อพี่จ๊ะจ๋า จิณณาภา ญานะ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พี่คือเด็ก Homeschool ของบ้านเรียนญานะ ค่ะ

          ตลอดระยะเวลา 7 ปีของการ Homeschool ที่ผ่านมา พี่มีโอกาสได้ไตร่ตรองตัวเองอยู่เสมอ ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เป็นความถนัดของพี่คือ “การรู้วิธีสร้างความเข้าใจในแบบของตัวเอง” โดยมีความเข้าใจว่า ตัวเองจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้ดู ได้ฟัง  ได้พูดคุยถกเถียงกับคนอื่น แล้วเชื่อมโยงกับชีวิตของตัวเองผ่านการลงมือทำ หรือได้มีประสบการณ์ตรงกับสิ่งนั้น เช่น การเรียน ชั่ง ตวง วัด จากการทำขนม การเรียนรู้ชุมชนผ่านการลงพื้นที่จริง การทำโครงงานวิทยาศาสตร์จากปัญหาที่สนใจ และการพัฒนา Application เป็นสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจ เป็นต้น

          นอกจากนี้ พี่ยังเข้าใจว่า อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเรียนรู้ของพี่คือ การต้องอยู่ในบรรยากาศที่อึดอัด กดดัน การทำกิจกรรมซ้ำ ๆ น่าเบื่อเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกิจกรรมที่เราไม่ได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมถกเถียง เพราะมันทำให้พี่มองไม่เห็นภาพกว้างของเรื่องราวที่คนอื่นต้องการสื่อสาร จึงไม่สามารถเชื่อมโยงกับชีวิต และสร้างเป็นความเข้าใจได้

          เมื่อได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ได้ลองผิด ลองถูก สร้างเป็นความเข้าใจในแบบของตัวเอง จึงเกิดเป็นผลงานการผลิตสื่อสร้างสรรค์ เช่น X-ROAD Project (โมเดลสะพานแก้ปัญหารถติด ได้รับทุนจาก สวทช.), โครงการ “นักขุดสุด TEEN” (แอพพลิเคชั่นเกม ให้ความรู้เกี่ยวกับนักขุดสกุลเงินดิจิทัล ได้รับทุนจาก A-Chieve Project และ สสส.), โครงการ “การสร้างแอพพลิเคชั่นเกม AR-ARONE เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงใหม่” (สแกนเสื้อแอ่วเจียงใหม่ ได้รับทุนจาก สสส.), และโครงการ “Ancestral Lens" the historical AR game (AR แอพพลิเคชั่นเกมเพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผ่านเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 22 จัดโดย สวทช.) เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทรงพลัง ที่ทำให้พี่มีความมั่นใจในวิธีการเรียนรู้ของตัวเองมากขึ้น เมื่อเปลี่ยนสิ่งที่เคยทำไม่ได้ “ให้ทำได้” ก็แปลว่าเราเกิดการเรียนรู้แล้ว

          อีกตัวอย่างหนึ่งของการเรียนรู้ที่ถือเป็นการเรียนรู้ที่ทรงพลัง ที่อยู่ในความทรงจำของพี่มาถึงทุกวันนี้คือ ตอน Homeschool ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พี่ สนใจเรื่องการทำอาหาร จึงศึกษาสูตรอาหารจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งจากยายที่บ้าน จากอินเทอร์เน็ต และหนังสือในห้องสมุด แล้วกลับมาทดลองทำ ในขณะเรียนรู้ พี่ได้บันทึกผลการศึกษา ทำเป็นรูปแบบโครงงานตามความสนใจ แล้วส่งเข้าคัดเลือกในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) ของ สวทช. และโดยไม่คาดคิด พี่ สามารถผ่านเป็น 1 ใน 69 คน จากเยาวชนทั่วประเทศที่ส่งผลงานเข้ามากว่าพันคน ในตอนนั้นรู้สึก “งง” มาก เพราะตัวเองไม่เคยมีโอกาส ไม่เคยถูกมองเห็นมาก่อน พอได้รับเลือก จึงไม่เข้าใจ และไม่เชื่อว่ามันจะเป็นจริงได้

          เมื่อมีโอกาสได้พบกับอาจารย์ที่สัมภาษณ์เข้าโครงการอีกครั้ง จึงเข้าไปถามอาจารย์ว่า “ทำไมจึงเลือกพี่ ” อาจารย์ตอบว่า “หนูดูมีของ พูดจาฉะฉานจนกรรมการต้องหันมาฟัง พูดตรงไปตรงมา และน่าสนใจ” แล้วน้ำตาก็ไหลออกมา ทั้งที่บอกในใจว่าอย่าร้องไห้ แต่มันก็ออกมาไม่หยุด บอกกับอาจารย์ว่า นี่เป็นครั้งแรกที่พี่ได้รับความสนใจมากขนาดนี้ พี่ไม่เคยมีคนให้คุณค่า และไม่เคยชอบการแข่งขัน เพราะคิดว่าแข่งไปก็แพ้อยู่ดี ซึ่งนี่เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ช่วยปลดล็อกความรู้สึกที่พี่เคยมีต่อตัวเองตลอดมา

          ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่อยู่ในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) พี่ ได้เข้าค่ายเสริมประสบการณ์ ที่จัดทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ ปีละประมาณ 4-5 ครั้ง หลายค่ายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไปเองได้ยาก เช่น การเข้าไปเรียนรู้ในชุมชนจริง ได้ไปใช้ชีวิตกับชาวบ้าน และได้เรียนรู้กับครูภูมิปัญญาในท้องถิ่นนั้น นอกจากนี้ยังได้ฝึกทำวิจัยในห้องปฏิบัติการ ได้เข้าร่วมอบรมความรู้ต่าง ๆ ที่หลากหลาย ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์ สังคม และศิลปวัฒนธรรม โดยจะมีนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงที่เป็นอาจารย์ และนักวิจัยในมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ คอยให้คำแนะนำ ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านล้วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่โครงการได้คัดสรรมา ที่สำคัญคือทุกท่านเป็นมิตรและมีเมตตาต่อเด็ก ๆ มาก มองทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่แยกชนชั้นว่าเป็นอาจารย์หรือลูกศิษย์ เราสามารถพูดคุย แสดงความคิดเห็นกับอาจารย์ได้อย่างเปิดเผย พี่สัมผัสได้ว่าอาจารย์ท่านรักในสิ่งที่ทำ สิ่งที่เป็น มีความทุ่มเท และปรารถนาดีต่อลูกศิษย์จริง ๆ

          การมีโอกาสได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมค่ายกับโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) ของ สวทช. ทำให้พี่ ได้เรียนรู้ว่า เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ และจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อได้เลือกวิธีการเรียนรู้ของตัวเอง ในตอนนี้พี่ รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปมาก จากคนที่ไม่ค่อยมั่นใจ ชอบคิดในแง่ลบเกี่ยวกับความสำเร็จและคุณค่าของตัวเอง ก็กลายเป็นคนที่มีความมั่นใจมากขึ้น นี่จึงเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทรงพลัง ที่อยู่ในความทรงจำของพี่ตลอดมา

          จากประสบการณ์การเรียนรู้ดังได้กล่าวมา ทำให้พี่เกิดความมั่นใจว่า การรู้วิธีสร้างความเข้าใจในแบบของตัวเองและรู้อุปสรรคในการเรียนรู้ของตัวเองไปพร้อมกัน เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทรงพลัง ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตได้ โดยใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยากหรือง่าย ที่เราอาจจะชอบหรือไม่ชอบ พี่เชื่อว่าการเรียนรู้สิ่งใหม่ ในที่ใหม่ ๆ เราจะต้องได้เจอกับความไม่รู้ในรูปแบบใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งทักษะการทำให้ตัวเองรู้และเข้าใจในแบบของตัวเองที่มี จะช่วยให้พี่สามารถปรับตัวและสามารถทำความเข้าใจสิ่งนั้นได้ รวมถึงสามารถส่งต่อความรู้และประสบการณ์ที่มีให้กับกลุ่มคนที่สนใจ ให้เข้าถึงการเรียนรู้ที่เลือกได้และมีความหมายต่อชีวิตของแต่ละคน ซึ่งสิ่งนี้เป็นประเด็นในสังคมที่พี่ ให้ความสนใจ และจะได้นำมาเล่าถึงในโอกาสต่อไปด้วยเช่นกัน

 

          ปล. บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรียงความเรื่อง “แรงบันดาลใจในการเรียนที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทรงพลัง และประเด็นในสังคมที่สนใจ” นำเสนอต่อคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน TCAS รอบที่ 1 การรับด้วย Portfolio ปีการศึกษา 2565

 

พี่จ๊ะจ๋า จิณณาภา ญานะ 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow