กฎ 50/30/20 คือการกำหนดการใช้จ่ายออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น 50% เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าบิลต่าง ๆ 2.ค่าใช้จ่ายสำหรับความบันเทิง 30% เช่น งานอดิเรก ช้อปปิ้ง และ 3.การออมเงิน 20% การใช้จ่ายตามกฎนี้จะช่วยไกด์ให้เราบริหารจัดการเงินได้ดีขึ้น และมันยังเป็นกฎที่ค่อนข้างยืดหยุ่นเพราะเรายังสามารถใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงได้มากถึง 30% เชียว ซึ่งถ้าใช้ไม่หมดก็แนะนำว่าให้นำไปเป็นเงินออมได้
การทำความเข้าใจว่าเราใช้เงินไปกับอะไรบ้างจะช่วยให้เราวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายและทำการปรับเปลี่ยนมันให้ดีขึ้นได้ และมันยังช่วยให้ได้รู้ด้วยว่าเราใช้มากกว่าที่ได้รับมาหรือเปล่า รวมถึงมันสามารถช่วยให้เราวางแผนค่าใช้จ่ายระยะสั้นและระยะยาวได้อีกด้วย
วิธีบันทึกการใช้จ่าย
• จดบันทึกรายรับว่าในแต่ละเดือนเราได้เงินกี่บาท
• จดทุกการใช้จ่ายในแต่ละวัน ถ้ามีรายรับเพิ่มก็จดด้วย
• จัดระเบียบค่าใช้จ่าย แบ่งหมวดหมู่ออกมา เช่น อาหาร เดินทาง ความบันเทิง สุขภาพ การจัดหมวดหมู่จะทำให้รู้ว่าเงินส่วนใหญ่หมดไปกับอะไร
• ทำทุกวันและทุกเดือน ทำต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ให้ติดเป็นนิสัย แล้วคุณจะมีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น
เมื่อบันทึกการใช้จ่ายไปได้ประมาณ 1-2 เดือนแล้ว ขอแนะนำให้ลองทำการตั้งงบประมาณการใช้จ่ายต่อเดือนดู มันคือการกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการใช้จ่ายต่อเดือน การทำแบบนี้จะช่วยเรารู้จักบริหารการใช้เงินและมีวินัยทางการเงินที่ดีมากขึ้น
Good to Know
ขอแนะนำ My Life My Choices Student Edition เว็บที่จะช่วยคำนวณงบประมาณในแต่ละเดือนให้เรา โดยจะช่วยคำนวณว่าเราควรใช้จ่ายกี่บาทเพื่อให้มีเงินเหลือเก็บตามที่ต้องการ และยังมีคำแนะนำดี ๆ เกี่ยวกับแนวทางการจัดการเงินอีกด้วย
การเข้าใจระหว่างความต้องการ (Wants) กับความจำเป็น (Needs) จะช่วยให้เราตัดสินใจใช้จ่ายได้ดีขึ้น และยังช่วยให้เรามีภูมิต้านทานที่แข็งแกร่งจากความต้องการอีกด้วย ความจำเป็นคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร เสื้อผ้า หรือยารักษาโรค เป็นต้น ส่วนความต้องการจะเป็นสิ่งที่มีหรือไม่มีก็ได้ เช่น อยากกินขนมสิบถุง อยากเปลี่ยนเคสโทรศัพท์ทุกวัน เป็นต้น
ความจำเป็น (Needs)
• คอมพิวเตอร์ ที่ใช้งานได้ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเรียนออนไลน์ หรือใช้ในการทำงาน ทำการบ้าน
• อาหาร เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน แม้คุณจะต้องการประหยัดเงิน แต่มันจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าอดอาหาร เพราะคุณจะไม่มีแรงทำอะไรเลย
• ยา หากป่วยขึ้นมา การซื้อยาถือเป็นสิ่งจำเป็นและไม่ควรหลีกเลี่ยง
ความต้องการ (Wants)
• คอมพิวเตอร์ ซื้อครื่องใหม่พร้อมคุณสมบัติที่คุณไม่น่าจะได้ใช้ แต่ซื้อเพราะอยากได้เฉย
• อาหาร ถือเป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้าคุณต้องการประหยัดก็อาจลดอาหารที่ไม่จำเป็นออก เช่น ขนม น้ำปั่น หรืออาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นต้น
เราไม่ได้ห้ามไม่ให้ใช้จ่ายเลย แต่การใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือการก่อหนี้จะเป็นเรื่องที่ง่ายมากถ้าคุณไม่มีวินัยทางการเงิน และนี่คือเทคนิคที่จะช่วยให้ใช้จ่ายได้อย่างประหยัดขึ้น
• ทำรายรับ-รายจ่าย เพื่อจะได้รู้ว่าเราใช้จ่ายเงินกับอะไรไปบ้าง
• มองหาวิธีประหยัด ลองดูว่าค่าใช้จ่ายอะไรที่เราสามารถประหยัดเพิ่มได้ เช่น ต้องการลดน้ำหนักแต่ไม่ต้องการจ่ายค่าสมาชิกฟิตเนส ก็อาจเปลี่ยนมาออกกำลังกายที่บ้านหรือออกไปวิ่งที่สวนใกล้บ้านแทน
• ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน คุณไม่สามารถทำมันได้แบบทันทีทันใด แต่สามารถค่อย ๆ ปรับมันไปได้ ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผ่อนคลาย เช่น จากที่ต้องกินขนมทุกวันก็เปลี่ยนเป็นอาทิตย์ละสองวัน แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นอาทิตย์ละวัน
การออมเงินจะช่วยให้เรามีอิสระทางการเงินมากขึ้นได้ เพราะมันจะช่วยให้เรามีเงินสำหรับใช้จ่ายในเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉินได้โดยไม่จำเป็นต้องขอเงินจากพ่อแม่ หรือสามารถซื้อของที่ต้องการได้ นอกจากนี้ การเก็บออมเงินยังจะช่วยให้เรามีเงินทุนสำหรับใช้ชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยทำงานหรืออยากเริ่มต้นทำธุรกิจได้อีกด้วย
• รายได้ - ค่าใช้จ่าย = การออม เมื่อได้รับเงินค่าขนมในแต่ละเดือนให้ทำการหักลบค่าใช้จ่ายแล้วเก็บออมทันที การทำแบบนี้จะช่วยให้มีเงินออมทุกเดือน
• ช้อปปิ้งให้น้อยลง ลองลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นดู หรือตั้งงบไว้เลยว่าช้อปปิ้งได้ไม่เกินเดือนละกี่บาท
• ประหยัดอย่างสม่ำเสมอ เปิดบัญชีสำหรับออมเงินและนำเงินไปฝากต่อเนื่องทุกเดือน อาจเปิดเป็นแบบฝากประจำเพื่อจะได้มีวินัยในการออมก็ได้
• ออมเงินเพิ่ม 2 บัญชี ได้แก่ บัญชีฉุกเฉิน คือบัญชีสำหรับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน และบัญชีออมเพื่อเกษียณ คือบัญชีสำหรับใช้จ่ายในอนาคตเมื่อเราอายุมากขึ้น
Good to Know
• อย่ารู้สึกผิดที่ต้องใช้จ่าย ควรให้รางวัลตัวเองบ้าง เพื่อจะได้ไม่รู้สึกเครียดมากเกินไป แต่ก็ไม่ควรเกินงบที่ตั้งไว้
• อย่าเปรียบเทียบการเงินของเรากับคนอื่น การเปรียบเทียบการใช้จ่ายของเรากับคนอื่นอาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ไม่ถูกต้อง และยังทำให้รู้สึกไม่ดีอีกด้วย จำไว้ว่าแต่ละคนแตกต่างกันตั้งแต่นิสัยการใช้เงินและสถานการณ์ทางการเงินของครอบครัว
แหล่งข้อมูล
- How to Build a Personal Finance Foundation for Teens
- Budgeting for Teens: Teaching Teens to Save