บัวหลวงก่อการ “ครู”
ชวนครูสร้างห้องเรียนที่เชื่อมโยงการเรียนรู้สู่โลกจริง
(Authentic Learning Designer)
จากจุดเริ่มต้นโครงการ “บัวหลวงก่อการครู” เกิดขึ้นจากแนวคิดที่เรียบง่ายที่ตั้งอยู่บนหลักคิดที่มุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านการพัฒนาโรงเรียน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อบุคลากรในระบบการศึกษาที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างยั่งยืน
คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้จุดประกายและให้มุมมองที่สำคัญแก่ผู้บริหารและทีมงานขับเคลื่อนด้านการศึกษาว่า “เราควรถอดบทเรียนจากโครงการปีก่อน ๆ แล้วจึงค่อยวางกลยุทธ์ในการสนับสนุนและพัฒนาการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง”
โมเดลองค์ความรู้โครงการ “บัวหลวงก่อการครู” จึงเป็นเสมือนหนึ่งกุญแจดอกสำคัญที่เกิดจากการนำหลักคิดดังกล่าวมาขยายผลเชิงรูปธรรม มุ่งสู่เป้าหมายในการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ที่มีใจมุ่งมั่นร่วมกันพัฒนาการศึกษาสู่ความยั่งยืน
คุณพจณี คงคาลัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สานต่อแนวคิดเดินหน้าขยายผลโมเดลองค์ความรู้ “โครงการบัวหลวงก่อการครู” รุ่นที่ 2 ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรพัฒนาทักษะเชิงวิชาชีพ เติมไฟการเรียนรู้ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และศึกษานิเทศก์
จาก 8 โรงเรียนใน 4 เขตพื้นที่การศึกษา จ.อุดรธานี รวมทั้งสิ้น 124 คน ซึ่งพร้อมใจเข้าร่วมอบรมหลักสูตรพัฒนาตามแผนงานของโครงการอย่างเข้มแข็งในทุกวันหยุดช่วงเสาร์และอาทิตย์ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา (มี.ค.- พ.ค. 2565) โดยมีผู้บริหารของธนาคารและ School Partner ในพื้นที่ จ.อุดรธานี ร่วมให้กำลังใจในการเติมเต็มทักษะและชุดความรู้ทั้งด้าน Soft Skills และ Hard Skills เพื่อเป็น “ครูคนใหม่” ที่ปรับบทบาทจาก “ครูผู้สอน” สู่การเป็น “ครูผู้อำนวยการเรียนรู้” (Authentic Learning Designer) ที่สามารถใช้โจทย์และสภาพแวดล้อมโดยรอบโรงเรียนและชุมชนตนเองสร้างห้องเรียนที่เชื่อมโยงการเรียนรู้สู่โลกจริงให้กับ “ผู้เรียน” ได้อย่างเหมาะสม
วันที่ 25 - 26 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งหมุดกิจกรรมที่สำคัญสำหรับ “หลักสูตรพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา” โดยได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพบทบาทการเป็นนักบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจวิถีการเรียนรู้ใหม่ในยุคปัจจุบัน พร้อมต่อยอดสนับสนุน “ครู” ในการนำชุดวิชาทักษะและเครื่องมือจัดการเรียนรู้ใหม่ที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรม “หลักสูตรพัฒนาครูผู้สอน” ออกแบบแผนการสอนจากฐานทุนชุมชนตนเองเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ จัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ปัญหาผู้เรียนและปัญหาของชุมชน “เรียนเพื่อรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง” เสริมแกร่งสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ให้กับ “ครู” ในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีที่อยู่ในการสนับสนุนดูแลของธนาคาร เพราะเราเชื่อว่า “ครู” ที่กล้าเปลี่ยนแปลง คือ ยาดีของการศึกษาที่ยั่งยืน