เต่าตนุ เป็นสัตว์กินพืชที่มีขนาดใหญ่และกินหญ้าทะเล การแทะเล็มหญ้าทะเลอย่างสม่ำเสมอส่งผลทำให้เพิ่มปริมาณสารอาหารและเพิ่มจำนวนของหญ้าทะเล เมื่อหญ้าทะเลแข็งแรงและมีจำนวนมากขึ้นก็จะกลายเป็นแหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่ชั้นเยี่ยมให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลอีกด้วย
เต่ากระ เป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ อาหารโปรดคือฟองน้ำทะเล ฟองน้ำทะเลจะคอยแย่งขยายพื้นที่บนแนวปักการัง และการที่เต่ากระกินฟองน้ำทะเลนั้นจะสามารถที่จะช่วยลดและควบคุมจำนวนฟองน้ำทะเลไม่ให้เยอะจนเกินไปได้
เต่าหัวค้อน เชื่อไหมว่าบนกระดองเต่าหัวค้อน มีแบคทีเรียและสิ่งมีชีวิต (Epibiont) อาศัยอยู่มากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารให้กับปลาขนาดเล็กและกุ้งที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง
เต่ามะเฟือง เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เดินทางได้ไกลกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ อาหารโปรดของเต่ามะเฟืองคือแมงกะพรุน สามารถกินแมงกะพรุนได้ถึง 200 กิโลกรัมต่อวัน การที่เต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุนเยอะนั้นมีส่วนช่วยไม่ทำให้การขยายพันธุ์ของแมงกะพรุนเยอะจนเกินไป ซึ่งแมงกะพรุนเป็นสัตว์ผู้ล่า กินอาหารหลากหลายไม่เลือกมาก ทั้งแพลงตอน ไข่ปลา ลูกปลา
พื้นที่ทางนิเวศที่ปลาเคยครอบครอง ก็ถูกแมงกะพรุนเบ่งบานเข้ามาแทนที่ โดยมีมนุษย์เป็นผู้สนับสนุน จึงเห็นได้ว่าเต่าทะเลนั้นมีความสำคัญมากในการช่วยควบคุมประชากรแมงกะพรุนในท้องทะเล
โดยเฉพาะเต่าตนุ และ เต่ากระ ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อเต่าที่ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการล่าเนื้อเอาไขมันมาบริโภค เอากระดองเต่ามาทำเป็นเครื่องประดับ แม้แต่ไข่เต่าทะเลเกือบทั้งหมดก็ถูกนำมาบริโภค เมื่อไข่เต่าถูกบริโภคการเจริญพันธุ์เติบโตไปเป็นพ่อแม่เต่าก็ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว และกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ก็เป็นปัจจัยหลักในการทำให้แหล่งวางไข่ แหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของเต่าทะเลลดลง
การที่เต่าอยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้เพราะเต่าปรับตัวให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี อย่าให้ความพยายามในการอยู่รอดของ ‘เต่า’ ต้องมาจบสิ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, Black Turtle Dive, คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง