มาทำแบบทดสอบการติดเกมเพื่อประเมินดูว่าเราติดเกมมากเกินไปหรือเปล่า แบบทดสอบนี้ใช้สำหรับการคัดกรองเพื่อค้นหาเด็กและวัยรุ่นช่วงอายุ 8 ปีขึ้นไปที่อาจมีปัญหาติดเกมคอมพิวเตอร์ หรือหมกมุ่นกับการเล่นเกมมากจนก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ แบบทดสอบสร้างและพัฒนาโดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต
หลังทำแบบทดสอบเสร็จแล้ว หากได้ผลว่า ‘ปกติ’ ก็ขอให้สบายใจในเบื้องต้นได้เลยว่าเราไม่ได้ติดเกมมากเกินไป ส่วนผลทดสอบที่อยู่ในระดับ ‘น่าจะติดเกมหรือมีปัญหามาก’ ถ้าหากเรามีปัญหาจริงก็ต้องยอมรับ โดยอาจจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้เพื่อรักษาอาการติดเกม ส่วนผลการทดสอบในระดับ ‘คลั่งไคล้หรือเริ่มมีปัญหา’ ยังสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองด้วยการกำหนดกติกาและจำกัดเวลาเล่นอย่างเข้มงวดและใส่ใจ รวมถึงควรหากิจกรรมอื่นทำเพิ่มเติมเพื่อจะได้ผ่อนคลายมากขึ้น
ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน
อย่าเริ่มจากการตั้งกฎสุดโต่งอย่างไม่เล่นเกมเลย แต่ควรเริ่มจากการค่อย ๆ จำกัดเวลาในการเล่น เช่น จากเดิมที่เรานั่งเล่นทั้งวันก็ปรับเป็นเล่น 3 ชั่วโมงแล้วพักทำอย่างอื่น 2 ชั่วโมง การทำแบบนี้จะทำให้เราไม่ฝืนตัวเองมากเกินไป เมื่อทำแบบนี้ไปได้สัก 1-2 อาทิตย์แล้ว สเต็ปต่อมาคือการตั้งกฎพิเศษขึ้นมา การกำหนดกฎขึ้นมาอย่างจริงจังจะช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ เช่น ไม่เล่นเกมหลังสองทุ่ม หรืองดเล่นเกมในวันธรรมดา เป็นต้น
ตั้งเวลาแจ้งเตือน
การตั้งเวลาแจ้งเตือนจะช่วยให้เราทำตามกฎที่ตั้งไว้ได้ดีขึ้น เช่น จะเล่นเกมวันละ 2 ชั่วโมง พอมีการแจ้งเตือนก็จะหยุดเล่นทันที เป็นต้น วิธีนี้จะใช้ได้ผลดีมาก แต่ต้องทำตามจริง ๆ คือถ้ากำหนดเป้าหมายไว้แล้ว ห้ามหยวนหรือขอต่อเวลาเด็ดขาด เพราะมันจะทำให้เราเล่นต่อไปเรื่อย ๆ จนหยุดเล่นไม่ได้หรือไม่เป็นอันทำอะไรเลย
หากิจกรรมอื่นทำ
ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถเอนเตอร์เทนเราได้เหมือนการเล่นเกม เช่น ดูหนัง อ่านหนังสือการ์ตูน เล่นกีฬา ทำอาหาร ฝึกเต้น เล่นดนตรี ปั่นจักรยาน ออกไปเจอเพื่อน หรือจะลองเล่นบอร์ดเกมดูก็ได้ การได้ลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ให้กับชีวิต และมันยังอาจทำให้เราค้นพบความสามารถใหม่ ๆ หรือสิ่งที่เราชอบได้ด้วย
พบผู้เชี่ยวชาญ
หากลองทำหลายวิธีก็แล้วแต่ก็ยังไม่สามารถลดการเล่นเกมได้ หรือรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาเมื่อไม่ได้เล่นเกม เช่น ก้าวร้าว หัวร้อนมากกว่าปกติ เป็นต้น ถ้าเป็นแบบนี้ขอแนะนำว่าควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพราะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจะสามารถให้คำปรึกษาและแนะนำวิธีการปรับพฤติกรรมของเราได้ให้ดีขึ้นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
• อ่านหนังสือไม่ได้ เอาแต่เล่นมือถือ ระวังเป็นโรค ‘สมาธิสั้นเทียม'
• รู้ให้ทันอาการสมาธิสั้นในวัยรุ่น พร้อมวิธีปรับพฤติกรรมเบื้องต้น
• 10 กิจกรรมน่าทำก่อนเปิดเทอม ช่วยเพิ่มประสบการณ์ชีวิต
• 6 ไอเดียหาอะไรทำแก้เบื่อเวลาอยู่บ้านนาน
• มาดูกิจกรรมน่าทำที่ช่วยแก้เบื่อ แถมเรียกเรตติ้งได้ด้วย
• โกรธจนไม่เป็นอันทำอะไร มาจัดการความโกรธด้วยการจัดหนังสือเรียนกัน
• เมื่อ ‘งานอดิเรก’ ช่วยให้เรียนได้ดีขึ้นกว่าที่คิด !
• Teen’s Guide ทุกปัญหาของวัยรุ่นมีทางออกเสมอ
แหล่งข้อมูล
- Game Over: How to Prevent Screen Time Addiction
- ADHD and Video Games: Is Your Child Hooked?
- “Does My Child Have a Video Game Addiction?” How to Set Limits Around Video Game Use