Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำความรู้จัก 4 คนไทยผู้คว้าศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่นแห่งปี สะท้อนโปรไฟล์ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง

Posted By Plook News | 18 พ.ค. 65
4,039 Views

  Favorite

เชื่อว่าการศึกษาต่อที่ต่างประเทศเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคน และทุกคนย่อมมีเป้าหมายหรือแรงบันดาลใจในการเรียนและการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป แม้ต้องไปเผชิญกับโลกกว้างที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากบ้านเกิด แต่ประสบการณ์การเรียนรู้และสิ่งที่ได้รับกลับมาอาจมีคุณค่ามากกว่าความรู้ในห้องเรียน 
 


เช่นเดียวกับศิษย์ทั้ง 4 ท่าน เจ้าของรางวัลศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่นในประเทศไทยประจำปีนี้ ที่ได้เก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ ไปจนถึงแนวคิดใหม่ ๆ ซึ่งหาไม่ได้จากที่อื่น กลับมาพัฒนาต่อยอดจนสามารถสร้างคุณค่าให้กับชุมชน สังคมและประเทศ
 

โดยวันนี้ บริติช เคานซิล จะพาไปพูดคุยกับ 4 ศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่น ประจำปี 2021-22 (Study UK Alumni Awards 2021-22) ผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศใน 4 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์และความยั่งยืน สาขาศิลปวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ สาขาการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม และสาขาธุรกิจและนวัตกรรม ถึงประสบการณ์ชีวิตและการเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยต่างแดน เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับใครหลาย ๆ คน ที่กำลังใฝ่ฝันอยากเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศและสหราชอาณาจักร
 

 

มากกว่าความรู้ที่ได้รับ คือ “วิธีคิด” อันเรียบง่ายสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่
 

ผศ.ดร. ศรายุทธ เรืองสุวรรณ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด ผู้ผลิตและผู้ให้บริการ CABB รถแท็กซี่ที่มีต้นแบบจากลอนดอนแท็กซี่ ศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่น สาขาธุรกิจและนวัตกรรม (Business and Innovation) เล่าว่า ชีวิตการเรียนที่อังกฤษของผมมีทั้งความสนุกสนานและท้าทาย ในช่วงแรกรู้สึกว่าวิชาที่เรียนยากมาก รวมถึงไม่มีเพื่อนคนไทยเลย ทำให้การใช้ชีวิตช่วงแรกค่อนข้างกดดันจนเคยคิดอยากจะลาออก แต่ด้วยกำลังใจจากครอบครัว เพื่อน และอาจารย์ทำให้ผ่านพ้นมาได้ ผมมองว่านอกจากความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ และการได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายจากเพื่อนต่างเชื้อชาติ เหนือสิ่งอื่นใดที่ได้รับจากการเรียนที่ประเทศอังกฤษคือ “วิธีคิด” ที่แตกต่างจากระบบการเรียนของไทย ผมคิดว่าเรามักถูกบังคับให้ท่องจำ หรือเวลาใครมีคำถามอะไรแปลก ๆ จะถูกมองเป็นตัวประหลาด แต่ที่อังกฤษสอนให้เราคิดอย่างเป็นระบบ และได้ฝึกฝนกระบวนการคิดโดยไม่มีคำว่าผิด ไม่ว่าจะตอบอะไรก็แล้วแต่ มันคือความคิดเห็น นั่นคือสิ่งที่ผมนำกลับมาใช้ในการทำงาน เช่น ตอนประชุมผมจะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูด และแชร์มุมมองต่าง ๆ ได้เต็มที่ ผมว่ามันทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดมากกว่ามาจากความคิดของคนคนเดียว รวมถึงจุดเริ่มต้นของ “CABB” ที่เริ่มจากปัญหาพื้นฐานของแท็กซี่ในไทยที่พบเจอได้ทุกวัน ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนแต่อย่างใด เพียงแต่ยังไม่มีใครให้ความสำคัญและแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ผมจึงพยายามที่จะแก้ไขเรื่องง่าย ๆ ด้วยวิธีการง่าย ๆ แต่ความง่ายนี้กลับได้ผลที่มีประสิทธิภาพ ผมจึงเชื่อว่า “Simplicity is the most beautiful” 
 

 

เมืองแห่งอิสระทางความคิด และบรรยากาศที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
 

ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่น สาขาศิลปวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ (Culture and Creativity Award) เล่าว่า การได้ไปเรียนที่อังกฤษนับเป็นจุดเปลี่ยนที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้ตัวเองมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้มองสถาปัตยกรรมและบทบาทของงานออกแบบกว้างขึ้น ได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรมกับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง โดยเฉพาะตอนเรียนปริญญาเอกที่ลอนดอน มีโอกาสได้ไปฟัง Talk เยี่ยมชม Exhibition ต่าง ๆ ไปจนถึง Gallery เล็ก ๆ ทำให้รู้ว่านอกจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว สิ่งที่อยู่นอกห้องเรียนยังช่วยเปิดโลกเราอย่างมากเช่นกัน ลอนดอนเป็นเมืองที่คนเก่ง ๆ จะมาแชร์อะไรให้เราฟังอย่างเป็นธรรมชาติและอิสระเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่สามารถอยู่คนเดียวได้อย่างมีความสุข เพราะไม่ว่าเราจะมีความชอบอะไร เมืองนี้จะมีคอมมูนิตี้ที่เปิดรับเรา ทำให้เราได้เจอคนที่มีความชอบเหมือนกัน เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทั้งด้านผู้คนและกิจกรรม แต่ทุกคนก็อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งการได้อยู่ในบรรยากาศแบบนี้มีส่วนกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก ส่วนเพื่อนที่ไปเรียนด้วยกัน ก็ยังทำงานเป็นเครือข่ายทางวิชาการที่พึ่งพากันเสมอ และยังสนิทกันมากเพราะได้ใช้ชีวิตในต่างแดนด้วยกันมา นอกจากทำให้เราได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่นแล้ว ยังได้อยู่ร่วมกับเพื่อนที่เรียนด้านอื่น ๆ อีกด้วย
 


แนวคิดการพัฒนางานวิจัย ปลายทางที่ตอบโจทย์และสร้างคุณค่าอย่างแท้จริง

 

ผศ.ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์และความยั่งยืน (Science and Sustainability Award) เล่าว่า ความประทับใจจากการเรียนที่ประเทศอังกฤษที่ผมอยากแบ่งปันคือ แนวคิดการสอน 3 ข้อหลักดังนี้ 1. สอนให้เห็นถึงปลายทางการวิจัย เข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังพัฒนาจะถูกนำไปใช้โดยใคร ใช้อย่างไร ทำให้ได้เปิดมุมมองเกี่ยวกับการทำวิจัยว่านอกจากต้องเป็นสิ่งใหม่แล้ว ยังต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ให้ได้ประโยชน์สูงที่สุด 2. Global thinking คือทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนทั้งโลก ไม่ใช่คนแค่กลุ่มเดียว ซึ่งเกิดจากความหลากหลายของประสบการณ์ที่ได้เจอ เพื่อน ๆ ที่มาจากหลายประเทศ และวัฒนธรรมที่แตกต่าง 3. การสอนให้เราไม่ยึดติดกับความรู้เดิม แต่ให้เราคิดสิ่งใหม่ ๆ เพื่อประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ตามบริบทของสังคมโลก เมื่อกลับมาผมจึงคิดว่าถ้าจะพัฒนาอะไรบางอย่างในประเทศ ควรใช้หลักการเดียวกันคือ ต้องทำงานวิจัยที่ทั้งใหม่และตอบโจทย์การใช้งานในประเทศ ผมได้นำความรู้ด้านวิศวกรรมวัสดุ และการพิมพ์ 3 มิติ มาทำงานวิจัยพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้จริง แทนที่จะอยู่แต่ในห้องแลป ผมได้ไปร่วมงานกับอาจารย์แพทย์เพื่อรับฟังมุมมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำให้เห็นภาพของผู้ใช้งานตั้งแต่ต้น ทำให้ผลงานที่เกิดขึ้นไม่ได้จบแค่การพัฒนา แต่ยังสามารถเข้าไปช่วยเหลือมนุษย์ได้จริง ซึ่งใน 4 - 5 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสช่วยผู้ป่วยแล้วกว่า 600 ชีวิต

 

“ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับเพื่อนที่จบจากอังกฤษมาด้วยกัน ทั้งนักเรียนคนไทยและต่างชาติ เพื่อน ๆ บางคนไปอยู่ตามสถาบันวิจัยต่าง ๆ จึงมีโอกาสได้ร่วมมืองานวิจัยกันค่อนข้างเยอะ ส่วนศิษย์เก่าที่จบมาด้วยกันก็มีโอกาสกลับไปทำวิจัยร่วมกันที่อังกฤษด้วย มีการขอทุนเพิ่มเติม Newton Fund ซึ่งเป็นทุนวิจัยร่วมระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร ที่จะมาเสริมสร้างความร่วมมือทางวิจัยของทั้งสองประเทศผมคิดว่าเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งมากที่ช่วยทำให้เรามีโอกาสรู้จักคนในวงการเดียวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนและร่วมมือกันในอนาคตหลังจากเรียนจบไปแล้ว”

 


ต่อยอดเครือข่ายคุณภาพ แรงผลักดันสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
 

นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางการศึกษาผ่านองค์กรอิสระและเวทีพรรคการเมือง ศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่น สาขาการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม (Social Action Award) เล่าว่า เพื่อนร่วมชั้นที่เรียนปริญญาโทด้วยกันมาจาก 60 กว่าประเทศ ทุกคนต่างมีภูมิหลัง อาชีพ และความฝันที่หลากหลาย ทำให้ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนมุมมองรอบด้าน ได้พัฒนาตัวเองท่ามกลางความหลากหลาย หลังเรียนจบในสาขานโยบายสาธารณะ หรือ Master of Public Policy ก็ได้กลับมาทำงานสนับสนุนนโยบายด้านการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม และเป็นตัวแทนให้กับกลุ่มคนในสังคม ได้แก่ คนไร้สัญชาติ คนรุ่นใหม่ และผู้หญิง เพื่อสะท้อนเสียงที่อยากจะพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งเครือข่ายต่างๆ ของสหราชอาณาจักรมีส่วนช่วยอย่างมากในแง่นโยบายสังคม เพราะนอกจากจะเป็นคณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่านักเรียนทุน Chevening scholarship ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มาจากหลายภาคส่วน และเป็นผู้ที่ได้รับทุนจาก Oxford Thai Foundation 
 

แล้วนั้น การได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนักเรียนเก่าสหราชอาณาจักรของ British Council ยังทำให้ได้เจอเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่มากความสามารถและประสบความสำเร็จจากหลายสาขาวิชาชีพ นับเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทั้งด้านการให้คำปรึกษา ต่อยอดเครือข่ายเพื่อให้เรามีพื้นที่ต่อสาธารณะมากขึ้น และมีส่วนสนับสนุนเพื่อนำไปสู่การผลักดันสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่ทุกคนให้ความสำคัญอยู่แล้ว 

 

 

ทั้งนี้ ทั้ง 4 ท่านพร้อมกับผู้เข้าอีก 8 คนสุดท้ายของในแต่ละสาขาจะได้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Study UK Alumni Awards 2021-22 ในระดับนานาชาติ ซึ่งจะมีการประกาศผลผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในเดือนพฤษภาคมนี้ ติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th หรือเฟสบุ๊คแฟนเพจ British Council Thailand 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook News
  • 5 Followers
  • Follow