Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเลี้ยงลูกวัยรุ่นตอนต้น ในมุมมองของจิตแพทย์เด็ก จุดเปลี่ยนที่พ่อแม่ต้องปรับตัว!

Posted By Plook TCAS | 29 เม.ย. 65
14,152 Views

  Favorite

          วัยรุ่นตอนต้นช่างเป็นวัยของความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ หรือสภาพอารมณ์ มีเรื่องต้องปรับตัวเยอะแยะไปหมด ทั้งเรื่องความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว กับเพื่อน ๆ ไม่ว่าเพศเดียวกันหรือเพื่อนต่างเพศ ไหนจะต้องเตรียมวางแผนการเรียนเพื่ออนาคต ฯลฯ ชีวิตวัยรุ่นจึงดูเป็นวัยว้าวุ่นเหลือเกิน และจุดเปลี่ยนของช่วงวัยนี้เอง เป็นจุดสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องปรับตัว

          ด่านแรกที่ต้องปรับตัวเปิดใจก่อน นั่นคือการยอมรับว่าการเคยเป็นวัยรุ่นในยุคสมัยของคุณพ่อคุณแม่กับการเลี้ยงลูกวัยรุ่นในยุคนี้เป็นคนละเรื่อง คนละอารมณ์กันเลย นั่นเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป โลกหมุนเร็วกว่าในอดีตมาก เด็กยุคนี้เป็นเด็กในโลกดิจิทัล ซึ่งทำให้คุณพ่อคุณแม่มักรู้สึกว่าต้องเรียนรู้อะไรมากมายเพื่อที่จะตามลูก ๆ ให้ทัน จะได้ดูแลเขาอย่างดีที่สุดและราบรื่นที่สุด

          เราจึงอยากนำข้อคิดดี ๆ จากบทสัมภาษณ์ ‘คุณหมอจอม’ นายแพทย์จอม ชุมช่วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แห่ง ‘มีรักคลินิก’ คลินิกเวชกรรมเฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านกัน เพื่อจะมองเห็นแนวทางในการเลี้ยงลูกวัยรุ่นชัดเจนขึ้น

 

พิจารณาความสัมพันธ์ของตนเองกับลูก

         อาจมีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า พอถึงเวลาที่ลูกใกล้เป็นวัยรุ่นหรือกำลังเป็นวัยรุ่น ก็ต้องเตรียมตัวตั้งรับ ‘ปัญหา’ ที่อาจมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของลูกที่กำลังก้าวจากเด็กเล็กสู่เด็กโตที่เริ่มมีความคิดของตัวเอง และมีความเป็นตัวของตัวเอง จนอาจถึงขั้นไม่เชื่อฟังพ่อแม่อย่างที่เคยเป็น ทำให้มีพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง

         แต่ที่จริงแล้ว ความเปลี่ยนแปลงของลูกนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในทุกวัย ดังนั้น วิธีตั้งรับที่ดีที่สุด คุณหมอจอมเห็นว่า น่าจะเริ่มกันตั้งแต่วันที่เราได้เป็นพ่อเป็นแม่กันเลยทีเดียว เพราะหากเราปูพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกมาดีตั้งแต่ต้น เด็ก ๆ ก็จะเติบโตขึ้นมาอย่างรู้สึกสบายใจและไว้ใจที่จะเปิดใจคุยกับพ่อแม่ได้เสมอไม่ว่าอยู่ในวัยใด

 

เข้าใจลูก...เข้าใจกันและกัน

         พ่อแม่หลายคนรักลูกแต่ขาดความเข้าใจ และหลายคนเชื่อว่าการที่ลูกจะเป็น ‘เด็กดี’ ได้นั้น พ่อแม่ต้องสั่งสอน แต่ที่จริงแล้ว คุณหมอเห็นว่า การจะสั่งสอนลูก โดยเฉพาะลูกวัยรุ่น ให้ได้ผลนั้น พ่อแม่ควรต้องเปิดใจเพื่อทำความเข้าใจในตัวลูกเสียก่อนว่าเขามีลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพอย่างไร หากพ่อแม่รับฟังและพยายามทำความเข้าใจโลกของเขา เรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดจากวัยของลูกหรือจากเหตุปัจจัยอื่น ๆ แล้วพูดคุยกับพวกเขาด้วยเหตุผล ลูกย่อมเกิดความเชื่อมั่นว่าสามารถคุยกับพ่อแม่ได้ โดยที่ท่านจะไม่ด่วนตัดสินหรือเอาแต่ตำหนิติเตียน ซึ่งจะส่งผลให้เขาพร้อมรับฟังสิ่งที่พ่อแม่สั่งสอน และหากไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วย เขาก็พร้อมจะพูดคุยหาข้อตกลงอย่างมีเหตุผล

         นอกจากนี้พ่อแม่ควรพยายามทำความเข้าใจกันและกัน รวมทั้งปรับทัศนคติในการเลี้ยงดูลูกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย เพื่อจะไม่ทำให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างสับสนกับความขัดแย้งของพ่อแม่ เช่น สอนลูกต่างกัน ปลูกฝังทัศนคติต่างกัน ที่สำคัญอย่ามองว่าปัญหาอยู่ที่ตัวลูกเท่านั้น ควรคำนึงด้วยว่าตัวพ่อแม่เองนั้น มีส่วนทำให้ปัญหาเกิดขึ้นหรือคงอยู่อย่างไร

 

จริงหรือที่เด็กจากครอบครัวที่มีแต่พ่อหรือแม่ มักจะมีปัญหามากกว่าเด็กทั่วไป?

         จากประสบการณ์การทำงานของคุณหมอจอมเฉพาะที่มีรักคลีนิก เมื่อเทียบกับจำนวนเด็กทั้งหมดที่เข้ามาปรึกษาเพื่อรับความช่วยเหลือ เปอร์เซ็นต์ของเด็กจากครอบครัวแบบมีพ่อเลี้ยงเดี่ยวหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้นมีราว 20-30% เท่านั้น พ่อแม่หรือแม้แต่คนทั่วไปจึงไม่ควรมีภาพฝังใจว่า การที่เด็กจากครอบครัวแตกแยกมีปัญหานั้นเป็นเรื่องปรกติ และในขณะเดียวกัน เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีทั้งพ่อแม่ก็ใช่ว่าจะต้องเป็นเด็กไร้ปัญหา เพราะแม้พ่อแม่จะอยู่ด้วยกัน ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ไม่ดีนัก ก็อาจส่งผลกระทบถึงสภาพจิตใจของเด็กได้

          นอกจากนี้ ทัศนคติและพฤติกรรมของพ่อแม่สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กได้ไม่น้อยไปกว่ากัน ดังนั้น หากพ่อแม่มีปัญหาส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากที่ทำงานหรืออื่นใดก็ตาม ต้องแยกให้ขาดจากปัญหาในครอบครัว ไม่แบกรับความเครียดความหงุดหงิดจากนอกบ้านเข้ามาในบ้าน แล้วระบายด้วยความรุนแรงต่อสมาชิกครอบครัวไม่ว่าด้วยคำพูดหรือการกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการใช้กำลัง ไม่ว่าเป็นการใช้กำลังกับคู่ชีวิตหรือกับลูก ๆ

          การที่พ่อแม่ระมัดระวัง ไม่ปล่อยให้ปัญหาของตนเองและความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมากระทบความสัมพันธ์กับลูก รวมทั้งการมีทัศนคติเชิงบวกและรู้จักควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ย่อมช่วยให้เด็กเกิดความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อพฤติกรรม ความคิดความรู้สึก และทัศนคติของพวกเขา

 

ครอบครัวที่ดูสมบูรณ์แบบใช่ว่าจะไร้ปัญหาเสมอไป

         บางครอบครัวพ่อแม่มีทัศนคติที่ดี ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกราบรื่น แต่ตัวลูกก็อาจมีปัญหาของเขาเองที่ต้องการให้ผู้ใหญ่ช่วยเหลือ เพราะเราไม่ควรลืมว่า สังคมของเด็กโดยเฉพาะวัยรุ่นนั้นไม่ได้มีเพียงบ้าน แต่ยังมีโรงเรียน โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ ยังมีสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นสังคมที่กว้างมากและส่งผลกระทบต่อชีวิตของวัยรุ่นได้มากมาย ไม่ว่าเรื่อง cyber bullying เรื่องการรู้สึกว่าไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน ถูกตัดขาดจากสังคม หรือถูกคนในสังคมลดทอนคุณค่า ฯลฯ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจส่งผลให้พวกเขาไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมที่เคยชอบ หรือในทางกลับกัน อาจมีพฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม เพราะต้องการปรับตัวให้เพื่อน ๆ และสังคมของเขายอมรับและเห็นคุณค่าก็เป็นได้

 

ไม่ใช่เรื่องแปลก หากต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

          กรณีที่พ่อแม่ไม่แน่ใจว่าลูกกำลังเผชิญปัญหาหรือแค่เผชิญความเปลี่ยนแปลงตามวัย ทางที่ดีที่สุดคือเปิดใจคุยกับลูก แต่หากไม่แน่ใจว่าควรคุยอย่างไร ก็สามารถพาลูกมาพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำปรึกษา

          ปัจจุบัน มีวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้ร้องขอว่าอยากพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น พ่อแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่จัดการเองได้ หรือไม่นานคงคลี่คลายไปเอง เพราะในชีวิตการทำงานของคุณหมอ ได้เห็นว่าทุกกรณีที่เข้ามาพบเพื่อขอคำปรึกษาล้วนมีปัญหา เพียงแค่ปัญหามากน้อยต่างกันเท่านั้นเอง

          ยิ่งไปกว่านั้น พ่อแม่ไม่ควรคิดว่าการที่ลูกร้องขอพบผู้เชี่ยวชาญแสดงว่าลูกไม่ไว้ใจที่จะพูดคุยกับตนเอง เพราะไม่น่าแปลกอะไรที่เรื่องบางเรื่อง เด็กอาจสบายใจกว่าหากได้พูดคุยกับผู้ใหญ่คนอื่น ที่แม้จะมิใช่พ่อแม่ แต่พวกเขามั่นใจว่าจะเข้าใจและช่วยเหลือพวกเขาได้

 

ควรทำอย่างไรหากเห็นต่างกัน

          การที่คุณพ่อหรือคุณแม่ คนใดคนหนึ่ง เห็นว่าควรเข้ามาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วยนั้น คุณหมอคิดว่าไม่น่ากังวล เพราะมีหลายกรณีที่เป็นแบบนี้ กรณีที่พ่อแม่จะพร้อมใจกันมาเป็น family meeting นั้นมีค่อนข้างน้อย ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายสำหรับผู้อยู่ในวิชาชีพนี้ที่จะค่อย ๆ ช่วยปรับทัศนคติของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อไป

          ส่วนกรณีที่คุณพ่อคุณแม่อาจเห็นพ้องกันแต่ลูกไม่ยินยอมนั้นมีไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ หากพ่อแม่ผู้ปกครองพูดคุยกับลูกด้วยทัศนคติที่อยากช่วยเหลือ ไม่กล่าวโทษ และชี้ให้เห็นว่าการพบผู้เชี่ยวชาญนั้นเพื่อประโยชน์ของลูกเป็นสำคัญ เด็กมักจะร่วมมือด้วยดี อาจไม่ได้เห็นด้วยแต่แรก แต่ก็ไม่ต่อต้าน

          อย่างไรก็ตาม กรณีที่เด็กไม่ยินยอมมาพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จริง ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถมาขอคำปรึกษาในเบื้องต้นได้โดยไม่จำเป็นต้องพาลูกมาด้วย สมัยนี้เรื่องการพบจิตแพทย์สำหรับเด็กถือว่าเป็นเรื่องที่เปิดกว้าง และกลายเป็นทางออกให้แก่ครอบครัวได้ดีอีกทาง

 

นักจิตวิทยาและจิตแพทย์เคารพสิทธิส่วนบุคคลของเด็ก ๆ เสมอ

          สิ่งที่เด็ก ๆ พูดคุยกับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์นั้น ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ปกครองทราบทั้งหมด ผู้เชี่ยวชาญจะแจ้งแต่ภาพรวมที่สำคัญให้พ่อแม่ เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลลูกโดยไม่ลงรายละเอียด ทั้งนี้ เพื่อมิให้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเด็ก

 

ข้อคิดสำหรับการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ยุคดิจิทัล 

          สุดท้าย คุณหมอจอมฝากข้อคิดไว้ว่า อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่า ชีวิตในช่วงวัยรุ่นเป็นชีวิตที่สับสน ท้าทาย ซึ่งเป็นปรกติของพัฒนาการจากวัยเด็กเป็นวัยรุ่น และจะเป็นวัยผู้ใหญ่ต่อไป เป็นช่วงเวลาที่เด็กแต่ละคนจะค่อย ๆ หล่อหลอมบุคลิกภาพ และมองเห็นตัวตนของตนเองชัดเจนขึ้น คุณหมอจึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่เป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยทำให้ชีวิตช่วงนี้ของเด็ก ๆ เป็นช่วงเวลาที่น่าสนุก เป็นช่วงที่ควรมีความสุขและแสวงหาประสบการณ์หลากหลายในชีวิต ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงห้องเรียนหรือหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ยังมีกิจกรรมอื่นอีกมากมายที่น่าสนใจ นอกเหนือจากการเรียนหรือการเล่นเกม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คือผู้เปิดโอกาสเหล่านี้ให้แก่พวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว เข้าค่าย พบปะผู้คน การฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา ศิลปะ การเขียน ฯลฯ การทำความรู้จักและทำความเข้าใจคนรอบข้าง ความเป็นไปในสังคมและโลกใบนี้ สิ่งเหล่านี้รอให้วัยรุ่นเรียนรู้ และสิ่งเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์ที่หล่อหลอมให้วัยุร่นแต่ละคนมีรูปแบบเฉพาะ มีความรู้สึกดีต่อตนเองและภาคภูมิใจในตนเอง มีความแข็งแกร่งทางจิตใจ ใส่ใจคนรอบข้างและสังคม ซึ่งจะทำให้พวกเขายืนหยัดบนโลกนี้ได้ ในอนาคตที่ทุกอย่างอาจแตกต่างไปจากปัจจุบันอีกมากมาย

 

          แน่นอนค่ะว่า หน้าที่เหล่านี้คงหนีไม่พ้นคุณพ่อคุณแม่ในการเตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นอย่างมีความแข็งแรงทางร่างกาย และมีความแข็งแกร่งทางจิตใจ และที่สำคัญคือมีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งมาเร็ว มาแรง และมารุมล้อมตัวเด็ก ๆ อย่างแน่นอน มาช่วยกันทำให้การเปลี่ยนช่วงวัยช่วงสำคัญของน้อง ๆ ผ่านพ้นไปด้วยดีและมีคุณภาพ เพราะนั่นจะไม่ใช่แค่คุณภาพของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเท่านั้น แต่หมายถึงคุณภาพของสังคม และประเทศชาติของเราด้วย

 

กัลยภรณ์ จุลดุล สัมภาษณ์และเรียบเรียง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow