โดยเฉพาะโฉมหน้าเจ้าของเสียงตัวละครตัวโปรด และการทำงานเบื้องหลัง ที่เรียกได้ว่าท้าทายไม่แพ้งานหน้าจอเลยทีเดียว
ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ประจำประเทศไทยของ Netflix กล่าวว่า “Netflix ให้ความสำคัญกับการช่วยให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงเนื้อหาและความบันเทิงอันหลากหลายบนบริการของเราอย่างสะดวกและทั่วถึง การอ่านซับไตเติลบางครั้งก็ทำให้ผู้ชมพลาดรายละเอียดบางอย่างของตัวหนังหรือซีรีส์ หรือรายละเอียดในการแสดงของนักแสดง
รวมถึงอาจเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ชมบางกลุ่มที่ไม่ถนัดในการอ่านซับไตเติล เราจึงพยายามเพิ่มเนื้อหาที่มีพากย์ไทยให้มากขึ้น เพื่อช่วยตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชมไทยทุกกลุ่ม นอกจากนี้ เรามีนักพากย์ไทยที่เก่งๆ เยอะมาก Netflix ในฐานะผู้นำสตรีมมิ่งความบันเทิงที่มีเนื้อหาหลากหลาย ก็อยากจะสนับสนุนนักพากย์ไทยให้ได้มีพื้นที่แสดงความสามารถในหลายๆ แบบ ผ่านตัวละครที่มีความแตกต่างกันบนเซอร์วิสของเรา”
งานนี้ Netflix จึงอาสาพาผู้ชมไปพบกับเหล่านักพากย์ผ่านรายการใหม่ล่าสุดทางช่องทางออนไลน์ของ Netflix Thailand อย่างรายการ “Who Dubbed This? - เสียงนี้พี่เอง” ที่พร้อมให้รับชมกันได้ทุกวันเสาร์เวลา 5 โมงเย็น ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน ถึง 11 มิถุนายน โดยมีนักพากย์ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ 8 คน มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และเคล็ดลับการพากย์ในแบบเฉพาะตัวกันมากมาย และต่อไปนี้คือน้ำจิ้มเล็ก ๆ น้อย ๆ จากนักพากย์เจ้าของเสียงตัวละครที่เราคุ้นเคย
การพากย์เสียง แฟรงก์ ชีรัน จาก คนใหญ่ไอริช (The Irishman) ใช้เวลานานถึง 12 ชั่วโมง โดย ติ่ง สุภาพ ไชยวิสุทธิกุล นักพากย์รุ่นเก๋า ที่ให้เสียงภาษาไทยทั้งแฟรงก์ ชีรันจากคนใหญ่ไอริช (The Irishman) มิสเตอร์วิลฟอร์ด จากปฏิวัติฝ่านรกน้ำแข็ง (Snowpiercer) และหลากหลายตัวละครจาก มหาศึกคนชนเทพ (Record of Ragnarok) เล่าถึงการพากย์ตัวละครแฟรงก์ ชีรันว่านอกจากบทที่ยาวแล้ว ตัวละครนี้ยังใช้วิธีพากย์ในสไตล์หนังโรง คือเป็นการพากย์เจาะทีละคน ซึ่งจะช่วยให้ถ่ายทอดรายละเอียดของตัวละครได้มากขึ้น แถมยังมีผู้กำกับมาคอยช่วยบอกอารมณ์ของตัวละคร ดังนั้น วางใจได้เลยว่าคุณภาพที่ออกมาจะใกล้เคียงกับต้นฉบับอย่างแน่นอน
ความยากในการพากย์เสียงผู้พิพากษาชิมอึนซอก จาก หญิงเหล็กศาลเยาวชน (Juvenile Justice) คือนัยซ่อนเร้นและความลึกที่อยู่ในทุกๆ คำพูดของตัวละคร ทำให้หยก - นภัสวรรณ์ วัชรีวงศ์ ณ อยุธยา เจ้าของเสียงชิมอึนซอกในภาษาไทยต้องทำความเข้าใจตัวละครเป็นอย่างมาก เพื่อสื่อสารความรู้สึกและความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำพูดตัวละครออกมาให้พอดี ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำลายมิติดั้งเดิมของตัวละครลงได้ ซึ่งการทำความเข้าใจตัวละครและเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ถ่องแท้เป็นเคล็ดลับที่หยกนำมาใช้ในการทำงานอยู่เสมอ รวมถึงในการพากย์เสียงเจ้าหญิงไดอาน่าในเรื่อง เดอะ คราวน์ (The Crown) และ หลัวอวี่หนง (มาม่าโรส) ในเรื่อง แสงราตรี (Light the Night) อีกด้วย
นอกจากการทำความเข้าใจ การฟังก็เป็นอีกหัวใจสำคัญสำหรับนักพากย์ บอส - อภิชิต ลิขิตลิ้มปรีชา ผู้ให้เสียงฮายาตะ ชินจิโร่ จาก อุลตร้าแมน (Ultraman) ซีซั่น 1 และซีซั่น 2 เจส จาก อาร์เคน: ตำนานลีกออฟเลเจ็นดส์ (Arcane) และดีเทอร์ จาก แผนปล้นซอมบี้เดือด (Army of the Dead) และ แผนปล้นยุโรปเดือด (Army of Thieves) บอกว่าเทคนิคส่วนตัวคือการฟังให้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นการฟังจากนักพากย์คนอื่น ๆ เพื่อเรียนรู้และเอามาเสริมส่วนที่ขาด รวมทั้งการตั้งใจฟังต้นฉบับเพื่อให้เข้าใจว่าตัวละครต้องการสื่ออารมณ์แบบไหน ก่อนจะตีความแล้วถ่ายทอดออกมาในภาษาไทย
การพากย์เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง ตราบใดที่เสียงสามารถถ่ายทอดตัวละครนั้นๆ ได้ คือสิ่งที่เห็นได้จาก จิ๊บ จักรรัตน์ ศรีรักษ์ นักพากย์ LGBTQ+ มากความสามารถ ด้วยช่วงเสียงที่กว้าง ทำให้จิ๊บสามารถพากย์เสียงได้หลากหลาย ตั้งแต่หุ่นยนต์เมกะทรอน จาก ทรานส์ฟอร์เมอร์ส (Transformers) ไปจนถึงรูบี้ เร้ด นางโชว์ผู้มาดมั่น จาก เอเจ แอนด์ เดอะ ควีน (AJ and the Queen) และไฮเมอร์ดิงเกอร์จาก อาร์เคน: ตำนานลีกออฟเลเจ็นดส์ (Arcane)
นี่คือความน่าสนใจเพียงเล็กๆ น้อยๆ จากเหล่านักพากย์ ใครอ่านแล้วติดใจ อยากรู้ให้ลึกกว่านี้ สามารถติดตามเบื้องลึกเบื้องหลังงานพากย์กันอย่างจุใจ พร้อมเรื่องราวจากนักพากย์ทั้งหมด 8 คน ที่รอให้คุณไปทำความรู้จักได้ทางยูทูบ TikTok และเฟซบุ๊กของ Netflix Thailand ทุกวันเสาร์ เวลา 5 โมงเย็น เริ่มวันที่ 23 เมษายน ถึง 11 มิถุนายน พร้อมรับชมภาพยนตร์และซีรีส์พากย์ไทยถึงใจได้ที่ Netflix!