Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไงดี ลูกดื้อจัง! ทำไมลูกชอบต่อต้านพ่อแม่! นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นมีคำตอบ

Posted By Plook TCAS | 25 มี.ค. 65
18,336 Views

  Favorite

          คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองท่านไหนเคยรู้สึกว่าบุตรหลานวัยรุ่นดื้อ และมีพฤติกรรมต่อต้านตัวท่านรวมไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัวบ้างไหมคะ?

          “นิดนึง” “ก็ดื้อพอดู” “ไม่ดื้อนะ เด็ก ๆ เขาก็แค่เป็นตัวของตัวเองตามวัย”

          อาจมีบางท่านไม่แน่ใจว่าพวกเขา ‘ดื้อ’ หรือแค่ ‘เป็นตัวของตัวเอง’ แต่ก็คิดว่าน่าจะ ‘เอาอยู่’ เพราะยังพอจำอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดความอ่านของวัยรุ่นได้ เลยพยายามปรับตัวเข้าหาบุตรหลาน ในขณะที่บางท่านกำลังปวดหัวและหนักใจกับวัยรุ่นในบ้าน เพราะไม่ว่าจะพูดอะไรทำอะไร ก็ถูกต่อต้านไปเสียทุกเรื่อง ทำไมตอนเราเป็นวัยรุ่นไม่เห็นเป็นแบบนี้!

          หากท่านอยากจะเข้าใจบุตรหลานให้ดียิ่งขึ้น และมองเห็นแนวทางที่จะช่วยให้ดูแลพวกเขาได้อย่างราบรื่น ลองไปฟัง คุณนรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยา นักจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม แห่งมีรักคลินิก (คลินิกเวชกรรมเฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น)  แบ่งปันประสบการณ์ในการดูแลและให้คำปรึกษาน้อง ๆ วัยนี้ดูค่ะ ทรูปลูกปัญญาสรุปบทสัมภาษณ์มาให้อ่านกันแล้ว

 

ปัญหาใหญ่ของวัยรุ่นในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ

          ด้วยประสบการณ์การทำงานในฐานะนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นมากว่าสิบปี ทำให้คุณนรพันธ์หรือ ‘ครูต้น’ ของเด็ก ๆ มีโอกาสช่วยเหลือวัยรุ่นและผู้ปกครองมากมายที่ประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น หรือปัญหาทั่วไปของครอบครัวที่บุตรหลานกำลังอยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ

          คุณต้นเล่าให้ฟังว่า เด็กส่วนใหญ่ที่ผู้ปกครองพาเข้ามารับคำปรึกษาจากทางคลินิกนั้น ไม่ได้เข้ามาด้วยปัญหาเชิงเดี่ยว คือไม่ได้มีปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่จะมีปัญหาหลาย ๆ ด้านผสมผสานกัน เรื่องของความดื้อดึง มีความคิดของตัวเอง ต่อต้านพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นเป็นเพียง 1 ใน 3 ปัญหาหลักอันเป็นสาเหตุให้ผู้ปกครองและเด็กต้องการความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา ซึ่งปัญหาหลัก 3 ปัญหานั้น ได้แก่

 

1. ความเครียดเรื่องการเรียนและเป้าหมายในอนาคต

          อย่างที่น่าจะทราบกันดีว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้ปกครองมีความคาดหวังสูงมากในเรื่องผลการเรียนและเป้าหมายในอนาคตของบุตรหลาน เด็กไทยส่วนใหญ่ต้องเรียนพิเศษสารพัดวิชา ไม่ว่าวันธรรมดาหรือวันหยุด เพื่อจะสามารถทำคะแนนได้ดีในระดับที่ผู้ปกครองพอใจ และดีพอจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยดัง ๆ ด้วยเหตุที่พ่อแม่มีค่านิยมเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ว่าน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการการันตีความสำเร็จในอนาคตของบุตรหลานได้ ยิ่งไปกว่านั้น ความเชื่อบางประการที่ผู้ปกครองปลูกฝังยิ่งส่งผลให้เด็กเหนื่อยยากและต้องแบกรับความเครียดมากขึ้นอีก ตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองบางท่านปลูกฝังบุตรหลานว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น โดยไม่ได้คำนึงว่าระดับความสามารถของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน บุตรหลานจึงต้องพยายามมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ แต่พยายามเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ เท่ากับว่าพวกเขาหยุดเหนื่อยไม่ได้ ความเครียดจึงยิ่งทวีคูณ

 

2. ปัญหาในการปรับตัวเนื่องจากต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน เพื่อนสนิทหรือคนรัก

          เด็กในวัยนี้ต้องการทราบว่า ‘ฉันเป็นใคร’ และ ‘ฉันมีคุณค่าแค่ไหน’ ในสายตาของเพื่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในชีวิตจริงและเพื่อนในโลกออนไลน์ และหากรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสำคัญหรือไม่มีค่าพอสำหรับกลุ่มเพื่อน โดยเฉพาะเพื่อนสนิทหรือคนรัก ก็อาจส่งผลให้พฤติกรรมของพวกเขาเปลี่ยนไปจากเดิม และอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่กระทบความสัมพันธ์ของพวกเขากับพ่อแม่ผู้ปกครองได้

 

3. ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่อาจแสดงออกในรูปแบบไม่เหมาะสม

          วัยรุ่นเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง มีการแสดงออกที่ต่างไปจากวัยเด็ก อีกทั้งยังมีความแปรปรวนของฮอร์โมนที่ส่งผลต่อสภาพอารมณ์ และการทำงานของสมองวัยรุ่นก็ใช้อารมณ์มากกว่าตรรกะ จึงอาจทำให้พวกเขาเกิดข้อขัดแย้งกับพ่อแม่ผู้ปกครองหรือคนในครอบครัว จนบ่อยครั้ง ความขัดแย้งดังกล่าวนำความทุกข์มาให้ทั้งผู้ปกครองและตัวพวกเขาเอง

 

เมื่อความสัมพันธ์กับบุตรหลานเริ่มมีปัญหา หรือเมื่อตัวบุตรหลานเองประสบปัญหา ก้าวแรกของผู้ปกครองควรเป็นไปในทิศทางใด

          ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือบุตรหลานวัยรุ่นที่ประสบปัญหา หรือการคลี่คลายปัญหาความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างผู้ปกครองกับบุตรหลานวัยรุ่น คุณต้นแนะนำว่า สิ่งแรก ๆ ที่ผู้ปกครองควรพิจารณาและทำความเข้าใจ ได้แก่

 

1. ช่องว่างระหว่างวัยและยุคสมัยหรือ Generation gap

          เด็กรุ่นนี้เป็นเด็กเจเนอเรชั่น Z ที่มีการเข้าถึงข้อมูลแตกต่างไปจากรุ่นพ่อแม่ เนื่องจากโลกปัจจุบันมี ช่องทางมากมายเปิดให้เด็ก Gen Z สัมผัสกับโลกภายนอกผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่เพียงเพื่อการค้นคว้าหาความรู้ แต่ยังมีช่องทางของสื่อสังคมออนไลน์เพื่อติดต่อทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ๆ รวมไปถึงการเล่นเกมต่าง ๆ ทั้งเพื่อสังคมและความสนุกสนาน

          วัยรุ่นยุคนี้จึงมีองค์ความรู้เยอะกว่าและมีสังคมกว้างกว่าคนยุคก่อน ผลก็คือ นอกเหนือจากกฎระเบียบในบ้าน พวกเขายังต้องอยู่ภายใต้ ‘กฎ’ อื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน และกฎที่ใกล้ตัวที่สุดคงไม่พ้นกฎในกลุ่มเพื่อน ซึ่งมีทั้งกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียน และเพื่อนออนไลน์ ตัวอย่างเช่น เพื่อน ๆ กำลังเล่นเกมออนไลน์และทำคะแนนแข่งกัน วัยรุ่นที่ต้องการเป็นที่ยอมรับของเพื่อนก็ย่อมต้องการมีส่วนร่วมกับการเล่นเกมเช่นกัน เพราะหากไม่มีส่วนร่วมก็เท่ากับเป็นการไม่ทำตามกฎในกลุ่มเพื่อนนั่นเอง

 

2. การพูดคุยกับวัยรุ่นควร ‘รู้เขา’ เพื่อเขาจะ ‘ฟังเรา’ และทั้งสองฝ่ายจะได้เข้าใจกัน

          เพราะเรื่อง generation gap กับการสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับบุตรหลานมักมีความ เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน คุณต้นจึงขอยกการสื่อสารเรื่องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาเป็นตัวอย่างในหัวข้อนี้

          ในขณะที่การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล่นเกมเป็นเรื่องปรกติสำหรับวัยรุ่น ผู้ใหญ่กลับ มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้งาน ‘เกินขอบเขต’ หรือ ‘ไม่เหมาะสม’ เพราะส่วนใหญ่มองว่าบุตรหลานน่าจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้เรื่องการเรียน รวมถึงการติดต่อสื่อสารเท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ดี การตั้งกฎหรือปิดกั้นไม่ให้บุตรหลานเล่นเกมคงทำได้ยากและยิ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันมากขึ้น คุณต้นจึงแนะนำให้พูดคุยกันด้วยเหตุผล ทำความเข้าใจกันและกัน และหา ‘ข้อตกลง’ ร่วมกันในการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประการสำคัญ ผู้ปกครองควรหาความรู้และพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่บุตรหลานทำอยู่

          ยกตัวอย่างกรณีที่พวกเขาชอบเล่นเกม อาทิ เกม ROV ที่วัยรุ่นนิยมกันมาก ไม่ควรมองว่าเป็นสิ่งไม่ดีแล้วดุว่า หรือห้ามเล่น หรือหักหาญน้ำใจด้วยการปิด Wi-fi และบังคับให้เข้านอนขณะที่เขาเล่นเกมค้างอยู่ เพราะหากทำอย่างนั้นอาจทำให้เด็กเครียดและต่อต้าน ในทางตรงข้าม หากผู้ปกครองเรียนรู้เรื่องเกม รู้ว่าลูกกำลังสู้กับบอสอะไร อาวุธที่ถืออยู่ต้องสู้กับบอสใช้เวลานานแค่ไหน ก็จะทราบว่า หากเป็นการเล่นแบบ ranking จะใช้เวลานาน ถ้าเล่นก่อนนอนจะเลิกเล่นยากกว่าแบบ survival ทั่วไป เมื่อทราบแล้ว ผู้ปกครองก็ค่อยตกลงกับบุตรหลานว่า อนุญาตให้เล่น ranking หลังกินอาหารเย็น แต่ก่อนนอนให้เล่นแบบทั่วไป เพราะไม่ใช้เวลามากและไม่ทำให้ต้องนอนดึก

          การที่ผู้ปกครองไม่ด่วนสรุปว่าลูก ‘ดื้อ’ ‘ก้าวร้าว’ หรือ ‘ต่อต้าน’ แต่เข้าใจและประนีประนอม ทำให้เขาไม่เครียดและอยากแบ่งปันประสบการณ์ความสนุกในการเล่นเกม ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ปกครองสามารถโน้มน้าวให้เขารู้จักจัดสรรเวลาและอาจดึงให้เด็ก ๆ หันไปสนใจสันทนาการรูปแบบอื่น ๆ ที่สนุกพอกันและได้มีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกครอบครัวได้อีกด้วย

          นอกจากนี้ คุณต้นยังเคยมีประสบการณ์กับเด็กบางคนที่ชอบเล่นเกมเวลากินข้าวกับครอบครัว ซึ่งระหว่างกระบวนการบำบัด เด็กเปิดใจเล่าว่า สาเหตุที่ทำอย่างนั้นเพราะผู้ใหญ่มักทะเลาะกันเวลากินข้าว ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ผู้ใหญ่ควรพิจารณาและปรับปรุงแก้ไขตนเองเช่นกัน เพราะปัญหาระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับวัยรุ่นนั้น ไม่ได้เกิดจากเด็กเพียงอย่างเดียว

 

3. พ่อแม่ควรปรับเปลี่ยนการแสดงออกถึงความรักต่อลูกวัยรุ่นอย่างเหมาะสม

          ฟังดูอาจไม่น่าเชื่อว่าเรื่องการแสดงความรักก็เป็นสาเหตุของปัญหาได้ แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เช่น พ่อแม่เคยชินกับการกอดการหอมลูกเพื่อแสดงความรัก แต่เมื่อโตขึ้น ลูกแสดงความอึดอัด หงุดหงิด ถอนหายใจ ซึ่งผู้ใหญ่มองว่าเป็นการแสดงความก้าวร้าว หรือเป็นการต่อต้าน แสดงออกอย่างไม่เหมาะสม แต่หากผู้ใหญ่ใส่ใจถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากเด็กสู่วัยรุ่นแล้ว ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนการแสดงถึงความรักให้เหมาะสมกับวัยของลูกและลดความขัดแย้งลงได้

 

เมื่อพยายามแก้ปัญหาด้วยตนเองแล้วยังไม่ดีขึ้น ก้าวที่สองควรเป็นไปในทิศทางใด?

          หากเป็นสมัยก่อนที่ทัศนคติของคนส่วนใหญ่ต่อการเข้าพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นไปในเชิงลบ ทั้งผู้ปกครองและบุตรหลานอาจต้องทนแบกรับปัญหาเอาไว้ แล้วหาทางแก้ไขในแบบของตัวเอง แต่จากที่ได้พูดคุยกับคุณต้น ถือว่าน่ายินดีว่าช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมา ทัศนคติดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปมาก ในมุมมองของผู้ปกครองนั้น จากที่เคยคิดว่าเป็นความผิดของตัวเองที่ทำให้บุตรหลานมีปัญหา ปัจจุบัน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ตัดสินตัวเองหรือบุตรหลาน แต่พร้อมจะร่วมมือกับนักจิตวิทยาเพื่อทำให้บุตรหลานมีความสุขขึ้นโดยไม่ได้กังวลว่าการพาบุตรหลานมาพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เป็นเรื่องเชิงลบ หรือตัดสินถึงสถานภาพของเด็กว่าป่วยหรือผิดปรกติ

         ส่วนมุมมองของวัยรุ่น พบว่ามีเด็กวัยนี้จำนวนไม่น้อยที่ร้องขอพบนักจิตวิทยาด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าน่ายินดีเช่นกันที่เด็กรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมากับความคิดที่ว่า เมื่อมีปัญหาในจิตใจ ก็ต้องแก้ไขด้วยการขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านนี้โดยตรง โดยไม่คิดว่าเป็นเรื่องน่ากลัวหรือน่าอาย

          เรื่องน่ายินดีอีกประการหนึ่งก็คือ กฎหมายการแพทย์ฉุกเฉินฉบับปัจจุบันรองรับการที่เด็กอายุ 16-18 ปีกระทำการดังกล่าว ในกรณีที่เด็กมีความคิดที่จะนำพาไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงทำร้ายตนเองและผู้อื่น หมายถึง หากเป็นความเสี่ยงที่เป็นความคิด อารมณ์ ยังไม่เกิดพฤติกรรมขึ้น สามารถร้องขอความช่วยเหลือจากวิชาชีพด้านจิตใจ อาทิ สายด่วนสุขภาพจิต แต่หากมีพฤติกรรมหรือมีความคิดที่มีรูปแบบ มีการวางแผนในการทำร้ายตนเองชัดเจน ให้ร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉินในสถานพยาบาลใกล้เคียง หรือ 1669 และหากเด็กจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือตามกรณี ก็มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็กมารองรับเช่นกัน แต่มีข้อแม้ว่าหมอจะไม่จ่ายยาให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

ขั้นตอนการพาบุตรหลานเข้าพบนักจิตวิทยา

          คุณต้นเล่าว่าทางคลินิกจะพบผู้ปกครองก่อนพบเด็ก ทั้งนี้เพื่อปรับทัศนคติผู้ปกครองเป็นอันดับแรก เหตุผลก็คือ การบำบัดรักษาหรือการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่การที่พาเด็กมาเข้ากระบวนการรักษาเพียงลำพัง แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งตัวเด็กเอง ผู้ปกครอง และผู้ประกอบวิชาชีพคือนักจิตวิทยาเอง เด็กแต่ละคนมีบุคคลแวดล้อมดูแล นักจิตวิทยาจึงต้องดูแลบุคคลแวดล้อมเหล่านั้นด้วย เพื่อให้บุคคลแวดล้อมมีทัศนคติเปิดกว้างและเต็มใจยึดหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกัน ร่วมมือกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวเด็ก หลังจากนั้นจึงค่อยพูดคุยกับเด็กจนได้ข้อสรุปร่วมกับเด็กว่าจะให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดรักษาด้วย

          จากประสบการณ์ คุณต้นเคยพบผู้ปกครองหลายท่านที่ปิดบังบุตรหลาน คือไม่พูดคุยอย่างตรงไปตรงมาว่าจะพาพวกเขามาพบนักจิตวิทยา บางท่านหลอกบุตรหลานว่าจะพาไปหาหมอฟันแต่กลับพามาคลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น เป็นต้น หรือผู้ปกครองบางท่านก็บอกตามตรงแต่บอกแบบตัดสินคือเหมือนกล่าวโทษเด็กว่าเพราะเด็กมีพฤติกรรมอย่างนี้ ๆ ถึงต้องพาไปพบนักจิตวิทยา ซึ่งถือเป็นการสร้างภาพให้นักจิตวิทยาจิตแพทย์เป็นเหมือน ‘ไม้เรียว’ หรือบทลงโทษต่อพฤติกรรมของพวกเขา ซึ่งเป็นการปลูกฝังทัศนคติเชิงลบต่อผู้ประกอบวิชาชีพนี้ให้กับเด็ก

          เมื่อได้พูดคุยกับผู้ปกครอง ในฐานะของนักจิตวิทยา คุณต้นจึงสนับสนุนให้ผู้ปกครองพูดคุยกับบุตรหลายอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ตัดสินพวกเขา บอกความจริงไปเลยว่าผู้ปกครองมาพบนักจิตวิทยาแล้วเจอกับอะไรบ้าง ต่างจากที่อื่นยังไง รู้สึกยังไงเมื่อได้พูดคุย ฯลฯ จากนั้น ให้พวกเขาตัดสินใจเองว่าต้องการพบนักจิตวิทยาหรือไม่

          สิ่งที่น่าสนใจคือ คุณต้นเห็นว่าการบอกเล่าเชิงบวก (ซึ่งอาจไม่ตรงกับความจริง) หรือการปลูกฝัง positive thought ให้เด็กในเรื่องของการมาพบนักจิตวิทยาไม่น่าจะเกิดประโยชน์เท่าการบอกเล่าตามจริงหรือการปลูกฝัง realistic thought เพราะวันหนึ่งที่เขาตัดสินใจมาพบนักจิตวิทยาด้วยตนเอง แล้วพบว่าสิ่งที่ผู้ปกครองบอกเล่านั้นเป็นจริงทุกอย่าง จะทำให้เด็กเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และเปิดใจกับการบำบัดรักษายิ่งขึ้นอีก

          มีบ้างที่เมื่อแรก เด็กปฏิเสธที่จะเข้าพบนักจิตวิทยา แต่คุณต้นสนับสนุนให้ผู้ปกครองให้เกียรติการตัดสินใจของบุตรหลาน เพราะส่วนใหญ่แล้ว เด็กก็จะเปลี่ยนใจในที่สุด เพราะความทุกข์จากปัญหานั้นไม่ได้อยู่กับผู้ปกครองเท่านั้น แต่อยู่กับตัวเขาด้วย หากพ่อแม่ช่วยทำให้เขามั่นใจว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญดูแลช่วยเหลือให้ปัญหาคลี่คลายโดยไม่ตัดสินว่าเขาผิดถูกอย่างไร เขาก็ย่อมไม่ปฏิเสธความช่วยเหลือนั้น

อย่างไรก็ดี กรณีที่ปัญหามีท่าทีว่าจะลุกลามและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตเด็กหรือผู้อื่น คุณต้นแนะนำให้รีบพาเด็กเข้ามาพบนักจิตวิทยาโดยเร็วที่สุด

          สิ่งที่คุณต้นย้ำก็คือ เด็กจะมีสุขภาพจิตดีขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตัวเด็กเองเป็นหลัก และผู้ประกอบวิชาชีพไม่ว่าแพทย์หรือนักจิตวิทยา บุคคลแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ในบ้าน และครู ทุกฝ่ายไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่ในกระบวนการรักษาแบบโดดเดี่ยว

          ในยุคสมัยนี้ การจะนำทฤษฎีพัฒนาการเด็กมาใช้จำต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกระแสโลก เด็ก Gen Z โตเร็วและมีความคิดเป็นของตัวเองเร็วกว่า มากกว่า เด็กรุ่นก่อน ๆ แม้แต่เด็กแปดขวบก็เรียกร้องตั้งพาสเวิร์ดมือถือของตัวเอง เพราะเห็นในอินเทอร์เน็ตว่าเด็กในเนเธอร์แลนด์สามารถตั้งพาสเวิร์ดเอง ดังนั้น ในยุคที่ผู้ปกครองต้องปล่อยให้ลูกเติบโตในโลกแห่งความเป็นจริงไปพร้อมๆ กับโลกดิจิทัล การใช้ parental control ในระบบออนไลน์นั้นไม่ได้ผลดีเท่าการใช้ความใส่ใจเรียนรู้และทำความเข้าใจกับบุตรหลาน รู้และเข้าใจว่าบุคลิกลักษณะนิสัยของพวกเขาเป็นอย่างไร สังคมของพวกเขาเป็นอย่างไร พวกเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แล้วค่อย ๆ พูดคุยหาข้อตกลงโดยให้พวกเขามีส่วนร่วม การทำให้เด็ก ๆ รู้สึกไว้ใจและสามารถเปิดใจพูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครองได้ รวมทั้งให้ความร่วมมือในกรณีที่ต้องมีการบำบัดรักษาโดยนักจิตวิทยา ย่อมเป็นการช่วยลดปัญหา/คลี่คลายปัญหาได้ดีที่สุด

 

หากจัดการปัญหาเองไม่ได้ รัฐก็จัดหานักจิตวิทยาไว้ดูแลช่วยเหลือ

         สำหรับผู้ปกครองและบุตรหลานที่ยังไม่ทราบว่า หากประสบปัญหาที่เกินกว่าจะแก้ไขกันเองและต้องการพบนักจิตวิทยาเพื่อขอความช่วยเหลือ จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ที่ไหน อย่างไร คุณต้นมีข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนักจิตวิทยาประจำเขตที่ รร. ติดต่อขอความช่วยเหลือได้ ซึ่งหากเป็นในกรุงเทพฯ นอกจากนักจิตวิทยาของ สพฐ. แล้วยังมีนักจิตวิทยาประจำอยู่ที่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ด้วย ส่วนต่างจังหวัด แม้ว่าแต่ละจังหวัดยังมีนักจิตวิทยาดูแลเพียง ๑ ท่าน แต่ทุกวันนี้ โรงเรียนใหญ่ ๆ หลายโรงเรียนทั่วประเทศได้ทำ Contact MOU กับโรงพยาบาลที่มีแผนกจิตเวชเด็กเพื่อที่หากต้องการความช่วยเหลือก็สามารถติดต่อทางโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที และคาดว่าการประสานความร่วมมือในลักษณะนี้จะขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ

         หวังว่าบทสัมภาษณ์นี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านที่กำลังหนักใจกับบุตรหลานวัยรุ่นมองเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและรักษาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้ชัดเจนขึ้น เพื่อช่วยให้หน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมคือ ‘ครอบครัว’ มีความแข็งแกร่งและจะกลายเป็นพลังสังคมที่เข้มแข็งต่อไป

 

กัลยภรณ์ จุลดุล สัมภาษณ์และเรียบเรียง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow