ทักษะการเอาตัวรอดทางน้ำเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเมื่อไหร่ที่จะต้องเดินทางทางน้ำบ้าง และจะเกิดอันตรายใดขึ้นในอนาคต กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้เผยแพร่ คู่มือประชาชนในการเตรียมตัวให้รอดปลอดภัยพิบัติ เพื่อเสริมทักษะการเอาตัวรอด วิธีป้องกัน และให้ความช่วยเหลือผู้อื่น เพื่อเป็นแนวทางในการปรับใช้ ซึ่งสาระความรู้เกี่ยวกับการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ เรานำมาสรุปไว้ให้ดังนี้
เมื่อเกิดอุบัติเหตุตกน้ำ สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือพยายามตั้งสติให้ได้ไวที่สุด ไม่กรีดร้องหรือตะเกียกตะกาย เพราะอาจส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บและจมน้ำไวขึ้นได้ การตั้งสติจะช่วยให้เรารู้ว่าเราจมน้ำอยู่ที่จุดไหน รอบตัวมีอะไรอันตรายอะไรบ้าง และมีสิ่งไหนจะช่วยให้เราลอยตัวอยู่เหนือน้ำได้
หากเรือโดยสารล่ม พลัดตกเรือ หรือพลัดตกจากโป๊ะเรือ เมื่อตั้งสติได้แล้วให้พยายามว่ายน้ำออกจากเรือหรือโป๊ะให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันการถูกน้ำดูดเข้าไปใต้ท้องเรือหรือใต้โป๊ะ ถอดสิ่งที่ถ่วงน้ำหนักตัวเองออกโดยเร็ว และมองหาสิ่งที่จะช่วยยึดหรือช่วยให้เราลอยตัวได้
เพราะขณะจมน้ำเป็นการยากที่จะเดาทิศทางลมและกระแสน้ำ การฝืนว่ายน้ำเข้าหาฝั่งอาจทำให้เราหมดแรงหรือเป็นตะคริวจนส่งผลให้จมน้ำเสียชีวิตได้
การลอยตัวเหนือผิวน้ำ คือ การพยายามให้ใบหน้าพ้นน้ำให้ได้มากที่สุด วิธีที่ง่ายและเร็วที่สุดคือการนอนหงาย อย่าเกร็งตัว กางแขนและขาทั้งสองข้างออก คล้ายรูปร่างปลาดาว จากนั้นใช้มือวักน้ำเบา ๆ พร้อมทั้งใช้ขาตีน้ำเบา ๆ หากกระแสน้ำแรงหรือเชี่ยวให้เปลี่ยนเป็นนอนคว่ำ ไม่เกร็งตัว และเงยหน้ามาสูดอากาศเข้าปอดเป็นครั้งคราว
ระหว่างที่ลอยตัว ควรสังเกตทิศทางน้ำและลอยตัวไปตามกระแสน้ำ หมั่นมองรอบตัวว่ามีอะไรกีดขวางอยู่หรือไม่ หากมีควรพยายามหลบ อย่าลอยเข้าไปในกอพืชหรือกลุ่มผักตบ เพราะอาจมาพันแข้งขาทำให้เกิดอันตรายได้ จากนั้นให้พยายามว่ายตามกระแสน้ำไปยังทิศทางที่มีฝั่ง หากเหนื่อยให้สลับมาท่าปลาดาว หายเหนื่อยจึงค่อย ๆ ว่ายต่อ
เมื่อสังเกตเห็นเรือหรือผู้คน ให้ชูมือขึ้นและร้องตะโกนขอความช่วยเหลือ ไม่ควรว่ายเข้าไปใกล้เรือมากเกินไป เพราะอาจถูกน้ำดูดเข้าไปใต้ท้องเรือได้ ในกรณีที่สวมใส่เสื้อชูชีพ ที่เสื้อชูชีพจะมีนกหวีดติดไว้ ให้นำนกหวีดมาเป่าเพื่อขอความช่วยเหลือ