ถือเป็นประเพณีโบราณบุญเดือนยี่ หรือฮีตที่ ๒ ตามประเพณีโบราณฮีตสิบสองคองสิบสี่ ( คือ จารีตประเพณีที่ประชาชนนำมาปฏิบัติประจำเดือน ทั้ง 12เดือนในรอบปีเป็นประเพณีการทำบุญประจำเดือนที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา โดยจะนับเดือนตามจันทรคติ นั่นคือ เดือนยี่ จะเป็นบุญคูณลาน หรือ บุญประทายข้าวเปลือก)
อันเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาช้านานของชาวภาคอีสาน กล่าวคือ เมื่อหลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เมื่อนวดข้าวเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะกองเมล็ดข้าวไว้ในลานนวดข้าว เป็นรูปกรวยคว่ำ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "กุ้มข้าว”
ก่อนจะนำข้าวขึ้นเก็บไว้ในยุ้งฉาง ชาวบ้านจะทำบุญขวัญข้าว โดยนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในตอนเย็นและถวายภัตตาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น เลี้ยงอาหารเพื่อนบ้านที่ไปร่วมพิธี ต่อจากนั้นจึงนำน้ำมนต์ไปพรมกองข้าวและ ที่นา เพื่อให้เจ้าของนาจะได้อยู่อย่างเป็นสุข ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ปีต่อไปข้าวกล้านาจะงอกงามและได้ผลดี
นอกจากนี้ ชาวนาต่างพากันนำข้าวเปลือกของตนมาถวายแก่วัด โดยพระสงฆ์จะทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ อนุโมทนาบุญเป็นสิ่งตอบแทน ถือเป็นมหามงคลอันสูงสุด ในการเลี้ยงพระแม่โพสพ เพื่อรำลึกถึงบุญคุณข้าว ตามประเพณีความเชื่อที่มีมาแต่โบราณกาล และเป็นโอกาสอันดีที่ให้ลูกหลานเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา สร้างความสามัคคี เป็นการทำบุญในช่วงวันขึ้นปีใหม่ โดยในงานประเพณีมักจะมีพิธีสู่ขวัญบายศรีข้าว ผูกแขนข้าว และจะมีพิธีสวดพระพุทธมนต์ข้าว
จากนั้นก็จะแจกจ่ายข้าวบางส่วนให้ชาวบ้านและผู้มาร่วมงานไว้เป็นสิริมงคล ส่วนข้าวที่เหลือก็จะนำไปขายในรูปข้าวเปลือกเพื่อนำเงินมาสมทบทุนในกิจการวัดต่อไป
สาเหตุที่เป็นข้าวเปลือก อาจจะเพราะโดยวิถีชีวิตนับแต่อดีตมา ของชาวนาในอีสาน ในแต่ละ1ปี ทำนาได้ 1 ครั้ง ปกติแล้วข้าวที่เพาะปลูกได้ก็แบ่งเอาไว้ทำบุญ แบ่งเอาไว้กิน ถ้้าเหลือก็เอาไปขายแลกเป็นเงิน หรือ สิ่งของอย่างอื่น
คำว่า ประทาย หรือ คูณลาน
ประทาย แปลว่า เจดีย์ทราย หรือ การเอาสิ่งที่คล้ายกันมากองเป็นเจดีย์ เช่น ประทายข้าว ก็คือการเอาข้าวเปลือกมากองกันเป็นเจดีย์
คูณลาน หมายความว่า เพิ่มเข้าให้เป็นทวีคูณ หรือทำให้มากขึ้นนั่นเอง
ส่วนคำว่า “ลาน” คือสถานที่สำหรับนวดข้าว การนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า “คูณลาน”
การทำประเพณีบุญคูณลานกำหนดเอาเดือนยี่เป็นเวลาทำ เพราะกำหนดเอาเดือนยี่นี่เองจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุญเดือนยี่ ดังบรรพบุรุษได้ผูกกลอนผญาอีสานสอนให้ชาวบ้านเตรียมการก่อนทำบุญไว้ว่า
“เถิงฤดูเดือนยี่มาฮอดแล้ว
ให้นิมนต์พระสงฆ์องค์เจ้ามาตั้งสวดมงคล
เอาบุญคูณข้าวเข้าป่าหาไม้เห็ดหลัว
อย่าได้หลงลืมทิ่มฮีตเก่าคองเดิมเฮาเด้อ”
หมายความว่า
เมื่อถึงฤดูเดือนยี่มาถึงให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมงคลทำบุญคูณข้าว ให้จัดหาไม้มาไว้ทำฟืนสำหรับใช้ในการหุงต้มประกอบอาหาร อย่าได้หลงลืมประเพณีเก่าแก่แต่เดิมมาของเรา
การทำบุญคูณลาน หลาย ๆ ที่อาจจะทำไม่ตรงกัน เพราะว่าการเก็บเกี่ยวข้าวอาจจะไม่ตรงกัน แต่มักจะทำในช่วงเดือนสอง หรือตรงกับช่วงเดือนมกราคม
มูลเหตุดั้งเดิมที่จะมีการทำบุญคูณลาน มีเรื่องเล่าว่า
ครั้งพุทธศาสนาของพระกัสสะปะ มีชายสองคนพี่น้องทำนาในที่เดียวกัน พอข้าวออกรวงเป็นน้ำมัน น้องชายได้ชวนพี่ชายทำข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ แต่พี่ชายไม่เห็นชอบด้วย ทั้งสองพี่น้องจึงแบ่งนากันคนละส่วน
เมื่อน้องชายได้เป็นเจ้าของที่นาที่แบ่งกันแล้ว จึงได้ถวายทานแด่พระสงฆ์ตามความพอใจ โดยทำบุญเป็นระยะถึงเก้าครั้ง นับแต่เวลาข้าวเป็นน้ำนม ก็ทำข้าวมธุปายาสถวายครั้งหนึ่งเวลาข้าวพอเม่า ก็ทำข้าวเม่าถวายครั้งหนึ่ง เวลาจะลงมือเก็บเกี่ยวก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลามัดข้าวทำเป็นฟอนก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลาขนข้าวเข้าลานก็ถวายทานครั้งหนึ่ง และเวลาเก็บข้าวใส่ยุ้งฉางเสร็จก็ทำบุญอีกครั้งหนึ่ง และตั้งปณิธานปรารถนาให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอนาคต
พอถึงพุทธศาสนาของพระสมณโคดมถึงได้เกิดเป็นโกณฑัญญะ ได้ออกบวชและสำเร็จพระอรหันต์เป็นปฐมสาวก ได้ชื่อว่าอัญญาโกณฑัญญะ
ส่วนพี่ชายได้ทำบุญเพียงครั้งเดียวเฉพาะตอนทำนาเสร็จแล้ว เมื่อถึงศาสนาพระสมณฅโคดมได้เกิดเป็นสุภัททปริพาชก ได้สำเร็จอนาคามิผลเป็นพระอริยบุคคลองค์สุดท้าย ในพระพุทธศาสนา เนื่องจากอานิสงส์จากให้ข้าวเป็นทานน้อยกว่าน้องชาย
ชาวอีสานเมื่อทราบอานิสงส์จากการทำบุญดังกล่าวจึงได้นิยมทำบุญคูณลานต่อ ๆ กันมา
ก่อนทำบุญคูณลาน มีประเพณีของชาวอีสานบางแห่งบางอย่าง เรียกว่า ไปเอาหลัวเอาฟืน โดยชาวบ้านกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งในเดือนยี่ ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาเสร็จแล้วพากันไปเอาหลัวเอาฟืนมาเตรียมไว้สำหรับก่อไฟหุงต้มอาหารบ้าง ใช้สำหรับก่อไฟผิงหนาวบ้าง สำหรับให้สาว ๆ ก่อไฟปั่นฝ้ายตามลานบ้านบ้าง
(คำว่าหลัว หมายถึง ไม้ไผ่ที่ตายแล้ว เอามาใช้เป็นฟืน หมายถึงไม้แห้งที่มีแก่นแข็งทุกชนิด เพื่อใช้ทำฟืนก่อไฟโดยทั่วไป)
จะมีการจัดเตรียมสถานที่ทำบุญที่ลานนวดข้าวของตน การนำข้าวที่นวดแล้วมากองขึ้นให้สูงเรียกว่า คูณลาน
จากนั้นนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอมไว้ประพรมขึงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าว
เมื่อพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้วถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นนำข้าวปลาอาหาร มาเลี้ยงญาติพี่น้อง ผู้มาร่วมทำบุญ พระสงฆ์ฉันเสร็จก็จะประพรมน้ำพุทธมนต์ให้กองข้าว ให้เจ้าภาพและทุกคนที่มาในงาน เสร็จแล้วก็จะให้พรและกลับวัด เจ้าภาพก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ที่เหลือไปประพรมให้แก่วัว ควาย ตลอดจนเครื่องมือในการทำนาเพื่อความเป็นสิริมงคล
ในปัจจุบันนี้ บุญคูณลานค่อย ๆ เลือนหายไป เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้สนใจประพฤติ ปฏิบัติกัน ประกอบกับในทุกวันนี้ชาวนาไม่มีลานนวดข้าวเหมือนเก่าก่อน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ และมัดข้าวเป็นฟ่อน ๆ แล้วจะขนมารวมกันไว้ ณ ที่ที่หนึ่งของนา โดยไม่มีลานนวดข้าว
หลังจากนั้นก็ใช้เครื่องสีข้าวมาสีเมล็ดข้าวเปลือกออกจากฟางลงใส่ในกระสอบ และในปัจจุบัน ยิ่งมีการใช้รถไถนา เครื่องสีข้าว เป็นส่วนมากจึงทำให้ประเพณีคูณลานนี้เลือนหายไป
แต่ก็มีบางหมู่บ้านบางแห่งที่ยังรวมกันทำบุญโดยนำข้าวเปลือกมา กองรวมกัน เรียก “กุ้มข้าวใหญ่” ซึ่งจะเรียกว่าบุญกุ้มข้าวใหญ่ แทนการทำบุญคูณลาน ซึ่งนับว่าเป็นการประยุกต์ใช้ “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ให้เหมาะกับกาลสมัย
..............................................
หมายเหตุ
คือ จารีตประเพณีที่ประชาชนนำมาปฏิบัติประจำเดือน ทั้ง ๑๒ เดือนในรอบปีเป็นประเพณีการทำบุญประจำเดือนที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา โดยจะนับเดือนเป็นแบบจันทรคติ คือ เดือนอ้าย เดือนยี่ เป็นต้น ในแต่ละเดือนจะมีประเพณีดังนี้
ฮีตที่ ๑. เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม
ฮีตที่ ๒. เดือนยี่ บุญคูนลาน
ฮีตที่ ๓. เดือนสาม บุญข้าวจี่
ฮีตที่ ๔. เดือนสี่ บุญผะเหวด
ฮีตที่ ๕. เดือนห้า บุญสงกรานต์
ฮีตที่ ๖. เดือนหก บุญบั้งไฟ
ฮีตที่ ๗. เดือนเจ็ด บุญซำฮะ
ฮีตที่ ๘. เดือนแปด บุญเข้าพรรษา
ฮีตที่ ๙. เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน
ฮีตที่ ๑๐. เดือนสิบ บุญข้าวสาก
ฮีตที่ ๑๑. เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา
ฮีตที่ ๑๒. เดือนสิบสอง บุญกฐิน และงานลอยกระทง