มีนักสร้างสรรค์ในวงการต่าง ๆ นักวิทยาศาสตร์ และนักจิตวิทยาหลายคนต่างก็ออกมาบอกว่า ‘ความเป็นเด็ก’ มีความสำคัญต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขไม่เป็นพิษ (Toxic) เนื่องจากผู้ใหญ่ชอบคิดมากและมีอดีตฝังใจมากมาย ทั้งยังต้องแบกรับภาระหน้าที่แบบผู้ใหญ่ ๆ ถูกบังคับให้ต้องเรียนรู้ มีข้อจำกัด กฎเกณฑ์ ความรับผิดชอบ และอคติมากมายตามอายุที่มากขึ้น ทำให้ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ไม่มีความสุข แต่เด็กจะมีความบริสุทธิ์และเป็นอิสระ พวกเขายังไม่มีภาระใด ๆ หน้าที่อันใหญ่หลวงประจำวันเห็นจะเป็นการแปรงฟันให้สะอาดและกินข้าวให้หมดจาน เด็กมองโลกอย่างที่เห็นเพราะสำหรับเด็กแล้วทุกอย่างคือครั้งแรกทำให้เด็กเต็มไปด้วยพลังและความหวัง ความสนุก ไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่ถูกสอนให้เชื่อว่าโลกก็เป็นอย่างนี้ เราเปลี่ยนอะไรไม่ได้มากหรอกจนทุกอย่างล้วนจืดชืด ไร้สีสัน และหมดความน่าตื่นเต้น น่าค้นหา
เมื่อพูดถึงความเป็นเด็กแล้วทำให้นึกถึงซีรีส์เกาหลีเรื่อง Hometown cha cha cha เพราะคงไม่มีใครจะรักษาความเป็นเด็กในตัวได้ดีเท่ากับตัวละคร ‘หัวหน้าฮง’ แห่งหมู่บ้านกงจิน ยิ่งเมื่อประกบคู่กับนางเอก ‘ฮเยจิน’ ที่มีความเป็นผู้ใหญ่สูงเพราะเธอใช้ชีวิตได้เป๊ะสุด ๆ ด้วยการวางแผนชีวิตให้ตัวเองไว้ล่วงหน้าไปแล้วจนถึงอายุ 90 ปี และเมื่ออะไรไม่เป็นไปตามที่เธอวางไว้ เธอก็จะหงุดหงิดและหัวเสียแม้มันจะเป็นเเค่เรื่องจิ๋ว ๆ อย่างฝนตกก็ตาม ในขณะที่หัวหน้าฮงทำอาชีพรับจ้างในหมู่บ้าน วันหยุดก็นั่งตกปลา อ่านหนังสือ และเล่นเซิร์ฟบอร์ด ยิ่งทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่าความเป็นเด็กในตัวของหัวหน้าฮงสำคัญต่อการโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขมากแค่ไหน
เช่นเดียวกันกับเรื่อง Christopher Robin ที่พูดถึงคริสโตเฟอร์ โรบินในวัยที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่และกำลังมีปัญหาชีวิตขั้นสุด แต่เมื่อเพื่อนซี้วัยเด็กอย่างเจ้าหมีพูห์และผองเพื่อนปรากฏตัวขึ้น เรียกคืนวันเก่า ๆ สมัยเด็กกลับมา คริสโตเฟอร์ก็ได้สติจนสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตได้ดีขึ้น ดูแล้วผู้ใหญ่หลายคนต่างก็ใจหายไปตาม ๆ กันเพราะเข้าใจตัวละครเหล่านั้นเป็นอย่างดี
การดูแลทะนุถนอมความเป็นเด็กในตัวอย่างการเก็บรักษามุมมองที่สดใส มองโลกอย่างไม่มีอคติแอบแฝง ยิ้มง่าย หัวเราะง่าย มีความสุขง่าย ๆ เศร้าได้แต่ไม่จมอยู่กับมันนาน ๆ หรือแม้แต่การทำให้ทุกวันเป็นการผจญภัยเล็ก ๆ เหมือนเด็ก ๆ อาจช่วยให้เราเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เป็นพิษทั้งต่อตัวเองและคนอื่น โดยเราไม่จำเป็นต้องละทิ้งความเป็นเด็กไปหมดเพื่อที่จะได้โตเป็นผู้ใหญ่ เพราะการมีพื้นที่เล็ก ๆ ให้กับความเป็นเด็กบ้างต่างหากที่จะทำให้เราสมบูรณ์แบบและมีความสุขมากขึ้น หากไม่เชื่อก็ลองทำตามดู
1. เด็กรักอิสระ
ตอนเป็นเด็กเราไม่มีกฎเกณฑ์ในการใช้ชีวิต ไม่ถูกตีกรอบจากใคร ทุกอย่างเรียบง่ายและไม่ซับซ้อน บางครั้งก็ทำเรื่องน่าปวดหัวอย่างเช่นเสียงดังในโรงหนัง ร้องไห้บนเครื่องบิน งอแงจะเอาของเล่นใหม่ เพราะทุกที่ที่ไปเยือนดูไร้กฎเกณฑ์หรือไม่ก็ไม่รู้ว่ามีกฎอะไรแบบนี้อยู่ด้วย อยากระบายสีต้นไม้เป็นสีม่วงก็ได้ แล้วกี่ความฝันก็ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องยากเพราะคิดว่าตัวเองไร้ขีดจำกัด เด็กไม่มีความคิดปิดกั้น พวกเขาจึงมองเห็นสิ่งแปลกใหม่และโอกาสทุกครั้ง
สำหรับผู้ใหญ่แล้วอิสระได้หายไปพร้อมกับอายุที่มากขึ้นเพราะโตมามากพอที่จะเรียนรู้กฎเกณฑ์ มารยาททางสังคม ต้องแข่งขัน ทำเวลา ทำอันดับให้ได้ดี ต้องเป็นที่หนึ่ง บางคนถูกตีกรอบจนไม่เหลือพื้นที่ให้เป็นตัวของตัวเอง ต้องทำให้คนอื่นภูมิใจแม้สิ่งนั้นจะไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองอยากทำก็ตาม ทำให้ทุกความฝันที่เคยฝันไว้ดูจะเป็นไปไม่ได้ ไม่มีอิสระที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้มากนัก
2. ชอบเล่นสนุก
เด็กก่อนวัยเรียน (Preschoolers) ในวัย 3-5 ปีจะสนใจในการเรียนรู้และลองทำสิ่งใหม่ ๆ ชอบพูดคุยจ้อไม่หยุด และชอบตั้งคำถามในทุก ๆ เรื่อง เห็นผู้ใหญ่ทำอะไรก็อยากทำตาม พวกเขามักจะตอบสนองฉับไว เปิดเผย สร้างสรรค์ ชอบเล่นสนุก เล่นทั้งวันก็ยังได้ ซึ่งต่างจากผู้ใหญ่ที่มองว่าการเล่นเป็นเรื่องไร้สาระและทำให้ดูไม่เป็นมืออาชีพ ผ่านโลกมามากมายทำให้เมื่อต้องทำอะไรใหม่ ๆ ก็กลัวไปก่อนหน้า ขี้กลัว ไม่กล้า ชอบอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและใช้ชีวิตเหมือนกับว่าต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับวันพรุ่งนี้ทั้งที่มันยังมาไม่ถึงเลย
แต่เด็กจะออกไปวิ่งเล่นเมื่ออยากวิ่ง ผู้ใหญ่จะคิดว่าไปวิ่งเล่นไม่ได้หรอก ยังทำโน่นทำนี่ทำงานไม่เสร็จเลย ผู้ใหญ่จึงเครียดและไม่มีความสุขเพราะไม่เคยปล่อยให้ตัวเองได้เล่นสนุกและลองอะไรใหม่ ๆ เพราะกลัวว่าทำแล้วจะพลาด กลัวขายหน้า กลัวคนอื่นจะนินทา และไม่รู้ว่าครั้งสุดท้ายที่ตัวเองได้ลองทำตามใจตัวเองบ้าง สนุกกับชีวิตบ้างคือตอนไหนเพราะมัวแต่หาข้ออ้างให้สิ่งที่ไม่ได้สำคัญอะไรเลย
3. ภูมิใจในตัวเอง
เด็กมีความภูมิใจในตัวเองตั้งแต่เป็นทารก เด็กเรียนรู้ที่จะพลิกคว่ำพลิกหงายลองแล้วลองอีกจนนั่งตั้งไข่และเดินได้ในที่สุด ในขณะนั้นเองเด็กก็หล่อหลอมความเชื่อที่ว่า ‘หนูทำได้’ ‘หนูเป็นคนเก่ง’ รับรู้ว่าตัวเองก็มีความสามารถ เมื่อใช้ช้อนกินข้าวได้เอง เมื่อดื่มน้ำจากแก้วได้เอง เมื่อว่ายน้ำเป็น ขี่จักรยานสองล้อได้คล่องพวกเขาภูมิใจในตัวเองที่ทำบางอย่างได้สำเร็จแม้มันจะเป็นแค่สิ่งเล็ก ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ก็ตาม บางครั้งเด็กมีความเป็นนักสู้มากกว่าผู้ใหญ่เสียอีก
พอโตเป็นผู้ใหญ่ความภาคภูมิใจในตัวเองก็จะค่อย ๆ ถูกพรากไป ชอบคิดว่าตัวเองไม่เก่ง (Imposter syndrome) ไม่ดีพอ ไม่เอาไหน ไม่มีค่า หรือถึงแม้จะทำอะไรสำเร็จก็ตามแต่ในใจก็ยังคิดว่าตัวเองไม่ได้เก่งจริง ทำได้เพราะโชคช่วยมากกว่า ทำให้ผู้ใหญ่สูญเสียความมั่นใจ การมองเห็นคุณค่าภายในตัวเอง ทำให้เหนื่อยกับชีวิตและหมดไฟง่าย
4. เด็กไม่ฝืนตัวเอง
เด็กทุกคนโดยธรรมชาติแล้วเขาจะรักอิสระและไม่ชอบเวลาถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ เด็กจะแสดงความรู้สึกนึกคิดตามจิตที่ไม่ถูกปรุงแต่งออกมาอย่างเป็นธรรมชาติเพื่อสื่อสารกับผู้ใหญ่อย่างตรงไปตรงมา ชอบก็บอกว่าชอบ มีความสุขก็ยิ้มแย้ม เศร้าก็ร้องไห้ แต่พอคนเราโตขึ้นเรากลับไม่มีอิสระที่จะแสดงสิ่งที่เรารู้สึกจริง ๆ ออกไปตามความเป็นจริง
สำหรับผู้ใหญ่แล้วการฝืนทนอาจเป็นทักษะหนึ่งสำหรับการเป็นผู้ใหญ่ แต่สิ่งนี้มันดีไหมนะ ? ที่ต้องใส่หน้ากากเปื้อนยิ้มทั้งที่ภายใต้หน้ากากกำลังร้องไห้ ต้องฮึบไว้ ต้องอดทน คนที่โตแล้วมักจะพูดคำว่า 'ไม่เป็นไร ' แม้ในใจจะโกรธ เสียใจ ไม่พอใจ รู้สึกแย่ แต่คนที่เป็นผู้ใหญ่จะบอกตัวเองว่าฉันยังไหว บังคับตัวเองให้โอเคทั้งที่ไม่โอเคและฝืนทำสิ่งที่ต้องทำ ผู้ใหญ่จึงใช้ชีวิตเหมือนเกาะร้างที่เหงาและโดดเดี่ยว
5. ให้อภัยและขอโทษ
เด็กที่เริ่มเข้าโรงเรียนและเริ่มเล่นกับเพื่อนพวกเขามักจะชอบเอาชนะและเอาแต่ใจ บางคนไม่พอใจเพื่อนก็หยิกเพื่อนหรือกัดแขนเพื่อนเพราะโดยธรรมชาติแล้วเด็กจะหวงเพื่อนหรือของเล่นเพราะเขาจะรู้สึกว่าทุกอย่างเป็นของ ๆ เขา คนอื่นจะมาเอาไปไม่ได้ แต่เมื่อเขาได้รับเหตุผลที่ดีพอก็จะเข้าใจ ขอโทษและให้อภัยทันที เด็กจะเรียนรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เด็กจึงมีความรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง รู้จักการให้อภัย และกล่าวคำขอโทษอย่างจริงใจเมื่อรู้ตัวว่าผิด พรุ่งนี้เช้าก็กลับมาเล่นกันใหม่ด้วยความเข้าใจเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แต่สำหรับผู้ใหญ่แล้วการเอ่ยปากขอโทษอาจเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ บางคนมีตรรกะที่ว่าขอโทษเท่ากับแพ้แม้ตัวเองจะเป็นคนผิดก็ตาม ยิ่งโตยิ่งไม่ผิด ผู้ใหญ่บางคนไม่เคยขอโทษเด็กด้วยซ้ำแม้ว่าตัวเองจะผิดจริงแต่ก็ชอบปล่อยเบลอ ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นทำให้เกิดความขัดแย้งซ้ำ ๆ ในขณะเดียวกันการให้อภัยก็เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใหญ่เพราะปากอาจบอกว่าให้อภัย แต่ในใจกลับยึดติดและไม่ปล่อยวาง ยังคงระแวงและจับผิดแบกความทุกข์ไว้กับตัวเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
• วิธีปลอบโยนหัวใจตัวเอง ในวันที่รู้สึกเหนื่อยล้าแสนสาหัส
• Toxic Positivity อีกด้านของการคิดบวกที่พร้อมเฆียนตีเรา
• ดูแลสุขภาพใจยังไง ให้ใจไม่ TOXIC ชีวิตแฮปปี้
• รักตัวเองให้มากขึ้นด้วย 'Self-Care' เทรนด์ใหม่ของการดูแลตัวเอง
• เคล็ดลับพัฒนาตัวเองของ 'Late Bloomer' คนที่ประสบความสำเร็จช้ากว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน
• วิธีลดความกดดันในตัวเอง เมื่อคนรอบข้างคาดหวังมากเกินไป
• ไม่ Productive สักวันก็ไม่เป็นไร ใช้ชีวิตยากไปเดี๋ยวเครียด !
• คนขี้เกียจไม่ดีจริงหรือ ? ชวนดูอีกด้านของความขี้เกียจที่มีแต่ข้อดี
• “อย่าเด่น จะเป็นภัย” วลีที่ทำให้คนเรียนเก่งโดนหมั่นไส้ คนดีถูกแซะ
• 6 เคล็ดลับสร้างภูมิคุ้มกันต้านความเศร้าจาก TED Talks
• เข้าใจสมองต่อ 'การคิดมาก' แล้วจะเลิกเป็นคนคิดมากได้ดีขึ้น
• ปลุกจิตให้ตื่น ไม่เครียดกับอนาคตมากไปจนใจป่วย
• เปลี่ยนจากคนที่มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นคนที่รักตัวเอง
• ทำไมคน Gen Z ถึงไม่มีศาสนามากขึ้น
แหล่งข้อมูล
- เข้าใจพัฒนาการลูก จากทารกสู่วัยรุ่น
- ความภาคภูมิใจในตนเอง (SELF ESTEEM)
- เก็บความเป็นเด็กไว้ในหัวใจ “ไม่ใช่แค่ใบหน้า”
- ปลุกความเป็นเด็กในตัวคุณเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
- ความเป็นเด็กที่หายไป และการโตเป็นผู้ใหญ่แบบที่เราเคยไม่ชอบ