Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้า?

Posted By Plook TCAS | 27 ธ.ค. 64
5,637 Views

  Favorite

เรารู้จักโรคซึมเศร้าแค่ไหน?

         เชื่อว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่คงเคยได้ยินคำว่า “โรคซึมเศร้า” กันอยู่บ่อย ๆ และน่าจะทราบด้วยว่าจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายจากอาการซึมเศร้าในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนั้นพุ่งสูงขึ้นทุกปี

         แต่มีสักกี่ท่านคะที่รู้จักโรคนี้จริง ๆ

         ธรรมชาติของคนมักไม่คาดคิดว่าอะไรร้าย ๆ จะเกิดกับใครที่อยู่ใกล้ตัว ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองหลายต่อหลายท่านจึงละเลยบุตรหลานที่เริ่มแสดงอาการเบื้องต้นของโรคซึมเศร้าให้เห็น เพราะเข้าใจว่าเป็นอาการปรกติที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กในวัยนั้น ๆ โดยเฉพาะวัยรุ่น ทำให้บุตรหลานของท่านพลาดโอกาสรับการรักษาโรคนี้แต่เนิ่น ๆ ก่อนที่อาการจะทวีขึ้นจนเกิดอันตรายต่อตนเอง

         วันนี้เราจะมาทำความรู้จักโรคซึมเศร้าให้ดีขึ้นอีกนิด จากการพูดคุยกับผู้มีประสบการณ์ป่วยเป็นโรคนี้อยู่นานถึงเจ็ดปี .. คุณไขศรี วิสุทธิพิเนตร ผู้เขียนหนังสือ ‘เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง’ (นามปากกา ดาวเดียวดาย ) ที่ได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปีพุทธศักราช 2557 รางวัลชนะเลิศหนังสือดีเด่น ประเภทสารคดี เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 12 (พ.ศ. 2558) และรางวัลชมเชยประเภทหนังสือสารคดี ของสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี พ.ศ.2558

การป่วยของผู้ใหญ่ อาจมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก ถ้าเราไม่อยากให้ลูกของเราเติบโตเป็นคนป่วยด้วยโรคนี้ เรามาเรียนรู้พร้อมกันผ่านบทเรียนชีวิตของแขกรับเชิญท่านนี้กันค่ะ

 

กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้

         คุณไขศรี หรือคุณหญิง เข้าพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาโรคซึมเศร้าเป็นครั้งแรกในปี 2550 ขณะที่เธอมีอายุ 35 ปี แต่กระบวนการรักษาทำให้เธอได้ค้นพบว่าตนเองน่าจะมีอาการของโรคนี้สะสมมาตั้งแต่ “วัยเยาว์”

         คุณหญิงเล่าว่า นับแต่จำความได้ เธอเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่นนัก ความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยราบรื่น และบางครั้งคุณพ่อก็ใช้ความรุนแรงกับคุณแม่ แต่ด้วยความที่ยังเด็ก แม้สิ่งที่เห็นอยู่บ่อยครั้งกลายเป็นประสบการณ์ที่ทำให้หวาดกลัว เศร้า และฝังใจ เธอก็ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทั้งยังซึมซับความมีอารมณ์แปรปรวนของคุณพ่อมาโดยไม่รู้ตัว

ณ เวลานั้น เธอเริ่มพฤติกรรมที่คล้ายเด็กสมาธิสั้น อยู่นิ่งไม่ได้ อารมณ์อ่อนไหว ไม่คงที่ และชอบทำอะไรสุดโต่ง โดยเฉพาะชอบเล่นผาดโผน เสี่ยงอันตราย แต่เธอเข้าใจว่าตนเองเป็นเพียงเด็กที่ซนกว่าเด็กทั่วไป นอกจากนี้ เธอยังมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ เวลาสนุกก็จะสนุกสุด ๆ เวลาอารมณ์เสียจะหงุดหงิด เกรี้ยวกราด และเวลาเศร้า ก็จะเศร้าแบบสุด ๆ เก็บตัว ไม่พูด ไม่กิน ไม่นอน ครั้งละหลายวัน

         อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่ต้องรับรู้เรื่องความรุนแรงในครอบครัวมาโดยตลอดส่งผลให้อาการต่าง ๆ เด่นชัดขึ้นเมื่อเธอเริ่มเป็นวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความก้าวร้าว ต่อต้านพ่อ ทำตัวห่างเหินจากพ่อ และมีพฤติกรรมค่อนข้างเกเร เช่น ตอนเช้า ออกจากบ้านแล้วจะไม่ตรงไปโรงเรียน แต่จะนั่งรถเมล์เล่น และย้อนกลับไปเรียนเมื่อสายมากแล้ว ช่วงที่มีพฤติกรรมดังกล่าว เธอกำลังเรียนอยู่ชั้น ม. 5 โดยเธอบอกว่าเป็นปีที่ตนเองมีพฤติกรรมย่ำแย่ที่สุด เรียนติด 0 ถึงหกตัว ทั้งที่ก่อนหน้านั้น เธอจัดว่าเป็นเด็กที่เรียนดีคนหนึ่ง

         ประการสำคัญ เธอเริ่มมีอาการผิดปรกติทางร่างกายอันเป็นผลมาจากความป่วยทางใจ นั่นคืออาการ hyperventilation หรือหายใจผิดปรกติ (หายใจไม่ออกหรือหายใจหอบ) ในเวลาที่เครียดจัด ซึ่งอาการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกขณะที่คุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกัน เธอเครียดจนล้มหงายไปแล้วหายใจไม่ออก มือจิกเกร็ง แขนขาชา ตัวชา ซึ่งทำให้คุณพ่อตกใจมากและรีบนำเธอส่งโรงพยาบาล หลังจากนั้น เธอจะมีอาการนี้ทุกครั้งที่เกิดความเครียด และมีอยู่หลายครั้งที่เกิดอาการขณะอยู่ที่โรงเรียน

โชคดีที่อาจารย์ประจำชั้นใส่ใจ เข้ามาพูดคุยซักถามว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ทั้งยังช่วยพาเธอไปพบแพทย์ที่รักษาโรคทางเดินหายใจ เนื่องจากเข้าใจไปว่าเธอมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งคุณหมอท่านนั้นเป็นคนแรกที่บอกเธอว่าโรคที่เธอเป็นไม่ใช่โรคทางกาย แต่เป็นโรคทางใจ

         แต่หลังจากนั้น เธอก็ไม่ได้รักษาตัวที่ไหนอีก และไม่กล้าบอกพ่อแม่ถึงโรคที่ตนเองเป็น

เวลาล่วงเลยไปจนถึงปี 2550 คุณหญิงป่วยหนักด้วยอาการซึมเศร้าถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย เนื่องจากแท้งบุตรและเลิกรากับคู่ชีวิต ครั้งนั้น ก็ต้องนับว่าโชคดีอีกเช่นกันที่ได้เพื่อน ๆ ช่วยพาไปพบจิตแพทย์ เธอเล่าว่ายอมไปพบทั้งที่ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะรักษาแต่อย่างใด แต่ที่สุดก็เข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ท่านแรก และภายในเวลาปีครึ่งก็เปลี่ยนไปพบจิตแพทย์อีกสองท่าน ก่อนจะเว้นระยะไป แล้วกลับมาพบจิตแพทย์ท่านที่สี่ซึ่งเป็นท่านสุดท้ายคือคุณหมอพิสาส์น เตชะเกษม ช่วงปลายปี 2555 คุณหมอท่านนี้รักษาโดยใช้จิตบำบัดเป็นหลัก ร่วมกับการใช้ยา จนในที่สุด เธอก็สามารถหยุดการรักษาและหยุดการใช้ยามาตั้งแต่ปี 2557

 

จะทราบได้อย่างไรว่าบุตรหลานมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า

         คุณหญิงแนะนำว่าผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมและสภาพอารมณ์ของบุตรหลานอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าพวกเขา...

1. มีอาการเศร้าเกือบตลอดเวลาและอาการยาวนานติดต่อกันเกินสองสัปดาห์

2. เก็บตัว แยกตัวจากคนอื่น

3. เบื่ออาหาร หรือกินอาหารมากผิดปรกติ

4. นอนทั้งวันทั้งคืน หรือนอนไม่หลับเลย

5. พยายามทำร้ายตนเอง หรือ แสดงออกว่ามีความคิดเรื่องฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นอาการของโรคที่ชัดเจนที่สุด

         ท่านควรต้องพูดคุยกับบุตรหลานทันที โดยเธอเห็นว่าการสื่อสารที่ดีที่สุดที่จะทำให้เข้าถึงพวกเขาได้

คือ ‘การฟัง’ ที่เรียกว่า deep listening คือการฟังอย่างตั้งใจ และเปิดใจ ไม่ด่วนสรุปหรือตัดสินพวกเขาไม่ว่าในแง่ใดทั้งสิ้น แต่ปล่อยให้เด็กได้พูดทุกอย่างที่อยู่ในใจ ซึ่งเขาจะทำอย่างนั้นได้ก็ต่อเมื่อมีความไว้วางใจในตัวผู้ปกครองมากพอ ว่าผู้ปกครองจะ ‘รับฟัง’ และ ‘เข้าใจ’ พวกเขา

         สุดท้าย เธอบอกว่า ‘ครู’ ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะสำหรับตัวเธอ อาจารย์ประจำชั้นที่กรุณาพาเธอไปพบแพทย์เป็นครั้งแรก เป็นเสมือนบุคคลที่เปลี่ยนชีวิตเธอจริง ๆ เพราะนอกจากจะใส่ใจเธอในเรื่องสุขภาพกายสุขภาพใจแล้ว ยังแนะนำเรื่องการเรียน จนทำให้เธอหันกลับมาตั้งใจเรียนและเปลี่ยนเส้นทางการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจากสายวิทย์เป็นสายศิลป์ กระทั่งได้เรียนคณะที่ตนมุ่งหวังและประสบความสำเร็จในอาชีพมาถึงทุกวันนี้

 

เด็ก ๆ ควรดูแลจิตใจของตนเองอย่างไร

         คุณหญิงยังจำสภาพจิตใจของตนเองเมื่อยังเป็นเด็กได้ดี จึงอยากแนะนำเด็ก ๆ ว่า ไม่ว่ามีความเครียดจากอะไร อย่าเก็บไว้คนเดียว เพราะมันจะกลายเป็นปัญหาสะสมในใจจนโตเป็นผู้ใหญ่ และจะยิ่งแก้ไขได้ยาก ที่สำคัญ อย่าปล่อยใจไปกับความซึมเศร้าจนสร้างกำแพงขังตนเองไว้ในโลกส่วนตัว ควรหาคนที่ไว้ใจได้เพื่อพูดคุยและปรึกษา หากไม่ใช่ผู้ปกครองก็อาจเป็นครูบาอาจารย์ ญาติ หรือเพื่อน อย่างไรก็ดี หากเลือกจะปรึกษาเพื่อน ควรเลือกเพื่อนที่ไว้ใจได้ และควรเข้าใจด้วยว่าแม้เพื่อนจะยินดีรับฟัง แต่ด้วยข้อจำกัดของวัยและประสบการณ์ชีวิต ก็อาจทำให้พวกเขาให้คำปรึกษาหรือความช่วยเหลืออะไรไม่ได้เท่าผู้ใหญ่

 

         หวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านรู้จักโรคซึมเศร้าดีขึ้น อีกทั้งรู้วิธีที่จะระแวดระวังและดูแลตนเอง บุตรหลาน รวมถึงสมาชิกอื่น ๆ ในครอบครัวให้ห่างไกลจากโรคนี้ที่สุดเท่าที่จะเป็นได้นะคะ

        

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า สามารถคลิกลิงก์ด้านล่างนี้ได้ค่ะ

เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง จาก https://m.se-ed.com/Product/Detail/9786161800444
ป่วยซึมเศร้าเหยื่อสังคม ถูกปรักปรําคดีฆ่าตัวตาย จาก https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30118
โรคซึมเศร้าโดยละเอียด จาก https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017
แบบทดสอบภาวะซึมเศร้า PHQ-9 จาก https://med.mahidol.ac.th/th/depression_risk
โรคอารมณ์สองขั้ว จาก https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1105

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow