ธรรมเทศนา ชุด เทศน์วันปีใหม่
โดย พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)
"ปีใหม่" เอาความใหม่ไปยกให้กับเวลาที่เรียกว่าปี
ปีหนึ่ง ปีหนึ่ง เป็นปีใหม่ปีเก่าขึ้นมาดังนี้ ดูมันจะไม่ฉลาดอะไรนัก เพราะปีมันเป็นของซ้ำๆ ซากๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว
ไม่ควรจะเป็นปีใหม่อะไรขึ้นมาได้เลยเพราะมันซ้ำอยู่อย่างนั้น
ถ้ามันใหม่อยู่ที่ชีวิตของเรา ก็ให้มันใหม่จริงก็แล้วกัน
ความหมายในทางภาษาคน มันสิ้นสุดลงเท่านั้น
คือว่า เอาเวลาเป็นหลัก เป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน เป็นเรื่องของคนโง่ ที่ยังไม่รู้ว่าเวลานั้นคืออะไร
ทีนี้ไอ้สิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะต้องเข้าใจและศึกษากันให้ดีก็คือคำว่า ปัจจุบัน นั่นแหละสำคัญอย่างยิ่ง
คำว่า ปัจจุบัน ในภาษาคนโง่นั้นมันเป็น อย่างหนึ่ง
คำว่าปัจจุบันในภาษาพระอริยเจ้าหรือผู้รู้ที่แท้จริงนั้น มันเป็นอีกอย่างหนึ่ง
มันสองปัจจุบัน ดูให้ดีๆ
ปัจจุบันในภาษาคนนั้นเป็นของหลอกลวงที่สุด คือไม่มีจริง
ปัจจุบันในภาษาธรรมหรือภาษาพระอริยเจ้านั้นเป็นของจริงที่สุดและได้มีอยู่จริง
ขอให้สังเกตดูให้ดีและค้นหาดูให้พบ
ปัจจุบัน ตามความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญนั้น มันมีไม่ได้ เพราะว่าสิ่งต่าง ๆ มันเปลี่ยนไปเรื่อย แม้แต่ร่างกาย จิตใจนี้ มันก็เปลี่ยนไปเรื่อย
และเมื่อเอาจิตเป็นหลักแล้ว ปัจจุบันแทบจะหาไม่ได้ เพราะว่า จิตมันเกิดดับ เกิดดับ อยู่เสมอ
ความคิดของคนเราจะเป็นปัจจุบันอยู่ไม่ได้ มันกลายเป็นความคิด ที่อดีตไปทุก ๆ คำที่พูด หรือว่าทุกๆ เรื่องที่เอามาพูด
พูดไม่ทันจบเรื่อง ส่วนต้นๆ มันก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว
นี่แหละที่ผู้รู้เขารู้กันและพูดกันว่า
ปัจจุบันชนิดนั้น มิได้มี แต่คนโง่ๆ ก็ว่ามี คนธรรมดาสามัญ ก็ว่ามี
...
(คัดลอกบางส่วนเพิ่มเติม)
ใจความในส่วนนี้ก็มีแต่เพียงว่า สิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง และเป็นปัจจุบันอยู่เรื่อยนั้นก็คือ ความว่าง
ความใหม่ของอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง ความใหม่ของจิตใจ ความใหม่ของร่างกาย ความใหม่ของวันคืน เดือน ปี ความใหม่ของอะไรๆ ทุกอย่างไปหมด
เพราะว่าเขาได้เข้าถึงสิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงคือ เป็นปัจจุบันในความหมายทางภาษาธรรมนั้นเอง
ปัจจุบันในความหมายทางภาษาคนนั้นเป็นของหลอก เป็นของมิได้มีอยู่จริงแล้วคนก็เข้าถึงอยู่เรื่อยด้วยอาการหลอก ๆ ไม่รู้สึกตัว เหมือนคนนั่งในรถไฟสองคนที่วิ่งไปสองคันพร้อม ๆ กันฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น มันก็โง่ไปตลอดกาล ไม่มีทางรู้ได้ว่า รถไฟกำลังวิ่ง
พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า
นี่ก็หมายความว่า ต้องไม่ติดอยู่ในอดีต คือข้างต้น ไม่ต้องติดในอนาคต คือขั้นปลาย และไม่ต้องติดอยู่ที่ตรงกลาง คือปัจจุบันด้วย
เมื่อเขาไม่ติดอยู่ในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ในภาษาคนเช่นนี้แล้ว เขาก็จะเข้าถึงปัจจุบันที่แท้จริงในภาษาธรรมคือ สิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง ที่เรียกว่า พระนิพพานนั้นเป็นแน่นอน