ในทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระอนุศาสน์สั่งสอนย้ำเตือนให้พุทธบริษัท มีศรัทธามั่นคงในหลักกรรมและวิบาก คือการกระทำและผลจากการกระทำของตนเอง
อันที่จริงแล้ว “กฎแห่งกรรม” ก็คือ กฎแห่งธรรมะประเภทหนึ่งนั่นเอง
เพราะการที่กระทำสิ่งหนึ่งลงไป ย่อมเป็นปัจจัยให้สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นตามมาเสมอ
บุคคลจึงจำเป็นต้องระมัดระวังเหตุ ในทุก ๆ การกระทำ ด้วยความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม เพื่อที่จะได้รับผลดีคือ ความไม่ทุกข์
หากท่านรักสุขเกลียดทุกข์ ก็จงอย่าประพฤติทุจริต ไม่ว่าด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ ซึ่งล้วนเป็นเหตุแห่งความทุกข์
ทุกคนย่อมมีทางเลือกของตนเอง ที่จะสามารถตัดผลกรรมหรือแก้ผลกรรมอันเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ทั้งนี้ มิใช่ด้วยการประกอบพิธีกรรม หรือด้วยการอ้อนวอนร้องขอให้ผู้ใดผู้หนึ่งมาดลบันดาล หากแต่ด้วยการมีสติรู้ตัว งดเว้นจากการกระทำ การพูด และการคิดชั่ว นับเสียแต่บัดนี้ แล้วมีสัมปชัญญะรู้คิด ในอันที่จะทำสิ่งที่ดีงามให้ทวียิ่งขึ้นอยู่ทุกขณะจิต ในที่สุดก็ย่อมจะเป็นเหตุเป็นปัจจัย นำพาให้ได้รับผลอันพึงปรารถนาในเบื้องหน้า
ในขณะเดียวกัน หากท่านกำลังเผชิญกับความทุกข์ ก็จงอย่าท้อแท้ อย่าหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกห่อเหี่ยวตรอมตรม และอย่าตีโพยตีพายโทษผู้หนึ่งผู้ใด แต่จงเร่งใช้โอกาสที่ประสบความทุกข์อยู่นั้น เป็นเครื่องฉุกใจให้คิดได้ ให้ตระหนักเห็นถึงสภาวลักษณะตามธรรมดาของโลก ให้เข้าใจในความจริงว่าไม่มีชีวิตใดเลยที่ไม่ต้องเผชิญกับความทุกข์ แล้วปฏิญาณในใจ ณ ขณะปัจจุบันนั้นว่า จะไม่เผลอทำชั่ว ซึ่งย่อมส่งผลเป็นความทุกข์ในอนาคตอีก พร้อมกับเร่งขวนขวายศึกษาอบรมตน ให้งอกงามด้วยคุณธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป
โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
บางส่วนจากพระคติธรรม เนื่องวันขึ้นปีใหม่ 2563