Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การฝึกให้ลูกรับมือกับปัญหาตามช่วงวัย

Posted By Plook TCAS | 14 ธ.ค. 64
5,273 Views

  Favorite

          ตั้งแต่คลอดจนเด็ก ๆ เริ่มเติบโตคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองคงช่วยพวกเขาแก้ปัญหา หรือแนะนำให้พวกเขารู้จักรับมือกับเรื่องราวต่าง ๆ ตามพัฒนาการเรียนรู้ของแต่ละช่วงวัย ซึ่งบางทีอาจเหมือนจะยังไม่ใช่การแก้ปัญหาจริงจัง แต่เป็นคำแนะนำที่ช่วยให้พวกเขามีความยืดหยุ่นทางความคิด ช่วยให้เด็กคิดพลิกแพลงรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ นอกบ้าน  โดยเฉพาะที่โรงเรียนอนุบาล สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญตามภารกิจประจำวัน สวมเสื้อกลับตะเข็บ ติดกระดุมเหลื่อมเม็ด สวมรองเท้าสลับข้าง มันอาจดูแล้วไม่ใช่เรื่องราวใหญ่โตจนกลายเป็นปัญหาในสายตาของพวกเรา แต่ก็เป็นการฝึกให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะรับมือเรื่องราวในช่วงวัยของเขานั่นเอง 

          เมื่อผ่านสู่ชั้นประถม เด็ก ๆ ต่างเติบโต การรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ พัฒนาการของร่างกายมากขึ้น ความดื้อความซนความช่างซักช่างถามอยากรู้อยากเห็นตามวัย ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ ฝึกให้พวกเขาเรียนรู้พยายามคิดแก้ไขสถานการณ์เอง และหน้าที่ของคุณคือช่วยสนับสนุนและแนะนำเท่านั้น ซึ่งปัญหาในวัยช่วงนี้ของพวกเขาอาจไม่ได้ซับซ้อน

          คราวนี้มาถึงวัยมัธยมของพวกเขา เด็ก ๆ เรียนรู้เข้าใจในหลาย ๆ สิ่ง เรื่องราวต่าง ๆ เริ่มมีเพิ่มขึ้น การมีเพื่อน แม้ว่าจะคุยกันรู้เรื่องไม่เหมือนสมัยเด็ก แต่พวกเขาก็ยังมีอะไรต่ออะไรที่อาจเป็นปัญหาที่คาดไม่ถึง คุณอาจไม่มีเวลาแล้วปล่อยผ่านละเลยไม่สนใจมองข้าม เพราะคุณอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไม่คิดว่าจะเป็นเหตุให้เกิดอะไรใหญ่โต หรือมั่นใจในความฉลาดเฉลียวเก่งของเด็กจะแก้ไขได้เอง แต่นั่นก็อาจทำให้คุณพลาดจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้น ๆ โดยที่คุณไม่ได้ระวังตัวก็ได้

          เรามีเทคนิคช่วยให้คุณฝึกทักษะเด็ก ๆ ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ เตรียมตัวแก้ปัญหาในวัยนี้ด้วยตัวเองกัน แน่นอนมันไม่ยากเลย

 

1. การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ

          ช่วงเวลาในวัยนี้คุณต้องเป็นคนตั้งคำถามให้มากแทนพวกเขา สิ่งใดที่ดูผิดสังเกตให้รีบซักถามที่ไม่ใช่ซักฟอกคาดคั้นหาคำตอบ ต้องบอกตัวเองเสมอว่า คุณมีหน้าที่เป็นโค้ชเป็นผู้แนะนำเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น  ครอบครัวที่มีการพูดคุยกันเป็นปกติมักจะไม่ค่อยมีปัญหา ทำให้เราสังเกตเห็นเรื่องเล็ก ๆ ที่อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ เด็กในวัยนี้หลายคนอาจเลือกปิดปากเก็บเงียบ ปกปิดเป็นความลับจนอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่โตในวันข้างหน้า ไม่ว่าเรื่องขัดใจของคนในบ้านเอง เรื่องของเพื่อน เรื่องการเรียน หรือแม้แต่เรื่องของความรัก  หากพวกเขาไม่แน่ใจว่าจะรับมือกับเรื่องราวแต่ละอย่างได้อย่างไร คุณต้องฝังชิพให้เขาเข้ามาพูดคุยปรึกษาก่อนตัดสินใจทำเรื่องใด ๆ ในการแก้ปัญหา และคุณต้องพร้อมที่จะรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ ของพวกเขาและวิเคราะห์ร่วมกันเพื่อฝึกให้เขารับมือได้เอง

 

2. ปัญหาก็แค่โจทย์ยาก ๆ แค่เรื่องธรรมชาติ

          บางทีปัญหาก็แค่อีกหนึ่งเรื่องราวที่ต้องเกิดขึ้น หรือจะเรียกแค่ว่า โจทย์บททดสอบของชีวิต ฟังดูน่าตื่นเต้นมากกว่ารู้สึกหนักจนเป็นภาระที่จะต้องแก้ปัญหา แนะนำให้พวกเขาพร้อมรับมือ และบอกมันว่าเป็นแค่เรื่องธรรมชาติ หรือจะเรียกมันว่า “ภารกิจ” หรือ “เจ้าตัวร้าย” อย่างในเกมที่พวกเขาชอบเล่นตามวัยนี้ ซึ่งภารกิจยากแค่ไหนด่านตัวร้ายเก่งแค่ไหน พวกเด็ก ๆ ก็ยังทำได้ลุยได้สู้ได้ผ่านอัพเลเวลไปได้เลย  ซึ่งอาจต้องทำมันบ่อย ๆ ทำหลายครั้ง แล้วโจทย์หรือภารกิจนั้น ๆ ก็จะไม่ยากอีกต่อไป และแน่นอนมันจะสนุกมากเมื่อลุยแต่ละด่าน แนะนำให้พวกเขาท่องให้ขึ้นใจว่า “ทุก ๆ โจทย์ย่อมมีคำตอบ ทุกปัญหาย่อมมีทางออก”  เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสารพัดโจทย์ของชีวิต ยิ่งมองมันอย่างเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่โตเฉพาะเรา ปัญหาก็กลายเป็นแค่โจทย์ยาก ๆ เรื่องธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้นและจะผ่านไปพัฒนาไปสู่เลเวลใหม่ของชีวิต

          คุณอาจเลือกเกมแนวแก้ไขปริศนา เกมสถานการณ์จำลอง ร่วมเล่นกับพวกเขา ช่วยเขาฝึกฝน วิเคราะห์เหตุการณ์เสมือนจริง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เขาจะไม่รู้สึกว่าปัญหาที่เกิดนั้นไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตของชีวิตมากเกินไปสำหรับชีวิต ทั้งยังเป็นทักษะการเผชิญหน้าพร้อมรับมือที่ดีต่อไปในอนาคตเช่นกัน

 

3. ฝึกให้เขาควบคุมอารมณ์มีสติ เมื่อมีเรื่องราวเกิดขึ้น 

          เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเรื่องราวใด ๆ ไม่ว่าเพราะพวกเขาทำให้มันเกิดขึ้นเอง หรือคนอื่นส่งผลมากระทบ  ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ โจทย์ง่ายหรือยาก เป็นโจทย์เก่านานแล้วซึ่งเพิ่งมาส่งผล หรือว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าคับขันซึ่งเกิดขึ้นโดยที่พวกเขาอาจไม่ทันตั้งตัว ต้องฝึกให้พวกเขามีสติพร้อมรับมืออยู่ตลอดเวลา ไม่ตื่นตระหนกวิ่งกลับมาหาผู้ใหญ่ ต้องคอยย้ำว่าพวกเขาไม่ใช่เด็กเล็ก ๆ อีกต่อไป ฝึกให้มองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างใจเย็น ไม่เอาอารมณ์เข้าไปร่วม วิเคราะห์แล้วแก้ไปทีละจุด  ฝึกให้ไม่รีบตีโพยตีพายกับโจทย์นั้น ๆ จนบางทีมันอาจเป็นเรื่องแก้ไขได้ง่ายนิดเดียว ไม่ลุกลามไปใหญ่โต  เรื่องของสตินั้นมันอาจยากแต่จำเป็นต้องใช้การฝึกฝน หมั่นทำบ่อย ๆ ทำประจำแล้วสติจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อเผชิญกับทุก ๆ เหตุการณ์ในชีวิต และใช้ไปได้ชั่วชีวิตเลย


4. วิเคราะห์หาเหตุผลของแต่ละโจทย์ ว่า โจทย์ที่แท้จริงคืออะไร 

          บางครั้งในแต่ละปมของโจทย์เองก็ซับซ้อน หลาย ๆ โจทย์ก็ชอบเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน จนดูเหมือนวุ่นวายไปหมด ต้องฝึกแนะนำให้พวกเขาถอยห่างออกจากเรื่องราวที่เกิดขึ้น ฝึกมองมุมกว้างจากวงนอก ไม่คิดว่ามันเป็นโจทย์ของตัวเอง ลองคิดแบบคนภายนอกแล้วแยกแยะลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผลที่เกิดแล้วส่งผลกระทบจนเกิดความขัดแย้งนั้นเริ่มต้นเกิดขึ้นเพราะอะไร พยายามฝึกการวิเคราะห์เรื่องราวให้ละเอียด นอกจากจะช่วยแก้ไขเรื่องราวต่าง ๆ ได้แล้ว มันยังช่วยให้พวกเขาเรียนรู้การรับรู้ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีระบบ มีที่มาที่ไป ฝึกการลำดับขั้นตอนวิเคราะห์เรื่องต่าง ๆ ได้โดยง่าย วิธีนี้ยังช่วยให้เราพร้อมรับมือได้กับทุก ๆ โจทย์ที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าช่วงเวลานี้ หรือปัญหาอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

5. แนะนำวิธีหาทางออก มีวิธีแก้โจทย์ได้อย่างไร

          ฝึกให้เด็ก ๆ คิดการรับมือแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ อาจคิดหาวิธีใหม่ ๆ นอกกรอบบ้าง เลือกวิธีการต่าง ๆ ที่คิดว่าทำแล้วจะตอบโจทย์สำเร็จ แต่ละวิธีมีผลดีผลเสียอย่างไร แล้วจดใส่สมุดบันทึกไว้เปรียบเทียบ เผื่อไว้อีกหลาย ๆ  วิธี ว่ายังมีวิธีอื่นอีกไหม  ลองให้พวกเขาวิเคราะห์ร่วมกับคุณระยะหนึ่งก่อนให้พวกเขาลองเลือกวิเคราะห์ด้วยตัวเองเอง ว่าวิธีเหล่านี้เราสามารถทำได้ไหม ทำแล้วจะเป็นอย่างไร  วิเคราะห์ให้รอบคอบถึงผลที่จะเกิด แล้วเลือกลองทำวิธีที่ดีที่สุด หากทำหลายวิธีแล้วยังไม่สามารถแก้โจทย์ได้ก็ต้องยอมรับว่าวิธีที่เราคิดว่าดีที่สุดแล้วนั้นอาจจะยังเป็นวิธีการไม่ใช่ในตอนนี้ หรือยังแก้ไขไม่ตรงจุด หลายโจทย์อาจต้องรอใช้เวลาเป็นตัวแก้ไข  อาจต้องทำซ้ำอีกหลายครั้งถึงจะแก้โจทย์นั้นได้สำเร็จ ช่วยฝึกให้พวกเขาเรียนรู้ฝึกทักษะการรอคอยความอดทนไปในตัว

 

6. ฝึกเรียนรู้การเข้าใจผู้อื่น

          หลายโจทย์หลายเรื่องราวมักมีที่มาหรือต้องไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่น  แนะนำให้พวกเด็ก ๆ คิดถึงความรู้สึกของผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของเรื่องราวต่าง ๆ ได้  เตือนสติให้เขารู้ว่า ก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไปคิดก่อนให้เยอะ ๆ นึกเผื่อไว้ว่าการพูดการกระทำนั้นจะส่งผลกระทบให้เกิดเหตุ หรือมีความขัดแย้งขึ้นได้ง่ายหรือไม่ นอกจากนี้ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นยังจะช่วยเกลาให้เด็ก ๆ อ่อนโยนไม่แข็งกร้าวจนกลายเป็นก้าวร้าวสร้างหรือสานต่อปัญหาไปเสียเอง  รวมถึงยังช่วยควบคุมอารมณ์ของพวกเขาไม่ให้หัวร้อน หงุดหงิดง่ายตามฮอร์โมนที่กำลังปรับตัวของสภาพร่างกายพวกเขาอีกด้วย 

 

          การรับมือกับเรื่องราวต่าง ๆ การแก้โจทย์ปัญหายาก ๆ  ให้คำแนะนำฝึกฝนพวกเขาในวัยมัธยมช่วงเวลานี้ วัยที่พวกเขายอมรับเข้าใจเหตุและผล ทั้งยังถือเป็นทักษะสำคัญ ให้เป็นความแข็งแกร่งเป็นจุดแข็งของเขาไปชั่วชีวิต  พวกเขานำไปใช้รับมือจัดการแก้ไขกับทุก ๆ สิ่งทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตนับตั้งแต่ช่วงเวลานี้ ทุกเรื่องทุกด้าน ทั้งเรื่องการเรียน การใช้ชีวิตอย่างผู้ใหญ่ การอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคม และในโลกการทำงานของเขาเองต่อไปในอนาคต 

          ข้อสำคัญมันช่วยผ่อนหนักเป็นเบาให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง พวกเขาจะไม่มาก่อกวนเป็นตัวปัญหาเสียเอง หรือสร้างเรื่องราวความปวดหัวให้คุณต้องหนักใจวิตกทุกข์ร้อนได้อย่างแน่นอน
 

อังสนา  ทรัพย์สิน

ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก http://www.youthradioandmedia.orghttp://www.oecd.orghttps://www.familylives.org.uk,  https://www.amarinbabyandkids.comhttps://pantip.com/forum/family

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow