การเดือดเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เป็นกระบวนการที่ของเหลวเปลี่ยนสถานะกลายเป็นแก๊ส โดยจุดเดือด คือ อุณหภูมิขณะที่ความดันไอ (vapour pressure) ของของเหลว เท่ากับความดันบรรยากาศ (atmospheric pressure) ของสภาพแวดล้อมของของเหลว ซึ่งทำให้สสารเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นแก๊ส เช่น จุดเดือดปกติของน้ำอยู่ที่ 100 องศาเซลเซียสที่ความดัน 1 บรรยากาศ (atm) แต่ที่ความดัน 1 บรรยากาศ จุดเดือดของสสารอื่น ๆ จะแตกต่างกันออกไปจากนี้
ปัจจัยที่มีผลต่อจุดเดือด ขึ้นกับแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของของเหลว อุณหภูมิ ความดันบรรยากาศ และความดันไอของของเหลว เมื่อความดันบรรยากาศเท่ากับความดันไอของของเหลวจึงเกิดการเดือด ถ้าเปลี่ยนความดันจะทำให้จุดเดือดของของเหลวเปลี่ยนไปด้วย เช่น จุดเดือดของน้ำขึ้นอยู่กับความดันอากาศของสภาพแวดล้อม เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาสูง ความดันอากาศจะลดลง ทำให้จุดเดือดของน้ำลดลงไปด้วย ดังนั้น ถ้าเราต้มไข่ที่ยอดเขาเอเวเรสต์ จะต้องใช้เวลานานกว่าการต้มไข่ที่ความสูงระดับน้ำทะเล เนื่องจากบนยอดเขามีจุดเดือดต่ำกว่าที่ระดับน้ำทะเล
จุดหลอมเหลวเป็นจุดที่สสารเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นของเหลว จุดหลอมเหลวนี้มีค่าเท่ากับจุดเยือกแข็ง เพียงแต่จุดเยือกแข็งใช้เรียกเมื่อสสารเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็ง โดยเมื่อให้ความร้อนแก่ของแข็ง ของแข็งจะมีพลังงานจลน์เพิ่มขึ้น อนุภาคของของแข็งมีการสั่นมากขึ้น กระทั่งอนุภาคมีพลังงานสูงกว่าแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาค จะทำให้ของแข็งเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวได้ ที่อุณหภูมินี้จะเรียกว่า จุดหลอมเหลว ซึ่งยิ่งสสารมีแรงดึงดูดระหว่างอนุภาคมากเท่าใด ก็ยิ่งต้องการพลังงานมากเท่านั้นในการเอาชนะแรงดึงดูดระหว่างอนุภาค และยิ่งต้องการพลังงานมากเท่าใด จุดหลอมเหลวก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งในระหว่างการหลอมเหลว อุณหภูมิของสสารจะคงที่