อีกหนึ่งโจทย์ยากของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในแต่ละครอบครัวนั้นคือ เรื่องของความคิด การกระทำ การแสดงออกซึ่งแตกต่างกันของแต่ละวัย ทำให้เป็นช่องว่างระหว่างวัยของการสื่อสารการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กยุคนี้ ยิ่งครอบครัวใหญ่ ๆ อยู่กันหลายวัยด้วยแล้ว ทำให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองรู้สึกหนักใจกับโจทย์นี้ เพราะมันอาจเป็นต้นเหตุให้อีกหลายโจทย์หลาย ๆ ปัญหากับลูกหลานตามมา
ดังนั้นเรามาดูเทคนิคช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาอื่น ๆ ตามมา
ก่อนอื่นคงต้องเริ่มต้นจากการปรับทัศนคติ ยิ่งหากว่าอยู่รวมกันแบบครอบครัวใหญ่มีญาติพี่น้องหลายคน คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองต้องอยู่ตรงกลางของวัยที่แตกต่างกันมาก ๆ แล้ว ต้องยอมรับและทำความเข้าใจให้ได้ว่า ความคิดของแต่ละคนแต่ละช่วงวัยย่อมต่างกัน ต่างฝ่ายต่างต้องเข้าใจภูมิหลังยุคสมัยของการเลี้ยงดู สภาพสิ่งแวดล้อมในสังคมช่วงสมัยที่ไม่เหมือนกัน ขอให้ตัดอคติเปิดใจให้กว้างยอมรับความแตกต่างมีความยืดหยุ่นให้กัน ไม่คาดหวังโดยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเปรียบเทียบในหลาย ๆ เรื่อง
อย่าเพิ่งคิดว่าเด็ก ๆ ไม่มีสัมมาคารวะไม่มีมรรยาทไม่มีความอดทนไม่ให้เกียรติคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า เพราะแน่นอนเด็กในศตวรรษที่ 21 นั้นสภาพแวดล้อมทำให้เขาคิดถึงความเท่าเทียม ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ว่าไม่ให้เกียรติ พวกเขาเกิดมาในยุคที่ไม่ต้องลำบากมากกับความเป็นอยู่ ไม่ใช่สมัยสงครามโลก แต่เป็นสมัยที่เทคโนโลยีก้าวล้ำ คำว่าอนาคตสำคัญและเร้าใจกว่าคำว่าอดีต พวกเขาอาจขาดการเรียนรู้ความอดทนการต่อสู้ดิ้นรน แต่ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเรียนรู้ฝึกฝน และมันคือสิ่งที่คุณต้องฝึกพวกเขา
ต้องอธิบายให้พวกเด็ก ๆ เข้าใจเช่นกัน อย่าเพิ่งคิดว่าผู้ใหญ่เชยเชื่องช้า ขี้บ่นจำเจซ้ำซากกับกฎระเบียบอันคร่ำครึ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเสมอไป มีผู้ใหญ่อีกหลายคนที่พร้อมเรียนรู้เรื่องราวเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทักษะของโลกใหม่เพียงแต่อาจต้องใช้เวลานานหน่อยแต่ไม่ใช่ไม่เปิดรับ
คาถาสำคัญของการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกับเด็กยุคใหม่นั้น คือการพูดคุย ครอบครัวที่เปิดกว้างมักจะมีการสนทนาสื่อสารสองทางกันอยู่เป็นประจำ มีการรับฟังที่ดี เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น มีการชมเชยชื่นชมแสดงออกซึ่งความรักความห่วงใยสังเกตถามทุกข์สุขอย่างจริงใจ คอยให้กําลังใจกัน ไม่ใช่โลกสวยอยู่ตลอดเวลา ในทุกครอบครัวทุกช่วงวัยย่อมมีเรื่องผิดใจไม่เข้าใจก็ควรจะรีบปรับความเข้าใจไม่เก็บไว้นาน คอยทำลายกำแพงที่เกิดเป็นช่องว่างให้เป็นประจำ และต้องไม่ลืมหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ถ้อยคำก้าวร้าวหยาบคายหรือความรุนแรงเกินเหตุผลจริง
สังคมหน่วยแรกคือ ครอบครัวคือบ้าน ทุกคนที่อยู่รวมกันในบ้านต่างมีความสำคัญเท่ากันไม่ว่าจะวัยใด การเติมเต็มช่องว่างในพื้นที่บ้านจึงไม่ใช่เรื่องยาก แม้ว่าการทำงานนอกบ้านหาเงินเข้าครอบครัว หรือการเรียน การใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนของเด็ก ๆ จะสำคัญมากกว่าเพียงใดก็ตาม ควรจัดสรรแบ่งเวลาให้เหมาะสมให้เกิดความสมดุล ไม่ควรให้ขาดความรักความอบอุ่น แบ่งเวลาถามไถ่ทุกข์สุข มีการสื่อสารต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา การแสดงออกด้วยความรักความห่วงใยและใส่ใจ หมั่นให้กำลังใจกันและกัน อาจค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ เติมหากไม่คุ้นเคย
มีเวลาทำกิจกรรมที่สนใจร่วมกัน ทำกับข้าวกินข้าวให้พร้อมหน้า ดูหนังฟังเพลงเล่นเกม ทำสวนปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย ไปเที่ยวนอกบ้านด้วยกัน พัฒนาสุขภาพกายใจของทุกคนให้ดูแลช่วยเหลือเกื้อกูล แม้เด็กอาจจะเคอะเขินหรือผู้ใหญ่อาจจะเล่นตัว อาจต้องใช้เวลาหากครอบครัวไม่มีพื้นฐานแบบนี้มาก่อน แต่ความสุขความสนุกสนานที่เกิดจากความรักความอบอุ่นความห่วงใยจะทำให้ทุกคนได้ใกล้ชิดจนไม่เหลือช่องว่างระหว่างกัน
เรียนรู้จากผู้สูงวัย หากมีคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย คุณลุงคุณน้า ฯลฯ อยู่ร่วมกับเด็ก ๆ แล้ว คุณสามารถปรับคลื่นหาเวลาให้พวกเขาแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ที่ต่างคนต่างมี มาแบ่งปันเรียนรู้เป็นทักษะใหม่ ๆ เด็ก ๆ อาจชวนผู้ใหญ่ในบ้านมาเล่นเกมสอนวิธีการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ในชณะเดียวกันให้ผู้สูงวัยเล่าถึงเรื่องราวในอดีต ความสำเร็จที่ผ่านมาให้เด็ก ๆ ความสามารถเกิดเป็นความภาคภูมิใจในครอบครัว ไม่ว่าวัยใดไม่มีใครรู้สึกเหมือนโดนทอดทิ้งอยู่บ้านที่ว่างเปล่าแน่นอน
เรียนรู้สิ่งต่างจากเด็ก ๆ กับการทำงานหลายหลากมิติ เรียนไปพร้อม ๆ กับเล่น ความกล้าท้าทาย ความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ การตัดสินใจของเด็กยุคใหม่ ผู้ใหญ่อย่ามุ่งทุ่มเททำแต่งานหาเงินเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจด้านอื่น รับฟังและให้โอกาสเด็กแสดงความคิดของตัวเอง ขณะเดียวกันให้เด็กของพวกคุณเรียนรู้จากประสบการณ์ของญาติวัยต่าง ๆ ในครอบครัว ความสำเร็จการทำงานมาชั่วชีวิตของพวกเขา จากการใช้สูตรดั้งเดิมวิถีแบบเก่า ๆ ให้ได้เรียนรู้ความอุตสาหะความอดทนความลำบากจากพวกผู้ใหญ่ให้เด็ก ๆ มาปรับเพิ่มทักษะสร้างความสมดุลให้กับตัวเอง
ข้อนี้สำคัญมาก ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม คนแต่ละวัยไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่นั้น ควรให้ความเคารพในตัวตน ในความต่างของแต่ละคน แม้เด็กอาจจะคิดว่าทุกชีวิตต้องมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน แต่ในครอบครัวในบ้านในสังคมภายนอกล้วนมีลำดับ ระบบของการอยู่ร่วม ความอาวุโสที่ต้องเคารพและให้เกียรติ แนะนำให้เด็ก ๆ เรียนรู้สิ่งเหล่านี้เพื่อเขาใช้ชีวิตที่สมดุลในวันข้างหน้า สังคมแม้จะเท่าเทียมกันเพียงใด ก็ยังต้องการเห็นคนอ่อนวัยกว่าอ่อนโยน มีคารวะไม่แข่งกร้าว ขณะเดียวกันผู้ใหญ่เองไม่ว่าวัยใดก็ควรยอมรับเด็ก ๆ ไม่เอาลำดับความอาวุโสอยู่เหนือเหตุผลในทุก ๆ เรื่อง
เรียนรู้การปล่อยวางการให้อภัยซึ่งกันและกัน ทุก ๆ คนย่อมเคยทำสิ่งผิดพลาด แต่การยอมรับความผิดเรียนรู้และแก้ไขนั่นคือหัวใจของความผิด ไม่จมปลักกับอดีต ชีวิตต้องก้าวเดินต่อไป ขณะเดียวกันก็ไม่ควรซ้ำเดิมย้ำอดีตที่ผิดพลาดอยู่ตลอดเวลาจนเกิดเป็นความทุกข์ เรื่องเล็กเรื่องน้อยแค่ปล่อยวางและก้าวข้ามให้ผ่านไปเช่นกัน
เมื่อช่องว่างถูกเติมเต็มด้วยความเท่าเทียม ความรัก ความเข้าใจ ให้เกียรติเคารพกันและกัน ผู้ปกครองและเด็ก ๆ พร้อมที่จะเรียนรู้เติบโตไปด้วยกัน แน่นอนพื้นที่ในครอบครัวก็จะไม่มีคำว่าช่องว่าง แต่กลับเต็มไปด้วยความอบอุ่น อันเป็นรากฐานของชีวิตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
แน่นอนคุณจะหมดกังวลกับอนาคต เมื่อลูกหลานของคุณก็จะก้าวเข้าสู่สังคมภายนอกได้อย่างสมดุลไม่มีปัญหาเรื่องช่องว่างกับใคร ๆ เลย หรือถ้ามีคุณก็มั่นใจได้ว่าเขาต้องมีเทคนิคการปรับตัวให้เข้ากับคนอื่น ๆ ได้ เหมือนอย่างที่คุณทำมาแล้วนั่นเอง
อังสนา ทรัพย์สิน
ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก http://www.youthradioandmedia.org, http://www.oecd.org, https://www.familylives.org.uk, https://www.amarinbabyandkids.com, https://pantip.com/forum/family